ทั่วไป

5 ข้อ ชะลอสภาวะสมองเสื่อมผู้สูงวัย

สยามรัฐ
อัพเดต 21 ก.ย 2562 เวลา 22.00 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2562 เวลา 22.00 น. • สยามรัฐออนไลน์

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์ถือเป็นสาเหตุอันดับต้นของภาวะสมองเสื่อม ซึ่งภาวะสมองเสื่อมเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อาการแสดงที่สำคัญที่พบได้ในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ การบกพร่องด้านความจำ เช่น ลืมวันนัดหมาย ทำของหายหาไม่เจอ หลงทางในสถานที่คุ้นเคย การบกพร่องด้านความสามารถในการคิดวางแผน เช่น ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การใช้อุปกรณ์เครื่องมือใหม่ๆ ลดลง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต

การบกพร่องด้านการสื่อสาร เช่น ความคล่องแคล่วในการพูดหรือการสื่อสารลดลง มีปัญหาในการคิดคำศัพท์ วลี หรือประโยคที่เหมาะสม การบกพร่องด้านพฤติกรรม เช่น มีความหุนหันพลันแล่น ตัดสินใจเร็ว ขาดความยั้งคิด ความสามารถในการทำกิจกรรมลดลง อาจพบอาการเดินออกจากบ้านไปเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่การหลงทาง เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กรมสุขภาพจิต จึงขอแนะนำผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงหรือเริ่มมีอาการภาวะสมองเสื่อมระยะเริ่มแรก เพื่อช่วยชะลอความรุนแรง ในการเกิดภาวะสมองเสื่อมให้เกิดช้าลง สามารถพึ่งพาตนเองและดำรงชีวิตในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้ ด้วยวิธีป้องกัน 5 ข้อ ดังนี้

1. ด้านการรู้คิด เป็นการกระตุ้นให้ใช้ความคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยฝึกการรับรู้ เวลา สถานที่ บุคคล โดยใช้สถานการณ์หรือเหตุการณ์ประจำวันช่วยในการกระตุ้น เช่น การอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ และมีอุปกรณ์ช่วยบอกวันเวลา เช่น นาฬิกา ปฏิทิน เป็นต้น

2. ด้านความจำ จะเป็นการช่วยเพิ่มความจำให้กลับมาได้ในระดับเดิมมากที่สุด เช่น ฝึกจำหน้าคน การบอกชื่อคน ฝึกความจำด้วยการใช้สุภาษิต คำพังเพย ฝึกนับตัวเลข การเล่นเกมส์ เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

3. ด้านทักษะ เพื่อรักษาระดับความรู้ความสามารถให้คงเดิมและเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มขึ้น โดยการเรียนรู้และฝึกทักษะด้วยวิธีการที่ง่ายๆ เช่น การวาดภาพ การปั้นดินน้ำมัน การเต้นรำ รำวง เป็นต้น

  1. ด้านอารมณ์จิตใจ เป็นการกระตุ้นความจำและอารมณ์ โดยใช้ประสบการณ์ชีวิตในอดีตและใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น รูปภาพ ดนตรี เสียงเพลง รวมทั้งการออกกำลังกาย จะช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นและช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

5. ด้านพฤติกรรม เป็นการค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมหรือตัวกระตุ้นเพื่อลดปัญหาเหล่านั้น เช่น การให้แรงจูงใจ การให้รางวัล การชื่นชม เป็นต้น การรักษาแบบนี้จะทำให้พฤติกรรมที่หายไปกลับคืนมา และลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น ก้าวร้าว ตะโกนเสียงดัง เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพบผู้สูงอายุที่มีอาการแสดงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมมาก ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

ดูข่าวต้นฉบับ