ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา 8 ล้านโดส บูสต์เข็ม3 ปี’65 เปิดองค์กร-อปท.จอง ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 14 กันยายน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ แซดพี เทอราพิวติกส์ (ZP Therapeutics) หน่วยธุรกิจภายใต้ ซิลลิค ฟาร์มา ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพชั้นนำในเอเชีย ในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา (Covid-19 Vaccine Moderna) จำนวน 8 ล้านโดส (100 ไมโครกรัม/โดส) สำหรับการใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนในปี 2565 โดยจะจัดสรรวัคซีนผ่านองค์กรนิติบุคคลประเภทต่างๆ ตามนโยบายข้อกำหนดของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คาดว่าการจัดส่งครั้งแรกจะส่งมอบได้ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2565 และจะทยอยส่งจนถึงไตรมาสที่ 3
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็น 1 ใน 5 หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสนับสนุนภารกิจสำคัญในการยับยั้งและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือการช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้โดยเร็วที่สุด ผ่านการนำเข้า จัดสรร และกระจายวัคซีนตัวเลือกไปสู่กลุ่มองค์กรนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถานพยาบาลเพื่อกระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสทั่วทุกภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้มุ่งเน้นด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบอีกด้วย
“วัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ลงนามสัญญานำเข้ามาเป็นวัคซีนตัวเลือกชนิดที่ 2 โดยเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจากการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 สูงถึง 94.1% อาการข้างเคียงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เช่น อาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง การแพ้รุนแรง พบประมาณ 2.5 ราย ต่อ 1 ล้านโดส หรือรายงานการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบของวัคซีนชนิด mRNA พบได้น้อย อยู่ที่ 12 ราย ต่อ 1 ล้านโดส ในประเทศสหรัฐอเมริกา และส่วนมากสามารถรักษาได้ นอกจากนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นของการใช้วัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นา เป็นเข็มกระตุ้น (Booster Dose ปริมาณขนาด 50 ไมโครกรัม) ต่อสายพันธุ์เบต้า แกมมา และเดลต้า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงถึง 32 เท่า, 43.6 เท่า และ 42.3 เท่า ตามลำดับ” ศ.นพ.นิธิ กล่าว
ส่วนการวิจัยในประเทศไทยนั้น ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยฯ จะทำควบคู่กันไป เพื่อยืนยันผลกระตุ้นอย่างเป็นระบบในสภาพแวดล้อมของประเทศตั้งแต่ปลายปีนี้ ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยฯ มีแผนที่จะจัดสรรและกระจายวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นาให้แก่กลุ่มองค์กรนิติบุคคล อปท. รวมถึงสถานพยาบาล ตลอดจนกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่เคยได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยฯ เป็นกลุ่มแรกก่อน
เนื่องจากประชาชนในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นต้นมา โดยเป็นทางเลือกอีกตัวหนึ่งที่จะใช้วัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และฉีดเพียง 1 เข็ม (ปริมาณ 50 ไมโครกรัม) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งจัดเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น โดยจะเปิดให้องค์กรนิติบุคคลประเภทต่างๆ ยื่นจองขอรับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาในช่วงเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป และจะมีการกำหนดราคาขาย พร้อมประกันภัยคุ้มครองผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาในราคาเดียวกันทั่วประเทศต่อไป
ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า คาดว่าการจัดส่งครั้งแรกจะส่งมอบวัคซีนได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมปี 2565 สำหรับความร่วมมือกับ ซิลลิค ฟาร์มา ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญและความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด และขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
winai🐷 เมืองไทยเป็นอะไรที่มันบิดเบี้ยวไปหมดแล้ว
14 ก.ย 2564 เวลา 10.41 น.
Pin🌸 ทำไมต้องขาย ทำไมไม่เอาภาษีไปซื้อแล้วมาฉีดให้ฟรี ไม่เข้าใจ
ทำเรื่องง่าย ให้เป็นเรื่องยาก
ทำเรื่องยาก ให้กลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
น่าเบื่อ
14 ก.ย 2564 เวลา 10.30 น.
อภิสิทธิ์ สบายใจจ้า หมอบกราบกันไปนะ
14 ก.ย 2564 เวลา 10.35 น.
vud ประชาชนที่จ่ายเงินสั่งจองกับเอกชน
จ่ายเงินไปครึ่งปีแล้วก็รอไปจ้าาาาาา
14 ก.ย 2564 เวลา 09.48 น.
Pilot guide เส้นใหญ่ซะอย่าง งานนี้ถั่วปากอ้ารับเต็มๆ
14 ก.ย 2564 เวลา 10.58 น.
ดูทั้งหมด