ไลฟ์สไตล์

บุกป่าฝ่าเขาไปเสพงานศิลป์ระดับโลก ณ Chichu Museum เกาะนาโอชิมะ

The Momentum
อัพเดต 19 พ.ย. 2562 เวลา 14.25 น. • เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 13.17 น. • Museum Minds

In focus

  • พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิชู หรือ Chichu Art Museum ตั้งอยู่ที่ปลายสุดของเกาะนาโอชิมะ อาคารพิพิธภัณฑ์ออกแบบโดยทาดาโอะ อันโดะ ที่เลือกสร้างให้อาคารส่วนใหญ่ซ่อนอยู่ในภูเขาเพื่อไม่ให้กระทบกับทัศนียภาพของเกาะ และถึงจะออกแบบให้อยู่ในดิน แต่ผลงานหลายชิ้นก็ใช้แสงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ
  • ผลงาน Time/Timeless/No Time(2004) โดยวอลเตอร์ เดอ มาเรีย สิ่งแรกที่สะดุดตาคือลูกบอลหินอ่อนสีดำลูกยักษ์ ที่เงาสะท้อนของช่องแสงสี่เหลี่ยมบนลูกบอลจะเคลื่อนตัวตามการเดินของเรา ราวกับเป็นดวงตาที่คอยจ้องมองตลอดเวลา
  • ที่นี่ยังมีห้องแสดงงานของโมเน่ต์ ที่แม้ไม่ได้อลังการเท่า l’Orangerie กรุงปารีส แต่ก็มีพื้นที่พอให้เราได้เห็นงานที่อธิบายความเป็นอิมเพรสชั่นนิสม์ได้อย่างลงตัว ภาพบ่อบัวสี่ชิ้นชวนให้เรานึกถึงสวนร่มรื่นที่ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ซึ่งคล้ายจำลองจากภาพของโมเน่ต์มาให้เราเห็น
  • พ่อมดแห่งแสงเจมส์ เทอร์เรล เล่นกับการรับรู้ของผู้ชมด้วยการใช้แสงและสี ผลงานของเขาในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยืนยันได้เป็นอย่างดี ที่เรียกเขาว่าพ่อมดนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเกินจริง

นาโอชิมะ เป็นเกาะขนาด 14 ตาราง กม. มีผู้คนอาศัยอยู่บนเกาะเพียงสามพันกว่าคน เมื่อก่อนเคยมีอุตสาหกรรมของกลุ่มมิทซูบิชิเป็นธุรกิจหลัก จนมีการปรับปรุงโดย Benese Corporation ทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวและผู้ชื่นชอบศิลปะทั่วโลก 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นาโอชิมะน่าจะเป็นที่คุ้นตาของหลายๆ คนที่เห็นภาพประติมากรรมฟักทองสีแดงและเหลืองลายจุดสีดำขนาดใหญ่ของศิลปินหญิงที่นับว่าตอนนี้มีงานราคาสูงเกือบที่สุดในโลก ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) ที่ทุกคนจะต้องไปถ่ายรูปกันแล้วเอามาแชร์ลงโซเชียลมีเดีย แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกาะแถบนี้มีมากกว่าฟักทองสองก้อนให้ถ่ายรูปลงไอจีแน่ๆ

แม้จะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาตลอดปี แต่เกาะแถบนี้จะคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติทุกๆ สามปี เพราะจะมีนิทรรศการเซโตชิ เทรียนนาเล (Setouchi Triennale) ที่จัดโดย Benese Corporation โดยจะเปิดศาลา (Pavillion) แสดงงานศิลปะต่างๆ เต็มเกาะ ทั้งเกาะใหญ่ๆ อย่างนาโอชิมะ อินุจิมะ และเทชิมะ ไปจนถึงเกาะเล็กๆ อย่างโอชิมะ โองิจิมะ และเกาะอื่นๆ ผลงานที่แสดงเป็นผลงานของศิลปินทั้งญี่ปุ่นและทั่วโลก โดยปีนี้ก็มีศิลปินไทยอย่างพิณรี สัณฑ์พิทักษ์ ที่แสดงอยู่บนเกาะฮอนจิมะด้วย

นอกจากนี้จะมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะเจ๋งๆ ซ่อนตัวอยู่พอสมควร อาทิ พิพิธภัณฑ์ทาดาโอะ อันโดะ สถาปนิกผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลก รวมถึง พิพิธภัณฑ์ที่เราอยากจะนำเสนอในบทความนี้ นั่นก็คือพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิชู หรือ Chichu Art Museum

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อเราหอบตัวเองขึ้นเขามาจนสุดของเกาะนาโอชิมะ จะเจอส่วนขายตั๋วเข้า Chichu Museum จากนั้นเดินผ่านบ่อบัวในสวน Chichu Garden รายล้อมไปด้วยพืชพันธุ์กว่าร้อยชนิด ที่ถอดแบบมาจากสวนที่ โคล้ด โมเน่ต์ ใช้วาดรูป แล้วก็จะเจอทางเข้าแคบๆ ชื้นๆ เพื่อนร่วมทางเห็นเข้าก็ถามขึ้นมาว่า “แน่ใจนะว่าในนี้จะมีงานศิลปะระดับโลกอยู่” เพราะตัวพิพิธภัณฑ์ถูกซ่อนอยู่ที่เนินเขาขนาดใหญ่ ปกคลุมด้วยต้นไม้ใบหญ้า

ภาพจาก http://benesse-artsite.jp/en/art/chichu.html

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Chichu แปลตรงตัวว่า อยู่ในดิน ตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์เองก็ ‘อยู่ในดิน’ จริงๆ เพราะอาคารที่ถูกสร้างในปี 2004 นี้ ออกแบบโดยทาดาโอะ อันโดะ (ตาคนที่มีพิพิธภัณฑ์อยู่ในเมืองนี้นั่นล่ะ) อาคารตั้งอยู่บนยอดเขาสูงสุดของเกาะ เพื่อไม่ให้การมีอาคารกระทบกับทัศนียภาพของเกาะ ทาดาโอะจึงเลือกวิธีการสร้างให้อาคารส่วนใหญ่อยู่ในภูเขา แต่ถึงจะออกแบบให้อยู่ในดิน ก็ใช่ว่าจะไม่มีแสงแดดเลย กลับกัน ผลงานหลายชิ้นใช้แสงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ

ไฮไลต์แรกสำหรับเรา คือ ผลงาน Time/Timeless/No Time(2004) โดยวอลเตอร์ เดอ มาเรีย (Walter De Maria) กินพื้นที่ชั้นสองของอาคารทั้งชั้น เมื่อเดินเข้าห้องจัดแสดงงาน สิ่งแรกที่สะดุดตาคือลูกบอลหินอ่อนสีดำลูกยักษ์เหนือขึ้นบันไดที่ทอดยาว แสงอาทิตย์จากช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านบนส่องสว่างกระจายทั่วห้องอย่างเท่าเทียม เมื่อเราเดินเข้าใกล้ลูกบอลนั้นเรื่อยๆ จะสังเกตว่าเงาสะท้อนของช่องแสงสี่เหลี่ยมบนลูกบอลสีดำ เคลื่อนตัวตามการเดินของเรา ราวกับเป็นดวงตาที่คอยจ้องมอง ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนในห้องนั้น 

ภาพจาก http://benesse-artsite.jp/en/art/chichu.html

เมื่อเดินขึ้นชั้นสาม เราจะพบผลงานของโคล้ด โมเน่ต์ และทักทายกับผลงานของพ่อมดแห่งแสงเจมส์ เทอร์เรล (James Turrell) ห้องแสดงงานของโมเน่ต์ตรงนี้ ไม่ได้ใหญ่โต อลังการเท่า l’Orangerie ที่แสดงงานของเขาที่ปารีส แต่ก็มีพื้นที่พอให้เราชมงานได้อย่างไม่อึดอัด ภาพบ่อบัวสี่ชิ้นชวนให้เรานึกถึงสวนร่มรื่นที่เพิ่งเดินผ่านมา 

แน่นอนว่าผลงานของโคล้ด โมเน่ต์ เป็นเสมือนหมุดหมายแห่งวงการศิลปะยุคอิมเพรสชั่นนิสต์ หากไม่มีพ่อใหญ่อย่างตาโคล้ด ก็จะไม่มีเอ็ดการ์ เดกาส์, โกแกง, ฟานก๊อกฮ์ และศิลปินในยุคนั้นอีกหลายคน ผลงานบ่อบัวสะท้อนเงาสวนระยิบระยับนี้ เป็นหนึ่งในผลงานที่อธิบายศิลปะยุคอิมเพรสชันนิสต์ได้ดีที่สุดช่วงเวลาเสี้ยววินาทีที่ถูกจับโดยสายตาของศิลปิน ขยายออกมาให้คงอยู่ตลอดกาลบนแคนวาส ฝีแปรงหยาบๆ ปาดสีที่ดูไม่เข้ากันแต่กลับอยู่ด้วยกันอย่างสวยงาม สีสันปื้นน้อยปื้นใหญ่กระโดดโลดเต้นอยู่บนผืนผ้าแคนวาสขนาดใหญ่ สะท้อนเข้าดวงตาเราเกิดเป็นภาพบ่อบัวในแต่ละช่วงเวลาของวัน ของฤดูกาล

ภาพจาก http://benesse-artsite.jp/en/art/chichu.html

เมื่อเดินออกจากห้องของโมเน่ต์ เราจะพบส่วนที่แสดงงานของเจมส์ เทอร์เรล คราวนี้เขาแสดงผลงานถึงสามชิ้น เมื่อเดินเข้าส่วนจัดแสดง เราจะประจันหน้าเข้ากับกล่องสี่เหลี่ยมสีฟ้าเทอร์ควอยส์ Afrum, Pale Blueผลงานชิ้นนี้มีพี่น้องอยู่ที่กุกเกนไฮม์ เป็นเวอร์ชั่นสีขาว แต่ชิ้นนี้ ตามชื่อก็คือสีฟ้า แม้จะเรียกผลงานชิ้นนี้ว่าเป็นศิลปะจัดวาง แต่เรากลับให้ความรู้สึกว่าชิ้นนี้เหมือนประติมากรรมมากกว่า ในขณะที่ประติมากรคนอื่นปั้นผลงานจากดินบ้าง จากโลหะบ้าง เทอร์เรล ‘ปั้น’ ผลงานของเขาจากแสง แสงสีฟ้าของเทอร์เรล ก่อเกิดภาพลวงตาว่าภาพตรงหน้าคือวัตถุทรงกล่อง แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ กลับพบว่ากล่องนั้นแบนราบติดไปกับมุมห้อง ชวนให้เราสงสัยว่าสิ่งที่หลอกเรา คือวัตถุตรงหน้าหรือสายตาของเรากันแน่

เดินต่อไปจะเจอผลงานที่เป็นเหมือนซิกเนเจอร์ของเทอร์เรล นั่นก็คือ Open Fieldที่ใช้แสงและสีในการให้ความรู้สึกถึง void หรือความเวิ้งว้าง ว่างเปล่า ผ่านพื้นที่โล่ง ผลงานนี้เป็นหนึ่งในซีรี่ย์ Ganzfieldsหรือแปลจากภาษาเยอรมันได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่สูญเสียความรู้สึกตื้นลึกหนาบางอย่างสิ้นเชิง ประสบการณ์ในผลงานนี้ชิ้น คือการค่อยๆ ให้คนดูเดินจากห้องสีส้มเข้าไปสัมผัสแสงสว่างสีน้ำเงินเข้มในห้องสีฟ้าอ่อน ผลงานชิ้นนี้ เขาเล่นกับการรับรู้ของผู้ชมอีกรอบแต่แทนที่จะเป็นความมืดและแสงสว่าง คราวนี้เขาเล่นกับค่าสีที่แตกต่างจากเหลืองส้ม ไปฟ้า ไปน้ำเงินเข้ม ให้ตาของเราค่อยๆ ปรับการรับรู้จนทำให้รู้สึกสึกโหวงๆ แม้จะเดินอยู่ในห้องที่เรามองเห็นทุกอย่าง

ภาพจาก http://benesse-artsite.jp/en/art/chichu.html

หากเดินเลี้ยวขวาไปทางช่องแคบๆ ผ่านความมืดของอาคาร จะพบห้องแสดงอีกห้องของเทอร์เรล ผลงานOpen Skyคราวนี้เขาใช้แหล่งแสงเป็นแสงอาทิตย์ จากรูสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ด้านบนเพดาน แสงแดดสาดส่องสว่างจ้าทั่วห้องจนเพื่อนร่วมทางของฉันต้องหยีตา เราเขาไปนั่งพักเหนื่อยในห้องนั้นพลางมองขึ้นไปบนรูขนาดใหญ่ เหมือนดูรูปวาด ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามสภาพอากาศ ในขณะที่โมเน่ต์ใช้การแช่แข็งเวลาเพียงเสี้ยววินาทีลงบนแคนวาสของเขา ‘แคนวาส’ ของเทอร์เรลกลับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันใดที่เหมือนกัน เพราะเขาใช้พื้นที่บนเพดานแทนการจับภาพท้องฟ้าแทน เหมือนกับว่าเราเดินจากการมองลงไปในนั้น ไปสู่การมองขึ้นไปบนฟ้า

ความน่ารักของพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิชูคือ เมื่อเราหอบตัวเองขึ้นเขามาดูงานศิลปะอันไกลแสนไกลขนาดนี้ เขาเลยให้รางวัลเราด้วยคาเฟ่เล็กๆ ในมิวเซียม ที่เต็มไปด้วยกาแฟ ชา และอาหารออร์แกนิก ที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาทำขนาดเฟรนช์ฟรายยังแทนด้วยมันม่วงและผักทอดกรอบจากชาวบ้านในเกาะ แถมเราสามารถหิ้วอาหารใส่ตะกร้าน้อย เดินออกไปปิกนิกชมวิวจากจุดสูงสุดของเกาะ มองลงไปเห็นทะเลและวิวทิวทัศน์ที่ขึ้นชื่อของเกาะนาโอชิมะได้ด้วย เหมือนเป็นจุดนั่งเล่นคุ้มค่าเหนื่อยที่ผู้ชมทุกคนเดินมาตั้งไกล

ภาพจาก http://benesse-artsite.jp/en/art/chichu.html

การมีพื้นที่ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติโดยตรงแบบนี้ จะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการออกแบบที่ละเอียดถี่ถ้วน และคิดถึงธรรมชาติโดยรอบจากคุณอันโดะ สถาปนิกใหญ่ของที่นี่ เพราะไม่เพียงแต่งานศิลปะที่จำเป็นต้องใช้แสงธรรมชาติและการให้พื้นที่โดยรอบที่พอเหมาะ แต่การเดินสำรวจอาคารทั้งหลังเองก็เป็นศิลปะแล้ว อันโดะออกแบบพื้นที่ให้มองจากด้านบน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า และสามเหลี่ยม พื้นที่ตรงกลางท่ีว่างเว้นเอาไว้นั้น ปล่อยให้หญ้าขึ้นเองตามธรรมชาติ ต้อนรับผู้ชมให้เดินขึ้นตามบันไดวนไปรอบๆ เพื่อเห็นความหมายของการเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ก่อนจะเดินจากพิพิธภัณฑ์ที่เหมือนไม่มีอยู่จริง ออกจากภูเขาลูกนี้ไปพบโลกความจริงด้านล่าง

ภาพจาก http://benesse-artsite.jp/en/art/chichu.html

เราลากกระเป๋าเดินทางมาถึงท่าเรือมิยาโนะอุระ ก่อนจะเดินทางออกจากเกาะ นั่งเรือ ต่อรถไฟ จากเมืองเล็กๆ ตัดผ่านทุ่งนา ป่าเขา ก่อนจะไปโผล่ในเมืองโอซาก้าอันแสนวุ่นวาย

คำถามเล็กๆ หล่นตุ๋มลงมาในใจเราว่า ทำไมประเทศเราถึงไม่มีแบบนี้บ้างนะ ด้วยความที่ทำงานในแกลเลอรี่อยู่แล้ว เราจึงได้แต่กลับมาทบทวนสภาพสังคมของเราเอง ที่อาจไม่เอื้อให้มีผลงานศิลปะแบบนี้

เหตุผลหลัก คือเราไม่มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่พร้อมจะลงทุนไปกับศิลปะมากพอ เราไม่มีรัฐที่เห็นค่าของศิลปะและวัฒนธรรมสมัยใหม่ เราไม่มีวงการศิลปะที่แข็งแรงพอที่จะเข้ามาร่วมมือกับคนท้องถิ่นได้ ฯลฯ แต่นั่นเป็นเหตุผลหลักจริงๆ เหรอ?

คงเป็นเช่นเดียวกับร้านคาเฟ่ลับสุดน่ารักในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิชูที่ไปยากแสนยาก มันกลายเป็นสถานที่ที่มอบประสบการณ์อันเป็นรางวัลให้สำหรับคนรักศิลปะอย่างยิ่งยวด เพราะกว่าพวกเขาจะ ‘เข้าถึง’ ตรงนั้นมันไม่ง่ายเลย —ต้องดั้นด้นไปเกาะด้วยเรือบื๋อที่มีรอบน้อยนิดต่อวัน ไหนจะบุกป่าฝ่าเขา เดินเท้ายวบๆ (แถมมาถึงก็ไม่ให้ถ่ายรูปข้างในอีก ไม่มีเซลฟี่คู่งานระดับโลก น่าเจ็บใจนัก!) แต่ผู้คนก็ทยอยไปเช็คอินที่นี่กันอย่างไม่ขาดสาย 

ถ้าถามเรา เราคิดว่าอาจเป็นเพราะการเปิดใจให้กับผลงาน ทำให้เราเห็นความงามของผลงานท่ามกลางสภาพแวดล้อม ที่ล้อไปกับบริบทของธรรมชาติ แสง เสียง และบรรยากาศ  ผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดึงเอาศักยภาพของผลงานศิลปะชิ้นนั้นได้สูงสุด รวมเป็นประสบการณ์สุนทรียะที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากความตื้นเขินของชีวิตประจำวันที่จำเจ

สรุปว่าในขณะที่เราปรบมือให้กับศิลปินและนักออกแบบ เราก็อาจจะต้องหันมาปรบมือให้กับความพยายามที่จะเข้าถึงของผู้ชมด้วยเหมือนกัน 

 

guest writer: Pearamon Tulavardhana แอดมิน ศิลปะเข้าใจยากจริงหรือ?

ดูข่าวต้นฉบับ