ทั่วไป

'หมอจุฬา' แจงผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใน 1 ปีเป็นเรื่องยาก 

กรุงเทพธุรกิจ
เผยแพร่ 26 ก.พ. 2563 เวลา 09.45 น.

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 63 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 โดยเนื้อหาระบุว่า…

โควิด 19 กับความหวังเรื่องวัคซีน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากการระบาดอย่างมากของ โรคโควิด 19 สิ่งที่ทุกคนรอคอยคือ วัคซีน ป้องกันโรค ความเป็นไปได้ในการทำวัคซีน ในการใช้ป้องกัน

ถ้าเราใช้วิธีเดิมที่เคยทำกันอยู่เช่น

1 วัคซีนที่มีชีวิต เป็น วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ Live attenuated vaccine วิธีการนี้ยังคงห่างไกลเพราะต้องใช้เวลาคัดเลือกหาสายพันธุ์ที่ไม่ทำให้เกิดโรค และมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคโควิด 19 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

2 วัคซีนเชื้อตาย inactivated vaccine เอาเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ มาทำให้ตาย แล้วให้กับผู้ป่วยเพื่อสร้างภูมิต้านทาน ปัญหาของวัคซีนชนิดนี้ เนื่องจากไวรัสตัวนี้ เป็นสายพันธุ์ใหม่ ก่อโรครุนแรง ในการผลิตจะต้องใช้ระดับความปลอดภัยที่สูง ในการเพาะเชื้อเพิ่มจำนวน จึงเป็นการยากในการลงทุน เพราะจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

3 recombinant vaccine เป็นการตัดส่วนหนึ่งของยีน เข้าให้กับสิ่งมีชีวิตเช่นแบคทีเรีย ยีสต์ สร้างโปรตีนขึ้นมา ที่เป็นส่วนสำคัญของแอนติเจน แล้วเอาส่วนนั้นมาทำเป็นวัคซีน เช่นวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ข้อสำคัญของโรคโควิด 19 เราจะต้องรู้ว่าส่วนไหนของไวรัส ที่มีความสำคัญในการกระตุ้นภูมิต้านทาน ขณะนี้ทุกคนรู้ว่า น่าจะเป็นส่วน Spike gene ที่เป็นหนามแหลมออกมา

แนวทางการคิดวัคซีนสำหรับโรคโควิด 19 จึงต้องเป็นแนวทางใหม่ที่ทำได้ง่าย และรวดเร็ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1 mRNA vaccine และ DNA vaccine ใช้อนุพันธ์ของอาร์เอ็นเอหรือดีเอ็นเอ ที่ให้แปลโค้ดสร้างโปรตีน ในส่วนที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 แล้วให้เซลล์ของร่างกายเราสร้างโปรตีนตัวนี้ขึ้นมาเพื่อป้องกันโรค mRNA วัคซีน อาจจะเหนือกว่า DNA vaccine เพราะสลายไปเองได้ วัคซีนชนิดนี้ก็ยังอยู่ในขั้นทดลองในหนู ถ้าจะนำมาใช้ในคน ก็คงจะต้องอีกหลายขั้นตอน คงใช้เวลาเป็นปี ถึงแม้ว่าขั้นตอนในการผลิตจะทำได้ง่ายมาก

2 อนุภาคเทียม Pseudovirus เป็นการใช้ไวรัสไม่ก่อโรค แล้วฝากส่วนหนึ่งของไวรัสที่ก่อโรคเข้าไป เป็นส่วนหนึ่งของตัวไวรัสที่ เรียกว่า Pseudovirus วัคซีนชนิดนี้ที่มีการทดลองใช้ในคน ขณะนี้ คือวัคซีนที่ใช้ป้องกันอีโบล่า ที่กำลังรอประเมินผลในประเทศคองโก

3 วัคซีนชนิดรับประทาน มีข่าวออกมาว่า จีนสามารถผลิตวัคซีนชนิดรับประทาน เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก นักวิทยาศาสตร์สามารถ ที่จะฝากส่วนหนึ่งของไวรัสเข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ ยาสูบ มะเขือเทศ หรือแม้กระทั่ง กล้วยหอม แต่สิ่งสำคัญ ส่วนของโปรตีนที่สิ่งมีชีวิตใหม่สร้างให้นั้นจะต้องมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ โรคโควิด 19 เป็นโรคที่ติดต่อทางเยื่อบุทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ก็มีความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าแอนติเจนนี้สามารถกระตุ้นเยื่อบุ ให้มีภูมิคุ้มกันปกป้องไม่ให้ไวรัสนี้เข้าไปติดเชื้อได้ 

อย่างไรก็ตาม การทำในห้องปฏิบัติการสามารถทำได้แน่นอน แต่ยังต้องผ่านขั้นตอนการศึกษาในสัตว์ทดลอง ความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ประสิทธิภาพในการป้องกันในสัตว์ทดลอง แล้วจึงเริ่มเข้ามาศึกษาในมนุษย์ โดยศึกษาความปลอดภัยในมนุษย์ 

ผลของการกระตุ้นภูมิต้านทานในมนุษย์ และประสิทธิภาพในการป้องกันโรค จะเห็นว่าขั้นตอนแต่ละลำดับ ต้องใช้เวลาทั้งนั้นจึงเป็นการยากที่จะทำวัคซีนให้ได้ภายใน 1 ปี เรามักจะได้ยินในบ้านเราเสมอว่า เราจะผลิตยาได้ภายใน 4 ปี มักจะเป็นการกล่าวอ้างที่เกินความเป็นจริง

เมื่อเกิดโรคระบาดร้ายแรง ทางการจีนได้มีการทุ่มเทระดมนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก เครื่องไม้เครื่องมือ และเงินทุน ที่จะต้องเอาชนะกับโรคร้ายนี้ให้ได้ ผมเองก็มีความเชื่อว่าวัคซีนที่จะผลิตโดยจีนน่าจะสำเร็จก่อนทางตะวันตกแน่นอน

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 7
  • หมอคนนี้ทายผิดตลอด ตั้งแต่เริ่มไวรัสโคโรน่า
    26 ก.พ. 2563 เวลา 12.13 น.
  • BUBUOFFICIAL
    ขอให้ทุกอย่างมีทางออกครับ
    26 ก.พ. 2563 เวลา 12.08 น.
  • Amom
    เค้าว่า บ. ยาในสหรัฐผลิตได้แล้ว กำลังทดลองกับคนอยู่
    26 ก.พ. 2563 เวลา 12.20 น.
  • Noble Eightfold Path
    ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน จีนอาจทำได้เกินกว่าที่ความคิดในอดีต
    26 ก.พ. 2563 เวลา 13.52 น.
  • สู้โว้ย! ทนอยู่กับมันอีกอย่างน้อย 1 ปีว่ะ
    26 ก.พ. 2563 เวลา 15.51 น.
ดูทั้งหมด