FLYING SPARK บริษัทฟู้ดเทคชั้นนำจากอิสราเอล ปักหมุดตั้งโรงงานสร้าง “นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต” สกัดโปรตีนแมลงวันผลไม้แห่งแรกในโลกที่จังหวัดเพชรบุรี โดยหวังสร้างไทยเป็น “ฮับอาหารโปรตีนทางเลือก”ของโลก
“โปรตีนทางเลือก” (Alternative Protein) กำลังเป็นกระแสอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพมาก คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลก หันมานิยมทดแทนเนื้อสัตว์ที่มีระบบการผลิตแบบฟาร์มปศุสัตว์แบบดั้งเดิมที่ใช้ทรัพยากรมากกว่า
ขณะที่ผลตอบแทนด้านโปรตีนไม่แตกต่างกัน แต่โปรตีนจากแมลงมีความหลากหลายของวิตามินมากกว่า โดยที่ผ่านมา “โปรตีนทางเลือก”จากแมลง ในประเทศไทย ถือเป็นวัฒนธรรมทางอาหาร เช่น การบริโภค แมลง ตั๊กแตน จิ้งหรีด หรือ หนอนไม้ไผ่ หรือ หนอน รถด่วน มาเป็นอาหาร แต่ยังขาดเทคโนโลยี และการพัฒนาไปสู่รูปแบบอุตสาหกรรมอาหาร แบบฟู้ดเทคที่ส่งขายทั่วโลกได้
ด้วยภูมิศาสตร์ของประเทศ และวัฒนธรรมการเปิดรับอาหารทางเลือกของไทย ทำให้ FLYING SPARK (ฟลายอิ้ง สปาร์ค) บริษัทฟู้ดเทคชั้นนำที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศอิสราเอล เลือกปักหมุดตั้งโรงงานในประเทศไทยเพื่อผลิตโปรตีนทางเลือกแห่งแรกของโลก
เพื่อสร้าง “นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตที่ยั่งยืน” สำหรับมนุษย์และสัตว์ จากโปรตีนของตัวอ่อนแมลงวันทองผลไม้ (FRUIT FLY LARVAE) หรือ แมลงวันมะม่วง ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการระดับสูง ด้วยการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในการผลิต โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฮับของโปรตีนทางเลือกของโลก
โดยในวันวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา บริษัท ฟลายอิ้ง สปาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดโรงงานอย่างเป็นทางการ พร้อมนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงงานและกระบวนการผลิต โดยมีนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัท นางออร์นา ซากิฟ (Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ตัวแทนจากหอการค้าไทยและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานรัฐบาล เข้าร่วมพิธีเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการ
นายอีราน โกรนิช ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟลายอิ้ง สปาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตัดสินใจเลือกพื้นที่สร้างโรงงานในไทยเพราะมีความพร้อมที่สุดทั้งในเรื่องของอุณหภูมิที่เหมาะสมในการผลิตโปรตีนจากแมลง และมี Ecosystem ที่ดีในการทำธุรกิจ เพราะมีวัฒนธรรมที่เปิดรับการบริโภคอาหารที่หลากหลาย จึงคิดว่าในอนาคตประเทศไทยสามารถเป็นฮับการผลิตโปรตีนทางเลือกได้
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าโปรตีนทางเลือกเป็นอาหารของอนาคตที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกได้จึงตัดสินใจร่วมกับทุน กับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ลงทุนสร้างโรงงานผลิตโปรตีนทางเลือกจากแมลงวันผลไม้แห่งแรกของโลกในประเทศไทย มีทุนจดทะเบียนบริษัทฯ 50 ล้านบาท โดยขณะนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างโรงงานไปแล้วกว่า 150 ล้านบาท
สำหรับโรงงานโปรตีนทางเลือกตั้ง บนพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร ที่อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี โดยฟลายอิ้ง สปาร์คใช้ระบบการเลี้ยงตัวอ่อนแบบปิดทั้งระบบ และใช้เทคโนโลยี EntoFarm ที่ช่วยประหยัดน้ำและพื้นที่มากถึง 99% เมื่อเทียบกับปศุสัตว์ดั้งเดิม และลดการปล่อยก๊าซมีเทนและของเสียจากฟาร์มได้
ระบบการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนแมลงวันผลไม้มีวงจรการเลี้ยงแมลงวันนับจากวันแรกที่เป็นไข่ไปจนเป็นตัวหนอนในวันที่ 5 จะสามารถนำไปสกัดโปรตีนผง หรือน้ำมันเพื่อไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้
อย่างไรก็ตามหลังจาก 5 วันที่แมลงวันได้เป็นตัวหนอน บริษัทฯที่จะแบ่งตัวหนอนบางส่วนให้โตเป็นแม่พันธ์ โดยจะปล่อยให้โตเต็มวัยจนสามารถกลับมาผลิตไข่ได้ใหม่ภายใน 21 วัน เป็นวงจรการผลิตในแต่ละรอบ
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตตัวอ่อนแมลงวันผลไม้อยู่ที่ 120 กิโลกรัมต่อวัน และคาดว่าจะสามารถผลิตโปรตีนได้มากเทียบเท่าเนื้อวัว 300-400 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ขณะที่กำลังการผลิตสูงสุดของโรงงานอยู่ที่ 100 ตัน ภายในปี 2566 โดยตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ตัน ภายในปี 2567 และขึ้นเป็น 10,000 ตัน ในปี 2570
ส่วนการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จากโปรตีนทางเลือก ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.โปรตีน พรีเมียมสำหรับสัตว์เลี้ยง 2. ผงโปรตีนจากแมลงสำหรับสัตว์น้ำ 3.โปรตีนแบบน้ำมันจากแมลง เพื่อป้อนอุตสาหกรรมความงาม และเครื่องสำอาง
ทั้งนี้เบื้องต้นของผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก บริษัทเน้นการผลิตเพื่อส่งขายในไปที่ตลาดเอเชีย-แปซิฟิก โดยจะสามารถเริ่มส่งผลิตภัณฑ์ได้ในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งพรีเมียมโปรตีนจะมีราคาอยู่ 10 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ส่วนโปรตีนผงของสัตว์น้ำมีราคาอยู่ที่ไม่ถึง 1 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม
นายอีราน ตั้งเป้าเรื่องรายได้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ในช่วงแรกการผลิตเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ จะทำรายได้ 125 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนระยะถัดไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 250 ล้านเหรียญต่อปี
“เราพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติภารกิจ โดยเปิดตัวโรงงานแห่งแรกในประเทศไทย ที่จังหวัดเพชรบุรี โรงงานแห่งนี้จะผลิตโปรตีนที่มีความยั่งยืนสูงสุดให้แก่อุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และสัตว์น้ำ” นายอีราน กล่าว ส่วนการผลิตโปรตีนทางเลือกสำหรับมนุษย์ บริษัทฯวางแผนจะดำเนินการในอนาคต เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่าอาหารสัตว์
นายอีราน เชื่อว่า ในอนาคต โปรตีนทางเลือกจะเข้ามาช่วยทดแทนโปรตีนจากสัตว์ซึ่งมีระบบการผลิตแบบฟาร์มที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากและสร้างปัญหากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้ว่าจะไม่สามารถเข้ามาทดแทนได้ทั้งหมดแต่จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้
บริษัท FLYING SPARK (ฟลายอิ้ง สปาร์ค) ในประเทศอิสราเอล ได้ก่อตั้งในปี 2015 ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารมาหลายปี ผ่านการลงทุนรวม 14 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 482,440,000 ล้านบาทจนสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอิสราเอลได้
ทั้งนี้ FLYING SPARK ได้ร่วมลงทุนกับ บมจ.ไทยยูเนี่ยน (TU) ลงทุนในสัดส่วน 8% และยังมีผู้ลงทุนเชิงกลยุทธ์อื่นๆ อีกหลายราย อาทิ สเตราส์ กรุ๊ป (Strauss Group) หนึ่งในผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของอิสราเอล และบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง ซูมิโตโม เคมิคอล (Sumitomo Chemical)