“ชุดนักเรียน” ลดความ “เหลื่อมล้ำ” หรือยิ่ง “ซ้ำเติม” ฐานะในสังคม!
"ใส่เครื่องแบบนักเรียนนี่ดีนะ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ จะยากดีมีจนแค่ไหน แต่พอใส่ชุดนักเรียนก็เหมือนกันหมด"
คุณเห็นด้วยกับคำกล่าวข้างต้นนี้ไหมครับ? ชุดนักเรียนลดความเหลื่อมล้ำจริงเหรอครับ?
ต้องยอมรับนะครับว่าไม่กี่ปีหลังมานี้ หลังจากที่แนวคิดเรื่องเสรีภาพเป็นที่นิยมในสังคมไทยมากขึ้น ก็จะมีผู้ยกประเด็นเรื่องการการสวมเครื่องแบบของนักเรียนนักศึกษามาพูดถึงมากขึ้น พร้อมทั้งวิพากษ์ในเชิงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องบังคับให้สวมเครื่องแบบหรือไม่
แน่นอนว่าเมื่อมีการยกประเด็นโต้แย้งเช่นนี้ ก็ย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ฝ่ายหนึ่งมั่นคงหนักแน่นว่า "ชุดนักเรียนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ" พร้อมกับยกเหตุผลมาว่า แต่ละครอบครัวมีฐานะไม่เท่ากัน แต่เมื่อสวมชุดนักเรียนเหมือน ๆ กัน ก็จะทำให้ดูเท่าเทียมกัน คนรวยก็เป็นเพื่อนกับคนจน คนจนก็เป็นเพื่อนกับคนจนกว่าได้ ไม่ต้องมาเคลือบแคลงใจในฐานะ เพราะทุกคนล้วนสวมชุดนักเรียนเหมือนกัน
"เหรอ?" "คิดแบบนี้จริงเหรอ?"
เวลาเด็กนักเรียนไปโรงเรียนนี่ติดตัวไปแค่ชุดนักเรียนเหรอ กระเป๋า แว่นตา นาฬิกา ปากกา ผ้าเช็ดหน้า เด็กมันไม่เอาไปโรงเรียนกันเหรอ? แต่ละครอบครัวฐานะต่างกัน พวกของต่าง ๆ ที่ว่ามานี่มันก็แสดงฐานะได้ทั้งนั้นครับ ไม่ได้มีแต่เสื้อผ้า ขนาดว่ากล่องดินสอยังแสดงฐานะ แสดงความเหลื่อมล้ำทางสังคมกันได้เลย ตอนเด็ก ๆ ไม่เคยเป็นเหรอครับ เวลาพ่อแม่ซื้อกล่องดินสอสวย ๆ เท่ ๆ มาให้นี่มันเท่ชะมัด พร้อมจะเอาไปอวดเพื่อนที่โรงเรียน เวลาของเพื่อนดูดีกว่า ดูแพงกว่า แปลงร่างได้เท่กว่า เราก็อิจฉาอยู่ลึก ๆ เหมือนกัน
ไม่ดีกว่าเหรอครับ ถ้าจะสอนให้เด็กไทยรู้จัก เข้าใจ และยอมรับ "ความแตกต่าง"
"ความแตกต่าง" ไม่ว่าด้านใด มันคือสิ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชาติกำเนิด สีผิว เพศ ศาสนา ฐานะ ฯลฯ ต่อให้พยายามเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ให้ทำอะไรเหมือน ๆ กัน แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเดิม ต่อให้ชุดนักเรียนเหมือนกัน แต่เมื่อฐานะต่างกัน ยังไงก็ต้องมีช่องทางอื่นให้แสดงออกอยู่ดีว่าต่างกัน แสดงว่าชุดนักเรียนนักศึกษาไม่ได้ลดหรือปกปิดความความแตกต่างทางฐานะได้เลย
ในทางกลับกัน ชุดนักเรียนที่ต่างกันของแต่ละสถาบันก็ทำให้แตกต่างกันอยู่ดี ชุดนักเรียนโรงเรียนเอกชนบางโรงเรียน กางเกงน้ำเงิน กางเกงดำ เทียบกับกางเกงของโรงเรียนรัฐบาลบางโรงเรียนที่เป็นสีกากี ก็เห็น ๆ กันอยู่ว่าในความรู้สึกของคนบางคนคิดเห็นเช่นไร หรือต่อให้ทุกโรงเรียนในประเทศนี้ใส่เครื่องแบบเหมือนกันหมด เสื้อแบบเดียวกัน กางเกงแบบเดียวกัน แต่คนที่มีฐานะดีกว่าก็อาจจะมีเครื่องแบบที่สภาพดี ใหม่เอี่ยมกว่า ในขณะที่นักเรียนบางคนที่ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี ก็อาจจะต้องใส่ชุดนักเรียนเก่า ๆ ขาด ๆ อย่างที่เราเห็นกันว่าหลายครอบครัวที่มีลูกหลายคน พี่ต้องส่งต่อชุดนักเรียนให้น้องกันเป็นทอด ๆ
ทีนี้ฝ่ายที่ยังยืนยันว่าชุดนักเรียนลดความเหลื่อมล้ำ ก็จะบอกว่า "แต่ถ้าให้สวมชุดอะไรก็ได้ไปโรงเรียน ก็แสดงให้เห็นความแตกต่างทางฐานะ เห็นความเหลื่อมล้ำอยู่ดี"
อ้าว! ก็ใช่ไงครับ ไม่ว่าจะใส่ชุดอะไร ชุดลำลอง หรือชุดนักเรียน ทั้งหมดล้วนสร้างความเหลื่อมล้ำและย้ำให้เห็นความแตกต่างทางฐานะทั้งนั้น ผมเลยไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ถ้าจะบอกว่าใส่ชุดนักเรียนแล้วช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
แต่… แต่ถ้าจะให้นักเรียนใส่ชุดลำลองไปโรงเรียน เราก็ต้องมีกระบวนการให้ความรู้ด้วยว่านักเรียนควรเลือกชุดอย่างไรจึงจะเหมาะสมตามกาลเทศะ ไม่ใช่ปล่อยให้นักเรียนแต่ง "อะไรก็ได้" เพราะแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน ผู้ปกครองแต่ละบ้านก็มีทักษะการเลี้ยงลูกดูลูกหรือมีเวลาอยู่กับลูกไม่เท่ากัน เราไม่รู้เลยว่าผู้ปกครองแต่ละครอบครัวมีเวลาอยู่กับลูกมากแค่ไหน ถ้าครอบครัวไหนมีคุณภาพก็แล้วไป…
นี่แหละครับ ไม่ว่าจะแต่งกายอย่างไร ก็ไม่สามารถจะลดหรือลบความเหลื่อมล้ำได้เลย เราจึงควรมาปลูกฝังให้เด็ก (และผู้ใหญ่) ยอมรับความแตกต่างของกันและกัน ไม่ตัดสินหรือตีตราคนตามระดับฐานะ เพียงเท่านี้ คนไทยก็จะได้รู้จักมองคนที่เนื้อแท้ มากกว่าประเมินค่าจากเครื่องแต่งกายภายนอก
N1N3 บ้าไปใหญ่ละ
ชุดนักเรียน เพื่อเป็นแนวเดียวกัน จะได้ไม่เหลื่อมล้ำ
ทุกคนใส่เหมือนกัน คนดี คนเลว คนเกเร คนรวย คนจน ใส่เหมือนกัน และเป็นระเบียบ
.
ถ้าไม่ใส่ชุดนักเรียน คนจนก็เสื้อผ้าเก่าๆ เสื้แงอผ้าทั่วไป
รวยหน่อยก็ใส่แบรนด์เนมมา เศรษฐีก็อย่างที่รู้
กูถามหน่อย ถ้าแบบนี้ เหลื่อมล้ำมั้ย ซ้ำเติมมั้ย มึงคิดว่าคนจนๆ เขาจะรู้สึกยังไง
15 ส.ค. 2561 เวลา 05.21 น.
เราไม่ได้คิดเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่คิดว่า ชุดนักเรียนช่วยป้องกันการไม่ไปโรงเรียนได้มาก (ขนาดใส่ชุดนักเรียนยังหนีเรียน)
ถ้าใส่ชุดธรรมดา ไปที่ไหนอาจจะไม่รู้
นอกจากนี้ การใส่เครื่องแบบ ดูมีระเบียบและเป็นหนึ่งเดียว
ถ้าเด็กมีความรับผิดชอบเรื่องเรียน การแต่งกายที่สุภาพไปเรียน! อาจจะช่วยประหยัดค่าเครื่องแบบ หรือ สิ้นเปลืองเวลาและเงินทองในการแต่งตัวมากขึ้นก็เป็นได้
15 ส.ค. 2561 เวลา 05.39 น.
Teaklay บทความงี่เง่าแห่งปี
15 ส.ค. 2561 เวลา 06.38 น.
อ้น 365 คิดมาก คนเราอยู่ที่ความดี ปล่อยวาง ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน สื่อแหละตัวดี ชอบเอาบทความอิจฉาริษยา ไม่คิดซะอย่างจะเป็นไร
15 ส.ค. 2561 เวลา 04.45 น.
Kurt-Jib Lee ตามบทความนี้เป็นหลัก
- การเข้าใจและยอมรับความแตกต่างเป็นสิ่งที่ยากเกินไปกับประเทศไทยในขณะนี้ ในเมื่อประชาชนไทย(20+) ยังยอมรับไม่ได้ แล้วจะสอนเด็กอย่างไร?
- แค่โรงเรียนจัดงานวันแม่ ก็หาคนที่คิดจะสอนให้เด็กเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างไม่ได้เลย ซึ่งการสอนนี้มันอาจจะเป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำเพราะขาดแนวทางปฏิบัติก็ตาม แต่มีจำนวนมากจะให้ยกเลิกจัดงาน
- ประเด็นเรื่องการเข้าใจและยอมรับความแตกต่างสำหรับประเทศไทยมันจะเป็นไปได้รึ? แล้วมีแนวทางการสอนแล้วรึ?
แล้วประชาชนไทยได้เคยปฏิบัติให้เด็กดูรึยัง
15 ส.ค. 2561 เวลา 04.52 น.
ดูทั้งหมด