ผู้เลี้ยงหมู 4 ภาคไล่บี้ขบวนการ “หมูเถื่อน” พร้อมขอความร่วมมือ “ยักษ์โมเดิร์นเทรด” หยุดขายหมูราคาถูก จี้ขอเปิดรายชื่อซัพพลายเออร์ส่งหมูเข้าห้างให้กรมปศุสัตว์ตรวจเส้นทางหมู เหตุพบพิรุธทำไมโรงตัดแต่งชิ้นส่วนหมูถึงขายหมูชำแหละเข้าห้างในราคาถูก ส่งผลโมเดิร์นเทรดยอมปรับขึ้นราคาจำหน่ายหมูรวดเดียว 14 บาท/กก.
นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั้ง 4 ภาค ได้กระจายกันเข้าไปหารือกับผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ อาทิ แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี ที่อยู่ในแต่ละภาค หลังเกิดข้อกังวลว่า จะมี “หมูเถื่อน” สวมใบอนุญาตเข้ามาในระบบจัดจำหน่ายหมูของห้างที่รับหมูเข้ามาในปริมาณมาก ๆ โดยที่ห้างอาจจะไม่รู้ เพราะผู้ค้าโชว์ใบอนุญาตถูกต้อง
โดยสมาคมได้ขอความร่วมมือทุกห้างโมเดิร์นเทรดด้วยการ 1) ขอให้เปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาในการรับซื้อเนื้อสุกรและชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เข้ามาขายภายในห้าง กับ 2) ขอความร่วมมือไม่ให้นำเนื้อสุกรมาจัดโปรโมชั่นขายในราคา “ที่ถูกมาก” เพื่อเป็นแรงจูงใจในการดึงลูกค้าเข้าห้าง ปรากฏสมาคมได้รับความร่วมมือที่ดี แต่ละห้างมีการปรับราคาหมูขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไม่ให้ถูก “กดราคา” เมื่อเทียบราคาหมูกับห้าง
“จากข้อมูลที่เราทราบมาพบว่า หมูเถื่อนจะขายในวอลุ่มใหญ่ ๆ มีขายในตลาดสดค่อนข้างน้อย และไม่ขายรายย่อย แต่จะส่งเข้าร้านหมูกระทะ กับแหล่งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์หมูขนาดใหญ่ เช่น ไส้กรอก หมูแฮม รวมถึงการส่งขายตามโมเดิร์นเทรดปะปนกับหมูที่โมเดิร์นเทรดรับมาจากบริษัทแม่ ยกตัวอย่าง โมเดิร์นเทรดสาขาหนึ่งบอกว่า รับหมูชำแหละมาจาก 3 แหล่งคือ หมูจากฟาร์มเครือข่ายครบวงจรของบริษัทแม่เอง การรับหมูมาจากคลังกลางในจังหวัด และรับซื้อหมูมาจากโรงตัดแต่งชิ้นส่วนหมู ซึ่งไปรับหมูจากโรงเชือดแล้วมาตัดแต่งขายอีกทีหนึ่ง
โดยเราขอให้ปศุสัตว์จังหวัดเข้าไปตรวจสอบใบอนุญาตของโรงตัดแต่งชิ้นส่วนหมูว่า ได้หมูมาจากไหน เพราะโรงตัดแต่งสามารถขายหมูให้โมเดิร์นเทรดในราคาที่ถูกผิดปกติ หรือถูกกว่าราคาหมูชำแหละที่โมเดิร์นเทรดรายนั้นรับจากบริษัทแม่ นี่อาจเป็นต้นเหตุว่า ทำไมโมเดิร์นเทรดสามารถจัดโปรโมชั่นหมูราคาถูกได้” นายนิพัฒน์กล่าว
ล่าสุดโมเดิร์นเทรดหลายรายได้ยอมปรับขึ้นราคาหมูชำแหละแล้ว จากเดือนก่อนหน้านี้ที่จำหน่ายในราคา กก.ละ 108 บาท ได้ปรับขึ้นมาเป็น กก.ละ 122 บาท หรือปรับราคาขึ้นมาทันที กก.ละ 14 บาท ณ ราคาปัจจุบันก็ได้ปรับขึ้นไปอีกเป็น กก.ละ 132 บาท ซึ่งเป็นราคาจำหน่ายปลีกที่ไม่กระทบต่อวงจรการผลิตหมูเป็น
นอกจากนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั้ง 4 ภาคเรื่องการปรับฐานราคาหมูเป็นให้ขยับขึ้นมา 2-4 บาท/กก. ในวันพระช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้เลี้ยงแบกรับภาระขาดทุนลดลง เพราะราคาต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นกิโลกรัมละ 4-5 บาท ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้นตัวละเกือบ 2,000 บาท โดยตอนนี้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม สมาคมประกาศเฉลี่ยแต่ละภาคอยู่ระหว่าง 76-81 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นการปรับขึ้นจากฐานตัววัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ขึ้นไปสูงมาก แต่ราคาซื้อขายหมูมีชีวิตของเกษตรกรจริง ๆ ก็ยัง “ต่ำกว่า” ราคาที่สมาคมประกาศ 70-72 บาท ซึ่งเกษตรกรยังแบกรับขาดทุนอยู่
โดยรายเล็กต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 96 บาท/กก. ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่ที่ทำครบวงจร ราคาต้นทุนอยู่ที่ 80-85 บาท/กก. ส่วนการปรับราคาหมูเป็นของผู้เลี้ยงคงขึ้นไม่ได้มาก เพราะราคาขายปลีกเนื้อแดงปลายทางคูณ 2 ตอนนี้ราคาหมูไทยประมาณ 140-160 บาท หากราคาหมูปรับขึ้นไปสูงมากกว่านี้ ผู้บริโภคก็จะเลี่ยงไปบริโภคโปรตีนชนิดอื่นแทน
“หลังจากที่เรารวมตัวกันไปประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ภาครัฐเอาจริงเอาจังกับขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนและไล่บี้ไปที่กรมศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบังแล้ว ประจวบเหมาะกับประเทศนำเข้าหมูเถื่อนต้นทาง เช่น บราซิลเองมีปัญหาเรื่องโรคระบาด PRRS และโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ทำให้ปริมาณหมูในบราซิลลดลงมาก และมีต้นทุนการบริหารจัดการเรื่องโรคระบาดที่สูงขึ้น
ทำให้การส่งออกหมูมาประเทศไทยไม่ได้ “ส่วนต่างกำไรมากนัก” เพราะราคาหมูในประเทศไทยก็ปรับตัวลดลง เนื่องจากประเทศไทยเองเริ่มมีการลงเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น วันนี้มีแม่พันธุ์ประมาณ 800,000-900,000 แม่ก็ยังไม่เต็มตามจำนวนแม่พันธุ์หมูช่วงก่อนเจอโรค ASF จากในอดีตที่ประเทศไทยเคยมีแม่พันธุ์หมูถึง 1.2 ล้านแม่
จากปัจจัยทั้งหมดทำให้หมูเถื่อนในระบบลดน้อยลง ประกอบกับปัจจัยภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศไทยเองปรับตัวดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้เลี้ยงจะปรับราคาหมูขึ้นได้บ้าง คนเลี้ยงไม่ได้หวังรอรัฐบาลมาช่วย แต่อย่ามาเบรกการปรับขึ้นราคาหมูแล้วกัน” เพราะ “คนเลี้ยงหมูขาดทุนมานาน” นายนิพัฒน์กล่าว
เชียงใหม่คุมเข้มผู้ค้า 3,000 ราย
ด้านปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายสัตวแพทย์อนุสรณ์ หอมขจร เปิดแถลงข่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้มีนโยบายเฝ้าระวัง ป้องกัน และปราบปรามการลักลอบนำสินค้าปศุสัตว์อย่างเข้มข้น โดยปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับหลายภาคส่วนดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการประเภทห้องเย็น ร้านค้าเนื้อสุกรและร้านหมูกระทะ/ปิ้งย่าง/ชาบู โดยเน้นการตรวจสอบใบอนุญาต ปริมาณเนื้อสุกรที่ครอบครอง แหล่งที่มาของเนื้อสุกร เอกสารการเคลื่อนย้าย ปริมาณที่เข้า-ออก ราคาขาย และทำการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อโรคระบาดสัตว์
“ในจังหวัดเชียงใหม่มีผู้ประกอบการค้าสัตว์/ซากสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนในระบบของกรมปศุสัตว์ จำนวน 3,279 ราย โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบการกระทำความผิดแจ้งความดำเนินคดีแล้วจำนวน 1 ราย กรณีไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ ส่วนผู้ประกอบการห้องเย็นมีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง ณ ปัจจุบันจำนวน 35 ราย แต่ยังมีผู้ประกอบการห้องเย็นที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนหรือห้องเย็นเถื่อนที่คาดว่ามีจำนวนมาก
ซึ่งในส่วนนี้ได้จัดชุดเฉพาะกิจสืบหาข่าว และสารวัตรปศุสัตว์ไซเบอร์คอยติดตามตรวจสอบแอปพลิเคชั่นที่มีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากเชียงใหม่ถือเป็นพื้นที่ปลายทางของการนำเข้า โดยจุดตรวจหลักในเขตภาคเหนือ ก่อนเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่มี 2 ด่านคือ จุดตรวจด่านแม่พริก รอยต่อระหว่างจังหวัดตาก-ลำปาง กับจุดตรวจอุตรดิตถ์ ทางหลวงหมายเลข 11 รอยต่อจังหวัดแพร่-เด่นชัย” นายสัตวแพทย์อนุสรณ์กล่าว
ทั้งนี้ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ราว 5,000 ตันต่อเดือน ขณะที่กำลังการผลิตเนื้อสุกรในจังหวัดอยู่ที่ราว 7,700 ตันต่อเดือน จากจำนวนประชากรประมาณ 1 ล้านคน แต่ต้องส่งออกเนื้อสุกรบางส่วนไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา กำแพงเพชร ทำให้ต้องนำเข้าเนื้อสุกรมาอีกราว 2,000 ตันต่อเดือนจาก 3 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี, ราชบุรี และนครปฐม
ภาคใต้เฝ้าระวังหมูเถื่อนในห้าง
แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า สมาคมได้ออกสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ตของห้างสรรพสินค้าและห้องเย็นในจังหวัดต่าง ๆ ปรากฏว่า ในพื้นที่ จ.พัทลุง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเลี้ยงสุกรอันดับต้น ๆ ของภาคใต้ และเลี้ยงเป็นอันดับ 4 ของประเทศ พบว่าราคาเนื้อหมูได้ปรับตัวลดลง เช่น ห้างและซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งราคาอยู่ที่ 130-140 บาท/กก. โดยราคาได้ลดลงมาแล้วเมื่อเทียบกับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มเท่ากับราคาสุกรมีชีวิตประมาณ 60 บาท/กก. ซึ่งเป็นเนื้อหมูที่นำเข้ามาจากจังหวัดภาคกลาง เช่น จ.นครปฐม
ขณะที่สุกรมีชีวิตของเกษตรกรภาคใต้มีการซื้อขายที่หน้าฟาร์ม ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 71 บาท/กก. ส่วนราคาหน้าเขียงเนื้อหมูบางตลาด 140-160 บาท/กก. ส่วนต้นทุนการผลิตสุกรยังอยู่ที่ระดับ 90 บาท/กก. เพราะราคาอาหารสัตว์โดยเฉพาะปลายข้าวกับรำข้าวยังมีราคาสูงมาก