ไลฟ์สไตล์

รู้งี้..... - อุ๋ย นที เอกวิจิตร์

THINK TODAY
อัพเดต 03 ส.ค. 2561 เวลา 07.35 น. • เผยแพร่ 12 มิ.ย. 2561 เวลา 09.48 น. • อุ๋ย นที เอกวิจิตร์

“สุขสันต์วันเกิดนะ ขอให้สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วย เป็นอมตะ ไม่มีวันตาย” ผมเคยอวยพรเพื่อนแบบนี้แล้วเพื่อนหัวเราะพร้อมตอบกลับมาว่า “ไอ้สั__” ฮ่าฮ่าฮ่าฮ่า อย่างอารมณ์ดีแทนคำขอบคุณ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยธรรมชาติ ผู้คนส่วนใหญ่จะเข้าใจทันทีว่านี่คือการประชดประชัน ล้อเล่น เพราะรู้ว่าคำอวยพรแบบนี้ ไม่มีวันเป็นจริง เราทุกคนต่างก็รู้ว่าวันนึงข้างหน้าเราต้องตาย แต่จะมีสักกี่คนที่คิดว่าวันนี้อาจเป็นวันสุดท้ายของชีวิต

ผมว่ามีบ้าง แต่น้อยมาก รวมทั้งตัวผมก็ไม่ค่อยจะคิดแบบนั้น เรามักใช้ชีวิตในแบบที่คิดว่า เราจะมีโอกาสได้แก่ ได้เป็นคนสูงอายุ อย่างน้อยๆ ก็ 60 ปีขึ้นไป นั่นถึงเป็นสาเหตุของคำว่า เดี๋ยว เดี๋ยวก่อน ไว้ค่อย… ผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ ในหลายกิจกรรม ด้วยเหตุผลว่า ยังไม่สำคัญขนาดนั้น หรือ ขี้เกียจอ่ะ ง่ายๆ ตรงๆ ไม่อ้อมค้อม 

แต่สมมติว่าเรารู้วันตายของเราขึ้นมาล่ะ ว่าจะตายวันที่เท่าไหร่ เวลาไหน เราจะเรียงลำดับความสำคัญของกิจกรรม หรือ ธุระ ต่างๆ ของเรา ต่างจากปัจจุบันนี้หรือไม่? ผมเชื่อว่า ตารางกิจกรรมของหลายๆ คนอาจจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่กิจกรรมในแต่ละวัน ผมว่าเปลี่ยนไปถึงแนวความคิดการใช้ชีวิตเลยล่ะครับ 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เคยได้อ่านบทความเขียนระบายความในใจ ของเด็กสาวอายุ 27 ปี ที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ถึงเธอจะไม่รู้วันตายที่แน่นอน แต่จากผลตรวจและความเห็นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็พอจะยืนยันได้ว่าไม่มีโอกาสที่จะอยู่ได้นาน โพสต์สุดท้ายในเฟซบุ๊กของเธอ พูดถึงปัญหาต่างๆ ในชีวิตที่อดีตเธอเคยมองเป็นเรื่องใหญ่ แต่ในวันที่ใกล้หมดลมหายใจ เธอมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ เช่น เรื่องสัดส่วนรูปร่าง เรื่องใส่ชุดซ้ำไปงาน เรื่องความสวยความงาม ส่วนเรื่องที่แต่ก่อนเธอมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ได้ดูมีอะไรพิเศษหรือมีความหมายเท่าไหร่ เช่น การใช้เวลานั่งคุยกันในครอบครัว การได้ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนฝูง คนรัก การใช้ร่างกายปกติทั่วๆ ไป เช่น ยืน เดิน วิ่ง

ในวันที่ใกล้หมดลมหายใจ เธอกลับมองว่ามันเป็นสิ่งมีค่ามีความสำคัญมาก และเสียใจที่จะไม่ได้ทำมันอีก นี่เป็นมุมมองของคนที่รู้ตัวว่ากำลังจะจากโลกนี้ไป 

แล้วความรู้สึกของผู้ที่กำลังจะเป็นฝ่ายสูญเสียคนที่รักล่ะ เป็นอย่างไร ในบทความนี้ไม่ได้มีบอก แต่ตัวผมได้มีประสบการณ์เข้ารับการอบรม การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในระหว่างการอบรมมีการให้ผู้มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งเป็นคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัว ได้เล่าความรู้สึกที่เป็นฝ่ายสูญเสีย ว่ารู้สึกอย่างไร มีการเตรียมตัวและจัดการความรู้สึกตัวเองอย่างไร 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ลูกหลานที่ไม่ค่อยได้ให้เวลากับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ในขณะที่ยังสุขภาพปกติดี โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อถึงเวลาที่พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ใกล้เสียชีวิต จะพยายามยื้อชีวิตผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีทุกวิถีทาง โดยไม่สนใจคุณภาพชีวิตหรือความต้องการของผู้ป่วย ว่าอยากได้รับการดูแลแบบใด เพราะในหลายกรณี การปั๊มหัวใจ การใส่ท่อช่วยหายใจ การเจาะคอ 

ในผู้ป่วยที่หมดทางรักษาเป็นเพียงแค่การต่อลมหายใจแห่งความทรมาน เพราะลูกหลานยังไม่พร้อมที่จะรับการสูญเสีย หรือในบางกรณีตอนที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงลูกหลานก็ไม่ค่อยได้มาเยี่ยมเยียนดูแล พอถึงเวลาที่บุคคลอันเป็นที่รักกำลังจะจากไปก็เกิดความรู้รึกผิดที่ยังไม่ได้ตอบแทน เลยพยายามยื้อชีวิตไว้โดยที่ไม่สนใจความต้องการของผู้ป่วยว่า อยู่อย่างทรมานหรือไม่ 

มีคำกล่าวว่ามันคืออาการ กตัญญูเฉียบพลัน

ส่วนคนที่ดูแลหรือทำหน้าที่ต่อพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่อย่างทุ่มเทและครบถ้วนมาเป็นระยะเวลานาน มีแนวโน้มจะปล่อยวาง ให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ยื้อความตายผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น ยินยอมให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ 

พอได้ฟังความรู้สึกจากประสบการณ์ตรงของคนเหล่านี้ ทำให้ได้เห็นว่าความทุกข์จากการสูญเสียนั้น ปริมาณความทุกข์ขึ้นอยู่กับการกระทำในอดีต บางคนสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปนานเกินกว่า 10 ปีแล้วแต่ก็ยังมีความทุกข์อยู่เนืองๆ ส่วนบางคนก็ทำใจได้อย่างรวดเร็ว

สาเหตุส่วนใหญ่ของคนที่ทุกข์ยาวนานมาจากความรู้สึกผิด ความรู้สึกเสียดาย ที่ไม่ได้ทำสิ่งที่สมควรทำกับบุคคลอันเป็นที่รัก มากกว่าความทุกข์ที่เกิดจากการสูญเสีย 

ในทางตรงกันข้าม คนที่ทำหน้าที่ดูแลหรือใช้เวลากับบุคคลอันเป็นที่รักอย่างเต็มที่ในวันที่มีโอกาส พอถึงวันที่เกิดความสูญเสีย ระยะเวลาในการทำใจยอมรับของคนเหล่านี้มีแนวโน้มจะสั้นกว่า เพราะความทุกข์จากการสูญเสีย อยู่ไม่นานเท่าความทุกข์จากความรู้สึกผิด ที่ไม่ได้ทำสิ่งที่สมควรทำในวันที่ยังมีโอกาส 

มีผลวิจัยว่า การที่ผู้ป่วยจากไปอย่าสงบไม่ทุกข์ทรมานจากการยื้อชีวิตด้วยเทคโนโลยีที่เกินจำเป็น มีผลให้ญาติผู้สูญเสียมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่าญาติของผู้เสียชีวิตที่จบชีวิตโดยผ่านการยื้อด้วยเทคโนโลยีเกินความจำเป็น อย่างมีนัยยะสำคัญ

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ถ้าในวันนี้เราได้ทำหน้าที่ ได้ทำสิ่งที่สมควรทำกับบุคคลอันเป็นที่รักของเราอย่างดีแล้ว พอถึงวันที่ธรรมชาติบังคับให้เราต้องจากกัน เราจะไม่ต้องทุกข์เพราะคำว่า

“รู้งี้….”

อย่างที่มีคนเคยพูดว่า “ความทุกข์จากความรู้สึกผิด อยู่ยาวนานกว่าความทุกข์จากความสูญเสีย”

ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่าน สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ป่วย เป็นอมตะ ไม่มีวันตายนะครับ

ความเห็น 18
  • จินนา789
    เหนด้วยค่ะการใส่ท่อปั้มหัวใจรึเจาะคอ มันแย่มากสุดท้ายไปเร็วกว่าเดิมอีก
    12 มิ.ย. 2561 เวลา 10.54 น.
  • เป็นบทความที่มีประโยชน์มาก รู้งี้...
    12 มิ.ย. 2561 เวลา 13.33 น.
  • @...
    อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ให้ไม่สามารถย้อนเวลาได้.
    12 มิ.ย. 2561 เวลา 13.47 น.
  • ꧁↭ⓝⓞⓞⓜಬနးປနးແດ၅↭꧂
    ผมได้ทำอย่างดีที่สุดแล้วครับ #รู้งี้
    12 มิ.ย. 2561 เวลา 14.42 น.
  • Bung. BMA5-9
    อ่านจนจบน้ำตาก็ไหล .
    12 มิ.ย. 2561 เวลา 14.33 น.
ดูทั้งหมด