ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

50 ปี สายส่งไทย-ลาว สร้างความมั่นคงไฟฟ้าอาเซียน

Thai PBS
อัพเดต 16 ธ.ค. 2561 เวลา 11.28 น. • เผยแพร่ 16 ธ.ค. 2561 เวลา 11.28 น. • Thai PBS

แม้ช่วงปีที่ผ่านมาลาวประสบปัญหาเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย ที่อยู่ระหว่างทดสอบระบบแตก จนสร้างความเสียหายอย่างหนัก แต่ลาวยังต้องการเดินหน้านโยบายแบตเตอรี่ออฟเอเชียต่อไป และไทยพร้อมเป็นทางผ่านไฟฟ้าสำคัญ ที่ทำให้เป้าหมายของลาวสำเร็จ ด้วยโครงสร้างสายส่งไฟฟ้าเชื่อมไทยกับลาวที่เริ่มต้นไว้ตั้งแต่ 50 ปีก่อน

ผู้แทนการไฟฟ้าสองประเทศไทยและลาว ลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือ เอ็มโอยู ปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าที่ซื้อขายระหว่างกัน ให้กำหนดแบบปีต่อปี สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง จากเดิมที่ใช้อัตราคงที่มาหลายสิบปี สำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าน้ำงึม 1 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเซเสด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากจะเป็นเอ็มโอยู 1 ใน 7 ฉบับ ที่ทำร่วมกันในโอกาสประชุมร่วมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐบาลสองประเทศแล้ว ยังเป็นการรำลึก 50 ปีสายสัมพันธ์ สายส่งไฟฟ้า ไทยและลาว

ไทยและลาวเริ่มต้นความสัมพันธ์ด้านไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2508 จากการขาดแคลนพลังงานในลาว ที่ไทยเสนอความร่วมมือโครงการสร้างเขื่อนพลังน้ำในลาว 150 เมกะวัตต์ และเกิดข้อตกลงที่ลาวจะขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ให้ไทย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กระทั่งในวันที่ 16 ธ.ค.2511 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าชีวิตศรีสว่างวัฒนา แห่งราชอาณาจักรลาว ทรงกดปุ่มเปิดสายส่งไฟฟ้าแรงสูงข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งไทยที่ จ.หนองคาย ไปนครหลวงเวียงจันทร์ นับเป็นจุดเริ่มต้น จากสายส่งจุดแรกที่เชื่อมกันวันนั้น ปัจจุบันมีการลงทุนร่วมกัน 14 จุด และทำความตกลงขยายการรับซื้อไฟฟ้า เป็น 9,000 เมกะวัตต์

คำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ระบุว่า ปัจจุบันทางการลาวกำลังรอฟังการปรับแผนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (PDP) ของประเทศไทยอยู่ว่ามีความต้องการมากเท่าใด ขณะที่ปัจจุบันไทยและลาวใช้ไฟฟ้าร่วมกันเกือบ 7,000 เมกะวัตต์ แต่ต่อไปคาดการณ์ว่าการพัฒนาและขยายตัวของประเทศจะยิ่งมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ต่อไปก็จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สปป.ลาว มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้า 20,000 เมกะวัตต์ ในอีก 7 ปีข้างหน้า รัฐบาลลาวยังมองว่าศักยภาพผลิตไฟฟ้าในอนาคตมากถึง 30,000 เมกะวัตต์ แม้ไทยจะลงทุนและซื้อไฟฟ้าจากลาวมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ด้วยนโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนของไทย ที่ให้ครัวเรือน ชุมชน หน่วยงานผลิตไฟฟ้าเองมากขึ้น อาจทำให้การซื้อไฟฟ้าจากลาวไม่ขยายตัวมากอย่างที่ลาวหวัง

ไทยกับลาวกำลังเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการส่งไฟฟ้าผ่านไทย ไปยังประเทศที่สามแทน และได้เริ่มต้นด้วยการทำสัญญาซื้อขายขายไฟฟ้าให้มาเลเซียผ่านไทย ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ มาแต่เดือนมกราคม 2561 และอาจเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ในอีกไม่ช้า เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่จะมีโอกาสส่งผ่านทางไทยและมาเลเซีย อีกด้านหนึ่ง เตรียมส่งผ่านไทยทาง อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อไปเมียนมา

ด้าน ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า เรามีกำลังการผลิตมากเกินกว่าความต้องการของประเทศไทย ดังนั้น นอกจากให้ลาวผลิตเพื่อขายให้ไทยอย่างเดียวไม่เพียงพอ จึงได้พูดคุยกับลาวว่าจะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่จะต้องมีสายส่งที่แข็งแรง จึงต้องมีการลงทุนในสายส่งเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ระหว่างภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อความั่นคงของภูมิภาคด้วย

ทั้งนี้ การเปลี่ยนจากแค่ซื้อขายไฟฟ้ากลายเป็นผู้เชื่อมโยงระบบของไทย ทำให้ไทยไม่มีปัญหาขาดแคลน และได้ใช้ไฟในราคาไม่แพง ขณะเดียวกันยังมีบทบาทในภูมิภาค ในการเกื้อกูลระหว่างประเทศมากขึ้น

 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • kongnattapol
    ประเทศไทยเองก็มีศักยภาพมากพอที่จะผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอภายในประเทศโดยใช้แหล่งพลังงานต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าจากขยะฯ เราควรส่งเสริม สนับสนุนโครงการเหล่านี้ครับ
    16 ธ.ค. 2561 เวลา 14.46 น.
  • Noom Unipower01
    แทนที่จะสนับสนุนคนในชาติ กลับไปสนับสนุนต่างชาติก่อน ประเทศไทยน่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกมากมาย แต่ไม่อยากให้ศึกษา(เพราะกลัวค่าไฟฟ้าจะถูกลงมั้ง)
    16 ธ.ค. 2561 เวลา 13.39 น.
  • JeaB 🐥
    ในไทยผู้ประกอบการรายย่อยที่พร้อมผลิตกระแสไฟส่งภาครัฐทำไม ถึงไม่สนับสนุนให้เต็มที่ ทำไมต้องซื้อจากต่างประเทศก่อน ถ้าคนไทยไม่ช่วยคนไทยด้วยกันเองก่อนแล้วประเทศจะยืนยันสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไหร่
    16 ธ.ค. 2561 เวลา 13.18 น.
ดูทั้งหมด