ทั่วไป

นึกว่าของจริง!! โซเชียลชื่นชม “ภาพวาดกระดูกอาจารย์ใหญ่” ฝีมือเด็กวิทย์ หัวใจศิลป์ นศ.เวชนิทัศน์ มข.

สยามรัฐ
อัพเดต 22 ก.ย 2566 เวลา 08.19 น. • เผยแพร่ 22 ก.ย 2566 เวลา 08.19 น.

กลายเป็นไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อเฟซบุ๊ก “ชมนาด อุปชิตกุล” โพสต์ภาพ “ผลงานภาพวาดกระดูกอาจารย์ใหญ่ด้วยเทคนิคสีน้ำ” ของนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เหมือนจริงราวกับภาพถ่ายจนชาวโซเชียลต่างเข้ามาคอมเมนต์และแชร์โพสต์ชื่มชนเป็นจำนวนมาก

อ.ดร.ชมนาด อุปชิตกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ผลงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาจิตรกรรมขั้นสูงสำหรับเวชนิทัศน์ ซึ่งอยู่ในสาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ “แม้จะอยู่ ในสังกัดคณะแพทย์ฯ แต่นักศึกษาสาขานี้ไม่ใช่หมอ” ซึ่งสาขาเวชทัศน์ คือ การเรียนการสอนเพื่อสร้างสื่อทางการแพทย์ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ หุ่นจำลอง วิดีโอ ภาพถ่ายเพื่อเป็นสื่อการศึกษาทางการแพทย์ หรือแม้แต่แอปพลิเคชันเพื่อช่วยสื่อสารให้คุณหมอ นักศึกษาแพทย์ และคนไข้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เวชนิทัศน์” เป็นการเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต 4 ปีจบ ที่นักศึกษาจะได้เรียนทั้งวิชาด้านการแพทย์ เช่น อาการทางคลินิก วิชาปรสิตวิทยา วิชาพยาธิวิทยา หรือ Gross Anatomy จากอาจารย์หมอควบคู่กับการเรียนรู้เทคนิคด้านการสร้างสื่อเทคโนโลยีและศิลปะ เราอาจนิยามได้ว่านักศึกษาเราคือ เด็กวิทย์ หัวใจศิลป์”

อย่างไรก็ตาม การวาดภาพทางการแพทย์นั้น ต้องใช้เทคนิคที่แตกต่างจากการวาดภาพธรรมดา เพื่อให้เห็นภาพความเป็นจริง ใส่รายละเอียด สัดส่วนที่แม่นยำ ถูกต้อง เพื่อให้ใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการได้ ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญหรือคุณหมอ ไม่ใช่เพื่อความสมจริงและสวยงามเท่านั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ด้วยความตั้งใจที่อยากให้นักศึกษามีกำลังใจในการเรียนและเป็นเหมือนบอร์ดเก็บผลงานลูกศิษย์ ดร.ชมนาด จึงตัดสินใจโพสต์ภาพวาดบนโซเชียล แต่ผลตอบรับที่ได้กลับมานั้นเกินความคาดหมาย เพราะยอดไลก์ ยอดแชร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอาจารย์หมอ หรืออาจารย์คณะอื่น ๆ ก็ติดต่อเข้ามาว่าสนใจให้นักศึกษาไปช่วยวาดภาพวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนด้วย

ด้านนายนนทกรณ์ จันทร์หวาน (ภีม) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ระบุว่า หลังจากเห็นฟีดแบ็กบนโซเชียลก็รู้สึกดีใจที่มีคนชื่นชอบผลงานภาพวาดครั้งนี้ เพราะเป็นการวาดภาพกระดูกอาจารย์ใหญ่ของจริงครั้งแรก และเป็นภาพวาดที่ใช้เทคนิคสีน้ำขั้นสูงครั้งแรก ก่อนจะวาดก็มีการวัดสัดส่วนกระดูก ดูมุมแสงและเงา เก็บรายละเอียดต่าง ๆ จนมั่นใจว่าเหมือนจริงและถูกต้องทุกรายละเอียด จึงรังสรรค์มาเป็นผลงานกระดูกแขน และมือ

“ผมเลือกวาดกระดูกส่วนแขนและมือเพราะเป็นส่วนที่มีรายละเอียดเยอะ ใช้เวลาวาดประมาณ 3-5 ชั่วโมง ผลงานก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจ และหวังว่าภาพวาดนี้จะถูกนำไปเป็นสื่อการเรียนการสอน หรือสื่อการศึกษาทางการแพทย์ในอนาคต”

แม้จะไม่เคยรู้จักสาขาวิชาเวชนิทัศน์มาก่อน แต่นนทกรณ์ก็เลือกที่จะลองเข้ามาเรียนรู้เพราะสนใจในหลักสูตรที่บูรณาการทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะไว้ด้วยกัน โดยหวังว่าการผลิตสื่อทางการแพทย์ของตัวเองจะไม่ใช่เพียงสื่อที่ให้แพทย์ได้ศึกษาเท่านั้น แต่จะเป็นตัวกลางระหว่างหมอกับคนไข้ให้สื่อสารเรื่องยากได้เข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อที่สาขาวิชาเวชนิทัศน์ ดร.ชมนาด ย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องวาดภาพเก่ง หรือถนัดทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์ แต่ขอให้เป็นคนที่ชื่นชอบการเรียนรู้ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง เพราะตั้งแต่ปี 1-2 นักศึกษาจะได้เรียนรู้การสื่อสารสำหรับเวชนิทัศน์ ฝึกฝนการ Drawing พื้นฐานศิลปะ กราฟิก และการปั้น

กระทั่งขึ้นปี 3 จะเริ่มเรียนรู้วิชาหุ่นจำลองทางการแพทย์ ฝึกฝนการทำ Motion Graphic, Coding การวาดการ์ตูนสำหรับเวชนิทัศน์ ไปจนถึงถ่ายภาพทางการแพทย์ เป็นการสร้าง Multi skill ก่อนจะให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้เรียนรู้วิชานิทรรศการ สร้างโปรเจ็กต์สื่อทางการแพทย์จากสิ่งที่แต่ละคนชื่นชอบและสนใจซึ่งอาจจะร่วมมือกับอาจารย์หรือนักศึกษาคณะอื่น ๆ เพื่อบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้บริบทการทำงานของนักเวชนิทัศน์ในโรงพยาบาล และการสร้างสื่อการเรียนการสอนในสายการศึกษาด้วย

“มีนักเรียนสมัครเข้ามามากขึ้น เพราะเราพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริง เมื่อแต่ละคนไปฝึกสหกิจก็ทำให้สถานประกอบการสนใจและให้ทำงานต่อทันทีกว่า 30% ทั้งในไทยและประเทศอาเซียน ซึ่งพบว่าหลังจากจบการศึกษามีภาวะว่างงานน้อยในสายงานการตลาดที่หลากหลาย ใครที่สนใจเรียนก็ติดตามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊ก สาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น”

ดูข่าวต้นฉบับ