ไลฟ์สไตล์

เผย 5 ทริค TCAS62 รอบยื่นแฟ้มสะสมผลงาน โอกาสของน้องๆ ที่มากกว่าแค่คะแนนสอบ – ทปอ.

Campus Star
เผยแพร่ 13 พ.ย. 2561 เวลา 04.20 น.
นักกิจกรรม นักล่ารางวัล ต้องรู้! ทปอ. เผย 5 ทริค TCAS62 รอบยื่นแฟ้มสะสมผลงาน โอกาสของน้องๆ ที่มากกว่าแค่คะแนนสอบ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากนักเรียนมัธยมฯ

หลายเรื่องหนักใจของน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อการคัดเลือกบุคคลเพื่อศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2562 หรือ TCAS62 หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นความกดดันจากการเตรียมตัวสอบ เพื่อนำคะแนนไปยื่นสมัครในรอบลึกๆ แต่ก่อนที่จะไปถึงเวลานั้น น้องๆ คนไหนที่รู้ตัวว่ามีความสามารถและผลงานที่โดดเด่น สอดคล้องกับสาขาวิชาที่ต้องการเรียน แถมยังได้รับรางวัลจากการแข่งขันทักษะ ความสามารถพิเศษต่างๆ อาจจะใช้จุดเด่นนี้ รวบรวมออกมาเป็นแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) เพื่อไปยื่นสมัครในคณะ สาขา หรือสถาบันที่น้องๆอยากเรียนต่อ เพราะในรอบนี้ โอกาสอาจจะเป็นของน้องๆ โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยไปสอบแข่งขันเลยก็ได้

เผย 5 ทริค TCAS62 รอบยื่นแฟ้มสะสมผลงาน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นักกิจกรรม นักล่ารางวัล ต้องรู้ ! โอกาสของน้องๆ ที่มากกว่าแค่คะแนนสอบ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า … ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากนักเรียนมัธยมฯ สู่การเป็นนิสิต นักศึกษา คือ โอกาสสำคัญในการวางแผนอนาคตของน้องๆ ในระบบการศึกษา ดังนั้นการคัดเลือกบุคคลเพื่อศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาโดยใช้เกรดเฉลี่ย และผลการสอบแข่งขัน ไม่เพียงพอในการตัดสินที่จะให้โอกาสทางการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม เพราะผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากผลการเรียน และคะแนนการสอบ อาจไม่สะท้อนตัวตนและศักยภาพของน้องๆ ได้อย่างแท้จริง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ซึ่ง ทปอ. เล็งเห็นความสำคัญของระบบการคัดเลือกที่มีความหลากหลาย เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษา ให้ครอบคลุมนักเรียนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด โดยการคัดเลือกจากแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) คือ หนทางที่น้องๆที่มีความสามารถ มีแรงบันดาลใจ ได้แสดงศักยภาพ และความใฝ่ฝัน ซึ่งอาจตรงกับความต้องการของคณะ สาขา และสถาบัน อย่างคาดไม่ถึง ด้วย 5 เรื่องน่ารู้ต่อไปนี้

1. “เก่งที่สุด” ไม่ได้แปลว่า “เหมาะสมที่สุด”

ถึงแม้ว่าแต่ละสถาบันอาจมีเกณฑ์การคัดเลือกที่แตกต่างกันออกไป แต่หัวใจสำคัญของการคัดเลือกในรอบนี้ คือ การค้นหาผู้ที่มีคุณสมบัติที่ตรงกับความต้องการของแต่ละแห่ง ซึ่งคุณสมบัติที่ว่านี้ อาจไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด หรือเรียนได้เกรดเฉลี่ยสูงๆ เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่น้องๆ ต้องมีในรอบนี้ คือ การแสดงตัวตนที่ชัดเจน มีความต้องการที่จะเรียนต่อในสาขา คณะ สถาบันนั้นๆ รวมถึงความใฝ่ฝันในการประกอบอาชีพในอนาคต ที่ตรงกับองค์ความรู้ของสาขาที่สมัครเข้าคัดเลือก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จึงแปลว่า ก่อนอื่นน้องๆ จะต้องค้นหาตัวเองให้เจอ ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราว่าชอบอะไร ต้องการอะไร แล้วค่อยไปคิดต่อว่าอยากจะเรียนอะไร และอยากประกอบอาชีพอะไร ดังนั้น “คนเก่ง” อาจไม่ใช่คนที่เหมาะสมที่สุด และอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะในรอบนี้กำลังคัดเลือก  “คนที่เหมาะสมที่สุด” นั่นเอง

2. แฟ้มสะสมผลงานที่ดี จะต้องมี … (จุด จุด จุด)

เมื่อรู้ความต้องการของตัวเอง และมีตัวตนที่ชัดเชนแล้ว สเตปต่อไป คือ ทำอย่างไรให้แฟ้มสะสมผลงานของเรา เข้าตาคณะกรรมการมากที่สุด ซึ่งองค์ประกอบของการทำแฟ้มสะสมผลงานที่ดี จะช่วยให้น้องๆ มีโอกาสได้รับการคัดเลือกมากขึ้น เพราะองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้คณะกรรมการ สามารถรู้จัก เข้าถึง และเข้าใจตัวตนของเราได้ในระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่ได้หมายถึงแฟ้มที่ดูแพง หรือสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบด้วย 4 เรื่องโดนใจ! ได้แก่

  1. สาระสำคัญตรงตามข้อกำหนดของสาขาวิชา
  2. มีรายละเอียดที่แสดงประวัติและผลงานเด่นๆ อย่างครบถ้วน
  3. เรียบเรียงเก่ง กระชับเข้าใจง่าย ดูเป็นระบบ
  4. มีความคิดสร้างสรรรค์ ช่วยให้น่าอ่าน น่าสนใจ และน่าประทับใจ

3. รู้ไว้ไม่โป๊ะ! รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ต้องจำใส่ใจ

นอกจากองค์ประกอบที่ครบถ้วนแล้ว บางสาขา บางคณะ อาจมีรายละเอียดจุกจิกยิบย่อยที่แตกต่างไม่เหมือนใคร ซึ่งถ้าน้องๆ คนไหน สามารถทำแฟ้มออกมาได้ตรงตามเงื่อนไขได้อย่างครบถ้วน ก็ยิ่งสะท้อนความตั้งใจและทำให้คณะกรรมการประทับใจในความพยายามของน้องๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น กำหนดปริมาณว่าต้องไม่เกินกี่หน้ากระดาษ ให้ใช้ตัวอักษรได้ไม่เกินกี่คำ การพิมพ์ต้องใช้ฟอนท์อะไร ต้องใส่รูปถ่ายกิจกรรมหรือรางวัลหรือไม่ ขนาดกระดาษที่ให้เลือกใช้ เนื้อหาที่อยากให้ใส่เน้นลงไปเป็นพิเศษ หรือแม้แต่การกำหนดว่า ให้ผู้สมัครบรรจงเขียนด้วยลายมือของตนเอง

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่มีอยู่จริง และไม่ควรมองข้าม ซึ่งถ้าน้องๆ มีความใส่ใจ ละเอียดรอบคอบ รู้ไว้ไม่โป๊ะจะดีกว่า

4. คัดมาเน้นๆ คอนเทนต์ต้องบาดใจ

เป็นเรื่องที่น้องๆ หลายคนต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และลืมภาพการหอบแฟ้มเล่มโตๆ ไปโชว์ต่อหน้าคณะกรรมการไปได้เลย เพราะปีนี้ ทปอ.มีความปรารถนาดี อยากช่วยน้องประหยัดเงินในการทำแฟ้มสะสมผลงานให้ได้มากที่สุด จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการทำแฟ้มสะสมผลงานเพื่อยื่น TCAS62 ไว้ไม่เกิน 10 หน้ากระดาษ (ไม่รวมปก)

ดังนั้น สิ่งที่น้องๆ ต้องเตรียมให้พร้อม คือ การคัดเลือกสุดยอดผลงาน เรียบเรียงประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา บอกสิ่งที่ตนเองถนัด แรงบันดาลใจ และความต้องการของตนเอง “สิ่งสำคัญคือ การบอกให้คณะกรรมการเข้าใจ ว่าทำไมเราถึงอยากเรียนสาขา คณะ หรือสถาบันนี้มากที่สุด”

5. สายวิทย์-สายศิลป์ กินกันไม่ลง

บุคลิกภาพของผู้เรียนสายวิทย์และสายศิลป์ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน สะท้อนตัวตนและธรรมชาติของหลักสูตรการเรียนในแต่ละสาขา แต่ละคณะ ดังนั้น การออกแบบแฟ้มสะสมผลงานของผู้เรียนแต่ละสาย ไม่ว่าจะสายวิทย์หรือสายศิลป์ จะต้องสามารถบอกเล่าตัวตนของน้องๆ ให้ตรงกับบุคลิก ลักษณะของแต่ละกลุ่มวิชา รวมถึงแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคตได้ เพราะนั่นหมายถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจ ที่น้องๆ ต้องแสดงให้คณะกรรมการเห็น ซึ่งจะสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นกับตัวเรา และหมายถึงโอกาสที่จะได้รับการคัดเลือกก็จะมีมากขึ้นไปด้วย

เช่น หากต้องการเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะต้องมีเนื้อหาที่บอกเล่าความสนใจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ความรู้งานช่าง แนวคิดการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในทางธุรกิจ ในทางกลับกันหากน้องๆ ต้องการเรียนคณะอักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ก็ต้องมีการเล่าเรื่องที่สอดคล้องกับตัวตนของแต่ละคณะลงไป ให้รู้ว่าเราเหมาะกับการเรียนคณะนี้จริงๆ

ข้อเท็จจริงในรอบการยื่นแฟ้มสะสมผลงาน

“ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าเพื่อศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ในรอบการยื่นแฟ้มสะสมผลงานนั้น ส่วนมากคณะกรรมการจะคัดเลือกจากบุคคลที่มีประวัติผลงานที่น่าสนใจ มีความมุ่งมั่นที่จะหากิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายอาชีพในฝัน ซึ่งจะสะท้อนถึงความตั้งใจจริงของผู้เรียน ว่ามีความสนใจเกี่ยวกับสาขาวิชานั้นๆ จริง โดย ทปอ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเปิดรับสมัครในรอบแฟ้มสะสมผลงาน จะช่วยเพิ่มโอกาส สร้างความเท่าเทียมในระบบการศึกษาไทย และช่วยลดความกดดันให้กับน้องๆที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกๆ โดยไม่จำเป็นต้องสมัครคัดเลือกทุกรอบ ดังนั้น น้องๆ ต้องวางแผนอย่างรอบคอบ ขอให้น้องๆ ทุกคนโชคดี” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

บทความแนะนำ

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • phaitoon
    ขอให้สมหวังทุกคนครับ
    13 พ.ย. 2561 เวลา 16.44 น.
  • Na
    GPA เด็กรร ในกรุงเทพ ยากเย็นแสนเข็ญ คะแนนแต่ละคะแนนเลือดตาแทบกระเด็น
    13 พ.ย. 2561 เวลา 11.12 น.
  • ดีจ้า เห็นด้วยจ้า
    13 พ.ย. 2561 เวลา 05.48 น.
ดูทั้งหมด