ไลฟ์สไตล์

‘กล้วยๆๆ’ สารพัดประโยชน์ กระทงก็ได้ บำรุงผิวก็สุดยอด

The Bangkok Insight
เผยแพร่ 09 พ.ย. 2562 เวลา 03.18 น. • The Bangkok Insight

"กล้วย" สารพัดประโยชน์ หนุนใช้ในเทศกาลลอยกระทงลดโลกร้อน พร้อมแจงสรรพคุณ หลายคนไม่รู้ ช่วยทั้งบำรุงผิวหน้า และรักษาโรค

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภูมิปัญญาไทย มาแต่โบราณพิสูจน์ถึงสรรพคุณของกล้วย คนไทยเรา จึงกินกล้วยกันแต่เด็ก นอกจากเป็นอาหารสุขภาพแล้ว กล้วยยังทำได้สารพัดประโยชน์ นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก บอกว่า สำหรับเทศกาลลอยกระทง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562  "กล้วย" ก็มีส่วนสำคัญในส่วนประกอบของกระทง

คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของต้นกล้วยมายาวนาน นอกจากบริโภคเป็นอาหารแล้ว ทุกส่วนของกล้วยยังนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายรูปแบบ เช่น ในงานประเพณีต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นวัสดุ จากธรรมชาติช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย

"กล้วย" มีสารอาหารเกือบทุกชนิด ที่ร่างกายต้องการ ใน "กล้วยน้ำว้า"  1 ผลเล็ก (40 กรัม) มีพลังงาน 59 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินและเกลือแร่ แถมอุดมไปด้วยโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ กลุ่มวิตามินบี วิตามินซี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • กล้วยดิบ มีรสฝาด แก้ท้องเสีย เนื่องจากมีสารแทนนิน รวมถึงช่วยสมานแผลในกระเพาะและลำไส้
  • กล้วยห่าม รสฝาดออกหวาน แก้ท้องเสีย ชดเชยโพแทสเซียมที่เสียไป
  • กล้วยสุก รสหวาน บำรุงร่างกาย แก้ท้องผูก ช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น และป้องกันโรคริดสีดวงทวาร
  • กล้วยสุกงอม มีรสหวานจัด บำรุงร่างกาย เพิ่มพลังงาน เป็นกากใยช่วยในการขับถ่าย และมีคุณสมบัติต่อต้านมะเร็ง

ส่วน "ลำต้น หรือ หยวกกล้วย" นิยมนำมาทำฐานกระทง ส่วน "ใบตองสด" นำมาใช้ในการทำอาหาร ห่อกับข้าว หรืองานศิลปหัตถกรรม เช่น กลีบกระทง บายศรี เป็นต้น

นอกจากนี้ "กล้วย" ยังช่วยบำรุงผิวพรรณ ทำให้ผิวเนียนนุ่ม ลดริ้วรอย โดยมี 6 ขั้นตอน ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • กล้วยน้ำว้า 1-2 ผล
  • น้ำผึ้ง และนม
  • ผสมเข้าด้วยกัน จนเป็นเนื้อเดียวกัน อย่าให้เนื้อเหลวจนเกินไป
  • ทาให้ทั่วใบหน้า และลำคอ ประมาณ 15-20 นาที
  • นวดเบา ๆ เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต
  • ล้างออกด้วยน้ำสะอาด

นอกจากสรรพคุณที่กล่าวแล้ว "กล้วย" ยังเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ สามารถใช้รักษาแผล ในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการท้องเสีย มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย

*วิธีใช้ คือ รับประทานครั้งละ 10 กรัม ชงด้วยน้ำร้อนปริมาณ 120 - 200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร สำหรับข้อควรระวัง ไม่ควรใช้ กับผู้ที่มีอาการท้องผูก และการรับประทานยานี้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้ท้องอืดได้ *

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ Call Center 02 5917007 ต่อกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยฯ

ดูข่าวต้นฉบับ