ไลฟ์สไตล์

In Flower Lesson ศิลปินผู้วาดดอกไม้เพื่อส่งต่อความชื่นใจให้ทุกคน

a day magazine
อัพเดต 19 ก.พ. 2563 เวลา 12.18 น. • เผยแพร่ 19 ก.พ. 2563 เวลา 12.00 น. • ณัฐวดี คงแสง

ในสวนแห่งนี้มีดอกไม้บานสะพรั่ง

สวนที่ว่าคือสตูดิโอของ In Flower Lessonหรือ เมย์–นันทิชา ดิเรกวัฒนานุกุลนักวาดผู้ให้กำเนิดรูปวาดดอกไม้นานาพรรณที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยลายเส้นพลิ้วไหวเป็นธรรมชาติ สีสันสบายตา และรายละเอียดฝีแปรงที่ดูแล้วแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นงานวาดกราฟิก ให้ความรู้สึกอ่อนโยนและผ่อนคลายไม่แพ้ยามเห็นดอกไม้จริง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดอกไม้ของ In Flower Lesson ผลิบานได้ทุกที่ไม่ว่าจะในเพจและอินสตาแกรม บนกรอบรูปโพลารอยด์แสนน่ารัก แปลงกายไปอยู่บนสติกเกอร์และเทปกระดาษ เบ่งบานบนเสื้อผ้าหลากหลายแบรนด์ เช่น Pudee และ beaubadin ไปจนถึงเป็นแพ็กเกจเครื่องสำอาง Sirinn.cosmetics และ BUM BUM baby นอกจากนี้เมย์ยังเป็นหนึ่งใน 15 ศิลปินที่ร่วมสร้างงานศิลปะอินเทอร์แอ็กทีฟในงาน Museum of Me ที่ห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรียมอีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

และตอนนี้เธอกำลังนำสวนดอกไม้ของเธอไปอวดโฉมในงาน Glowfish Creators’ Lab ที่ Glowfish Office สาทรตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม – 29 กุมภาพันธ์ 2563 อีกด้วย

ในวันที่ฝุ่นลงหนา เราเลยขอหนีไปเที่ยวชมเมืองดอกไม้ของเธอให้ชื่นใจและคุยกับเจ้าของสวนผู้ปลูกดอกไม้ด้วยเหตุผลที่ฟังแล้วทำให้ใจของเราพองฟู

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

เดินทางสู่ดอกไม้

“ดอกไม้เป็นรูปที่วาดแล้วทำให้เรารู้สึกสบายใจ”

หญิงสาวตอบด้วยรอยยิ้มเมื่อเราถามถึงความหลงใหลในดอกไม้ที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเธอ ก่อนเริ่มเล่าถึงเส้นทางดอกไม้ซึ่งมีการเดินทางเป็นจุดเริ่มต้น

ย้อนไปเมื่อปี 2014 เมย์ใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปเรียนศิลปะไกลถึงประเทศอังกฤษ การเดินทางครั้งนั้นมีอิทธิพลต่องานของเธออย่างเห็นได้ชัด จากที่มักใช้สีเอิร์ทโทนในการวาดรูป เมื่อกลับมาสไตล์งานของเธอก็เปลี่ยนแปลง

“เราไปอยู่ที่เมืองลิเวอร์พูลกับเบอร์มิงแฮมซึ่งมีธรรมชาติเยอะ วันเสาร์-อาทิตย์ก็ชอบออกไปเดินเล่นคนเดียว ดูรอบตัวไปเรื่อย ตอนที่กลับมาจากอังกฤษใหม่ๆ เพื่อนจะทักว่างานเราเปลี่ยนไป กลายเป็นสีเขียว สีธรรมชาติ” หญิงสาวเล่าพลางหยิบชิ้นงานจากช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านให้ดู

“งานช่วงแรกๆ ของเราคือการตัดกระดาษเพราะเราชอบงานคราฟต์และยังไม่รู้จักอุปกรณ์อื่นด้วย ชิ้นนี้เป็นงานที่ทำส่งอาจารย์ที่นั่น เราได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ Peter Rabbit เลยทำผลงานให้เป็นเหมือนเรือนกระจกด้วยการเอาดอกไม้มาสแกนและพิมพ์ออกมาจัดวางบนหนังสือมือสองอีกที

“ตอนหลังพอได้ลองวาดดอกไม้ด้วยตัวเองเราก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราวาดได้ดี เราชอบดอกไม้ที่วาดขึ้นมาเองมากกว่าด้วย คงคล้ายๆ กับการเก็บดอกไม้แห้งของคนอื่นแหละ แต่เราแค่เก็บมันในรูปแบบงานของตัวเอง”

แม้การเดินทางจะมีผลต่องานของเธอ แต่จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของนักวาดในนาม ‘In Flower Lesson’ กลับถือกำเนิดขึ้นจากห้องเรียนเล็กๆ ของวิชา Textile เมื่อครั้งที่เธอยังเป็นนิสิตสาขาแฟชั่นและสิ่งทอ ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มวลดอกไม้ สัตว์เล็กในป่าใหญ่ และเด็กผู้หญิงคือลวดลายที่ปรากฏในผลงานชิ้นแรกของเธอ

“โจทย์ของอาจารย์คือให้นำศิลปินที่ชอบมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน เพราะเราชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก บวกกับตอนนั้นตามงานศิลปินญี่ปุ่นหลายคนซึ่งส่วนใหญ่จะวาดภาพที่เข้าใจง่าย เราเลยลองดึงสไตล์เขามาลองดูจนออกมาเป็นชุดเดรสพิมพ์ลาย

“ช่วงนั้นเพื่อนในคณะเริ่มสร้างเพจไว้ลงผลงานของตัวเอง เราเลยเริ่มทำบ้าง ตอนที่นั่งคิดชื่อกับเพื่อน เราคิดถึงคำว่า lesson ที่แปลว่าบทเรียน เรารู้สึกว่ามันน่าจะครอบคลุมทุกสิ่งอย่างในชีวิต บวกกับช่วงนั้นเราอินกับธรรมชาติเลยใช้คำว่า flower ก็แล้วกัน”

นับตั้งแต่วันนั้น สวนดอกไม้ที่ชื่อ In Flower Lesson จึงเริ่มเบ่งบาน

 

แตกหน่อและผลิบาน

หลังจากเรียนจบ เมย์เริ่มทำงานประจำในฐานะกราฟิกดีไซเนอร์ซึ่งช่วยดูแลเรื่องลายผ้าให้กับแบรนด์เสื้อผ้าของไทยแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันเธอก็ยังคงวาดรูปดอกไม้ลงเพจของตัวเองบ้างเป็นครั้งคราว

“ด้วยความที่เราชอบงานคราฟต์มาก ตอนแรกเราเลยแอบต่อต้านวิธีวาดดิจิทัลนิดหนึ่ง” เธอแอบกระซิบบอก “เราเป็นคนผสมสีไม่เก่ง แต่ถ้าวาดในโปรแกรมจะมีชุดสีให้อยู่แล้ว เราเองก็มีชุดสีของเราที่คิดในหัว เลยวาดในคอมพิวเตอร์แทนก็ตอบโจทย์ดี ทุกงานเราจะใช้ชุดสีแค่นี้เพราะมองว่าชุดสีเป็นส่วนที่ทำให้งานของเรามีเอกลักษณ์”

แม้งานกราฟิกจะต่างจากงานทำมือ แต่ความชอบดอกไม้ ความหลงใหลในองค์ประกอบอย่างรูปร่างและเนื้อสัมผัสของวัตถุกลับทำให้เมย์ยิ่งใส่ใจในการสังเกตและถ่ายทอดสิ่งที่เธอเห็นออกมาผ่านงานแต่ละชิ้น

“อย่างแดนดิไลออนดอกนั้นน่ะ” เมย์พูดพลางชี้ให้ดูหนึ่งในภาพดอกไม้ที่ติดอยู่ตรงฝาผนังห้อง “เราสังเกตว่ากลีบดอกสีเหลืองเป็นกลีบเล็กๆ ยาวๆ เราก็ค่อยๆ วาดเป็นเส้นๆ ซึ่งส่งผลให้มันดูเหมือนดอกจริงๆ หรือเราสังเกตเงาใบไม้ว่ามันตกกระทบตรงไหน ใบแขนงของแต่ละใบก็ไม่เหมือนกัน เวลาวาดสัตว์เราต้องดูว่ามันขยับร่างกายยังไงใช่ไหม ดอกไม้ก็เหมือนกัน เรามองว่าดอกไม้คือรูปร่างแบบหนึ่ง เราชอบรูปร่างของมันเลยวาดออกมา

“ส่วนใหญ่เราจะชอบวาดดอกไม้เป็นดอกเล็กๆ แยกกันแล้วเอามาจัดวาง บางดอกก็ถ่ายรูปไว้เวลาเห็นตามข้างทาง บางดอกก็คิดขึ้นมาใหม่เลย เวลาเราวาดดอกไม้ เรารู้สึกว่ามันออกมาโดยธรรมชาติ อยากใส่สีอะไรเข้าไป ชอบดอกอะไรก็วาดออกมา จะทำยังไงก็ได้ วาดสวยไม่สวยไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะทุกคนมีสิทธิจะสร้างงานศิลปะ”

แม้ห่างหายจากงานคราฟต์ กระดาษ และการปักผ้าไปนาน แต่เมย์ก็ยังรักษากลิ่นอายความคราฟต์ที่เธอชอบผ่านการวาดลวดลายแบบงานคราฟต์ลงไปในรูปวาดอยู่บ่อยครั้ง เช่น ลาย Folk Heart ซึ่งเป็นลวดลายจากการตัดกระดาษตามศิลปะพื้นบ้านของชาวยุโรป และลวดลายการเย็บแบบ blanket stitch ซึ่งเป็นลายตะเข็บปักริมผ้า จนทั้งสองลายกลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของเมย์

ด้วยลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์และความใส่ใจในรายละเอียดทำให้เหล่าแบรนด์เสื้อผ้าเริ่มเข้ามาทาบทามเมย์ให้ร่วมออกแบบลายเสื้อผ้า ก่อนจะขยับขยายไปสู่งานวาดภาพประกอบให้ผลิตภัณฑ์ความงาม เครื่องเขียน และอีกหลากสินค้าที่ให้พื้นที่นานาดอกไม้ในสวน In Flower Lesson ได้เบ่งบาน ก่อนที่เธอจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อเตรียมตัวไปเรียนต่อ

ช่วงนี้เองที่งานวาดภาพประกอบและโปรเจกต์ต่างๆ แวะเข้ามาทักทายเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีเมย์ก็สนุกกับโลกดอกไม้แห่งนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้นและผันตัวมาเป็นนักวาดภาพประกอบเต็มตัวในปัจจุบัน

 

ดอกไม้เพื่อความสบายใจ

“ทุกอย่างเริ่มมาจากตัวเราเองทั้งนั้น เราคิดภาพในหัวก่อนแล้วอยากวาดอะไรก็วาดเลย ลุย” เธอหัวเราะเมื่อเล่าถึงเคล็ดไม่ลับในการทำงาน

“อย่างงานที่ออกแบบให้กับสินค้าหรือเป็นโปรเจกต์ที่เข้าไปร่วม ถึงจะมีการกำหนดมาว่าอยากได้อะไรในงานบ้างแต่ก็ยังมีพื้นที่ให้เราใส่ความเป็นตัวเองลงไปได้ เราจะเริ่มจากคิดไอเดีย หาตัวอย่างแล้วทำมู้ดบอร์ด สนุกที่สุดคือตอนได้คิดอะไรใหม่ออกมาและลงมือทำ”

เมย์เสริมด้วยน้ำเสียงสดใสว่าเธอสนุกกับการจัดวางภาพดอกไม้แต่ละดอกลงบนผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ต่างๆ ไม่แพ้งานส่วนตัวของเธอเอง โดยเฉพาะการทำลายผ้าที่เธอพูดถึงด้วยแววตาเป็นประกาย

“เราชอบเวลาเอาภาพมาต่อกันให้เป็นรูปร่าง ดูกระจัดกระจายและน่ารักมาก การต่อลายผ้าเป็นงานที่อาศัยการจัดวางซึ่งทำได้หลายแบบ บางอันวางกระจัดกระจาย บางอันก็วางเป็นอิฐบล็อก ไหนจะต้องกำหนดขนาดว่าจะให้แต่ละลายใหญ่เล็กแค่ไหน มันสนุกนะ“

จากความสนุกในการต่อลาย เมย์นำดอกไม้ที่ชอบอย่างดอกแพนซี่และทิวลิปมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ สมุด สติกเกอร์ เทปกระดาษ โปสต์การ์ด กรอบรูปโพลารอยด์ และสารพัดของกุ๊กกิ๊กจึงเกิดขึ้นด้วยความอยากใช้เองล้วนๆ โดยมีความใส่ใจผสม โดยเฉพาะเรื่องเนื้อสัมผัสที่เธอบรรจงเลือกผ่านวัสดุที่ใช้ในการพิมพ์งาน

“เรื่องเนื้อสัมผัสมันอยู่กับทุกอย่างและทำให้งานน่าสนใจขึ้นนะ เราเลือกได้ว่าอันนี้ดีหรือไม่ดี แค่เปลี่ยนจากกระดาษอาร์ตการ์ดไปเป็นกระดาษปอนด์ คนที่ซื้องานไปก็รู้สึกต่างกันแล้ว” เมย์เสริมพลางยื่นการ์ดแผ่นหนึ่งซึ่งมีทิวลิปหลากสีเบ่งบานอยู่ในเส้นขอบกระดาษที่บรรจงตัดตามเส้นและรูปร่างของภาพวาดให้เราดู 

“อย่างการ์ดไดคัตแบบนี้ในไทยยังไม่ค่อยมีคนทำ เราก็ต้องไปควานหาร้านที่รับทำมาให้ได้ คุยกันอยู่หลายครั้งกว่าจะได้กระดาษที่ตรงสเปก”

ก่อนจากกัน เราถามหญิงสาวถึงเหตุผลที่เธอพิถีพิถันในทุกขั้นตอนของการสร้างสรรค์ดอกไม้เหล่านี้ เมย์ยิ้มแล้วตอบด้วยแววตาสดใสเช่นเคย

“เราคิดว่าดอกไม้เป็นสิ่งแทนใจ ไม่ว่าคนจะป่วยหรือรักกันก็ให้ดอกไม้แก่กัน เรารู้สึกว่ามันไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นดอกไม้ๆ จริงๆ เท่านั้น เลยพยายามทำให้เป็นงานที่สามารถมอบให้กันได้ สะสมได้ แทนใจได้เหมือนกัน”

แสงอ่อนจากนอกหน้าต่างส่องเข้ามากระทบ ขับให้เห็นการ์ดช่อดอกทิวลิปที่หญิงสาวยื่นมาให้

“ดอกไม้คือสิ่งสวยงามที่มาจากธรรมชาติ เราวาดแล้วรู้สึกสบายใจ ก็อยากให้คนที่เห็นรู้สึกแบบเดียวกัน”

เรายื่นมือไปรับช่อดอกไม้

ดอกไม้ที่ยังคงเบ่งบานต่อไป ในสวนสวยที่ชื่อ In Flower Lesson

Highlights

  • In Flower Lesson หรือ เมย์–นันทิชา ดิเรกวัฒนานุกุล คือนักวาดภาพประกอบผู้วาดดอกไม้ใบหญ้าต่างๆ เป็นงานหลักโดยมีความตั้งใจเพื่อส่งมอบความสบายใจให้ผู้รับ

  • จุดเริ่มต้นของIn Flower Lesson เกิดขึ้นเมื่อเมย์ไปเรียนศิลปะช่วงปิดเทอมฤดูร้อนที่อังกฤษและใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติเยอะขึ้น เมื่อกลับมาเมืองไทย ทุกคนต่างทักว่าการใช้สีสันในงานของเธอเปลี่ยนไป รวมทั้งยังมีดอกไม้โผล่ขึ้นมาเต็มไปหมด

  • ที่ผ่านมาดอกไม้ของIn Flower Lesson เบ่งบานในหลายพื้นที่ทั้งโปสต์การ์ด เทปกระดาษ กรอบรูปโพลารอยด์ เสื้อผ้า ไปจนถึงขวดน้ำ ซึ่งมีแบรนด์ต่างๆ ติดต่อมาขอร่วมงานกับเธออยู่เสมอ

ดูข่าวต้นฉบับ