ไอที ธุรกิจ

ยื่น “ลดหย่อนบุตร”…แบบมือโปร !!!

Wealthy Thai
อัพเดต 13 พ.ค. เวลา 14.11 น. • เผยแพร่ 13 ส.ค. 2564 เวลา 13.06 น. • ชัชฎา สิงห์ชูวงศ์

ค่าลดหย่อนเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดภาระภาษีที่ภาครัฐกำหนดให้เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อีกหนึ่งค่าลดหย่อนที่ผู้เสียภาษีในฐานะบุพการีเลี้ยงดูบุตรมีนั้น คือ
ค่าลดหย่อนบุตร” ซึ่งมีวงเงินลดหย่อนหลักอยู่ที่ 30,000 บาทต่อปีภาษี โดยมีหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษีอ้างอิงประมวลรัษฎากร มาตรา 47(1), พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 ดังนี้

1.เงื่อนไขของบุตรผู้นำมาลดภาษี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือ คู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

  • เป็นผู้เยาว์ หรือหมายถึง อายุไม่ถึง 20 ปี ตามเงื่อนไขการบรรลุนิติภาวะมาตรา 20 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือยังไม่บรรลุด้วยการสมรสนั่นเอง หรือ หากมีอายุเกิน 20 ปีแล้ว แต่ยังไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ชั้นอุดมศึกษา หรือเป็นบุตรที่ศาลสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือ เสมือนไร้ความสามารถ และ

  • ไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่หักลดหย่อนถึง 30,000 บาท ทั้งนี้ไม่รวมเงินได้ยกเว้นตามกฎหมาย

  • อยู่ในการอุปการะของเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ ด้วยการเลี้ยงดูหรือการเงิน

2.จำนวนเงินที่มีสิทธิลดหย่อน

  • บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือ บุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยา ของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท

  • กรณีบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท

3.จำนวนบุตรที่มีสิทธิหักลดหย่อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • ในกรณีที่มีบุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดหักลดหย่อนก่อน แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหักลดหย่อน

  • หากมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่เกินกว่า 3 คนแล้ว จะไม่สามารถนำบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนได้อีก ดังนั้นการนำบุตรบุญธรรมมาลดหย่อนจะสามารถใช้สิทธิได้เฉพาะกรณีที่บุตรชอบด้วยกฎหมายที่มี ชีวิตอยู่มีจำนวนไม่ถึง 3 คนนั่นเอง

  • การนับจำนวนบุตร นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุมากไปน้อย และนับรวมบุตรที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ลดหย่อนด้วย เช่น บุตรที่บรรลุนิติภาวะไปแล้ว

4.การหักลดหย่อนบุตร สามารถหักลดหย่อนได้ตลอดปีภาษีไม่ว่าการดำรงอยู่ของบุตรจะอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ก็ตาม เช่น บุตรบรรลุนิติภาวะระหว่างปี ในปีนั้นพ่อแม่ก็ยังสามารถนำบุตรมาลดหย่อนได้เป็นปีสุดท้าย เป็นต้น
5.กรณีผู้มีเงินได้ไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย สามารถหักลดหย่อนบุตรได้ เฉพาะบุตรที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่หากผู้มีเงินได้อยู่ในประเทศไทย สามารถลดหย่อนบุตรได้ไม่ว่าบุตรจะเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม หากบุตรเข้าเงื่อนไขการลดหย่อนตามหลักการที่กล่าวมาข้างต้น
6.กรณีบุตรบุญธรรม จะต้องมีการจดทะเบียนรับรองบุตรบุญธรรม และจะสามารถเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนได้ตั้งแต่ปีที่จดรับรองโดยบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเดิมจะไม่สามารถ ลดหย่อนบุตรคนเดียวกันได้อีก
“นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2561 ยังได้มีการตรากฎหมายลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 ให้สามารถลดหย่อนเพิ่มเติมได้อีกคนละ 30,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท สำหรับการลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา”
เนื่องจากการลดหย่อนภาษีมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ละเอียด เพื่อลดปัญหาและความผิดพลาดที่อาจะเกิดขึ้นได้นั้น ขอให้ผู้เสียภาษีศึกษาข้อมูลรายละเอียดให้ดีก่อนใช้สิทธิลดหย่อนในหมวดนั้นๆ
ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand, สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage และ www.tfpa.or.th

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • V.I.T
    ทำไมบุตร ที่เกิดก่อนปี 2561 ลดได้แค่ 30,000 แต่ลูกเกิดหลังตั้งแต่ 2561ได้ลดหย่อนถึง60,000 ทั้งๆ ค่าครองชีพหยิ่งสูง ตามเด็กที่โตขึ้นทั้งค่าเรียนต่างงๆๆ รัฐบาลยุคนี้ ไม่คำนึงจุดนี้บ้าง
    21 พ.ย. 2564 เวลา 03.41 น.
  • Tomvorapot
    ... ปัญหาหลักๆของประเทศเราคือ ผู้คนส่วนใหญ่ ในเกือบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะรัฐบาล คิดว่าเรา 'ต้อง' พึ่งพาการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม พัฒนา โน่นนี่นั่น ... แต่ถ้าเรามองไปรอบๆ จะพบว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ได้พึ่ง การส่งออก ท่องเที่ยว หาเงินลงทุนจากต่างชาติ หรือ ต้องลดราคา ลดค่าแรง แจกของ ฯลฯ เป็นหลัก ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจเขาเลย มีวิธีอื่นที่ดีๆ ที่เหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้ และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคได้จริงกว่านี้ อีกมากมาย ลุงตู่ลองดู...
    28 ม.ค. 2563 เวลา 15.10 น.
ดูทั้งหมด