ไอที ธุรกิจ

เปิดวิธีคิด “ดอกเบี้ยเงินฝาก” แบบง่ายๆด้วยตัวเอง !

FINSTREET
เผยแพร่ 04 ธ.ค. 2563 เวลา 10.44 น. • FINSTREET

สำหรับวิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งดอกเบี้ยออมทรัพย์ หรือแบบเงินฝากประจำ จริงๆแล้วมันคำนวณ “ง่ายกว่าที่คุณคิด” บทความนี้เราจะมาคำนวณไปด้วยกันครับ พร้อมแล้วหยิบเครื่องคิดเลขมาคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากกันเลย !

ออมเงินฝากธนาคารทั้งที คงไม่มีใครที่ไม่อยากได้ดอกเบี้ยหรอกครับ แต่กว่าจะรู้ว่าตัวเองได้ดอกเบี้ยเงินฝากเท่าไหร่ ก็ต้องรอลุ้นดอกเบี้ยออกมาทีเดียว สำหรับใครที่ใจร้อนอยากรู้ดอกเบี้ยเร็วๆ คุณจำเป็นต้องใช้ตัวแปรเหล่านี้ในการคำนวณ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คำนวณดอกเบี้ยเงินฝาก ต้องรู้อะไรบ้าง ?

  • ฝากเงินแบบไหน? > ฝากแบบประจำหรือแบบออมทรัพย์
  • อัตราดอกเบี้ย เช่น 1.5% ต่อปี
  • เป็นบัญชีเงินฝากปลอดภาษีหรือเปล่า?
  • ระยะเวลาฝาก
  • ฝากเป็นก้อนทีเดียว หรือฝากทุกเดือน
  • เงินก้อนที่ฝากตอนเริ่มต้น

สูตรคำนวณ ดอกเบี้ยเงินฝาก

หลังจากที่คุณทราบตัวแปรที่ใช้คำนวณคิดดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว ให้คุณนำมาแทนในสูตรคำนวณง่ายๆตามนี้เลย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดอกเบี้ย = (เงินต้นที่ฝาก x อัตราดอกเบี้ย x จำนวนวันที่ฝาก) ÷ 365

เช่น นายโอกาสฝากเงินก้อน 10,000 บาท เป็นเวลาครึ่งปี (ประมาณ 180 วัน) อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี

ดอกเบี้ย = (10,000 x 0.01 x 180) ÷ 365 = 49.31 บาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากตัวอย่างข้างบน ตอนครึ่งปีนายโอกาสจะได้ ดอกเบี้ยทั้งหมด 49 บาทกว่าๆ (น้อยมาก) ซึ่งตัวอย่างนี้เป็นการคำนวณคร่าวๆ กรณีฝากเงินก้อนไว้แล้วรอดอกเบี้ยอย่างเดียว

หากต้องการคำนวณแบบ ฝากทุกเดือน สามารถทำได้โดยการแยกคำนวณเป็นเดือนๆ โดยการนำเงินต้นเดือนก่อนหน้าที่รวมดอกเบี้ย มาคิดเป็นเงินต้นเดือนปัจจุบันครับ

หรือถ้าอยากคำนวณแบบ หักภาษีด้วย ต้องแยกคำนวณเป็นแบบออมทรัพย์ และแบบฝากประจำครับ

วิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝาก ‘ออมทรัพย์’

ดอกเบี้ยออมทรัพย์ เสียภาษีหรือเปล่า?

สำหรับบัญชีออมทรัพย์ ดอกเบี้ยส่วนที่ยังไม่หักภาษี สามารถคำนวณดอกเบี้ยเงินฝาก โดยใช้สูตรตามข้างบนได้เลยครับ ส่วนการที่จะเสียภาษีหรือไม่นั้น ต้องดูว่าคุณยินยอมให้ธนาคาร ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้สรรพากร หรือเปล่า…

  • หากคุณฝากเงินเยอะมากๆ เช่น ฝากเป็นหลักล้านขึ้นไป แล้วได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต่อปี กรณีนี้จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยอยู่แล้วครับ ไม่ว่าจะยินยอม หรือไม่ยินยอมส่งข้อมูลให้สรรพากร
  • ส่วนกรณีได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ น้อยกว่า 20,000 บาทต่อปี ถ้าคุณยินยอมให้ส่งข้อมูลก็จะ “ไม่ต้องเสียภาษี” ครับ แต่หากไม่ยินยอมให้ส่งข้อมูล ก็จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยตั้งแต่บาทแรก !

สูตรคำนวณดอกเบี้ย (กรณีเสียภาษี)

ดอกเบี้ยที่ได้จริง = ดอกเบี้ยที่คำนวณได้ x 0.85

เช่น หากคำนวณดอกเบี้ยออมทรัพย์ได้ 30,000 บาท (เกิน 20,000 บาท) หลังจากหักภาษีแล้ว คุณจะได้ดอกเบี้ยจริงเพียง 25,500 บาท

วิธีคิดดอกเบี้ย ‘เงินฝากประจำ’

สำหรับเงินฝากประจำ ดอกเบี้ยที่ได้จะถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยอยู่แล้วครับ สามารถคำนวณได้จากสูตรข้างบนเช่นกัน

เช่น ได้ดอกเบี้ยมา 1,000 บาท ก็จะโดนหักไป 150 บาท แต่ถ้าหากคุณฐานเสียภาษีไม่ถึง 15% ก็สามารถเลือกที่จะนำรายได้จากดอกเบี้ยไปยื่นภาษี เพื่อขอคืนภาษี

หรือถ้าไม่อยากเสียภาษีก็อาจจะเลือกเป็น “เงินฝากประจำปลอดภาษี” ก็ได้ครับ โดยจะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าฝากประจำทั่วไป แต่จะมีระยะเวลาฝากประจำเริ่มต้นที่ 24 เดือน หรือ 2 ปียาวๆไปเลยครับ

สรุป

วิธีคิดดอกเบี้ยเงินฝากจะขึ้นอยู่กับประเภทของเงินฝากว่าเป็น ออมทรัพย์ หรือเงินฝากประจำ เพราะจะมีเงื่อนไขการหักภาษีที่ต่าง แต่หลักๆแล้วเราสามารถคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากได้จากสูตรหลักเดียวกันคือ นำเงินต้นไปคูณกับอัตราดอกเบี้ยต่อปีและจำนวนวันที่ฝาก แล้วนำมาหารด้วย 365 เนื่องจากเงินฝากจะมีการคิดดอกเบี้ยทุกวัน

อ้างอิง : กรมสรรพากร

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Jaruwat Varodom
    #(เครื่องมือ/วิธีการลงทุนที่ถูกต้อง คือ.ช่องทางสู่ความสำเร็จ) : ที่ปรึกษาการเงิน (089-7894708, 061-8730819)
    05 ธ.ค. 2563 เวลา 17.39 น.
ดูทั้งหมด