มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง
เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ
ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุง
กระทรวง ทบวง กรม อยู่ในกำกับดูแลของรัฐบาล
มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์ และพัฒนาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง
ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ระหว่างปี ๒๕๓๔ – ๒๕๓๖
ประชาชนชาวเชียงรายได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับสูง
ขึ้นในจังหวัด มีการระดมความคิดเห็นการจัดการประชุมสัมมนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเชียงรายปี พ.ศ. ๒๕๓๖-๒๕๔๕ ขึ้นเป็นฉบับแรก
ซึ่งเกิดจากการระดมความคิดเห็นร่วมกันระหว่างภาคราชการ ภาคเอกชนและประชาชน
โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไว้ 3 ทิศทางด้วยกัน หนึ่งในสามทิศทางนั้น คือ
“การศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”
ซึ่งไม่เฉพาะจังหวัดเชียงรายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชากรในจังหวัดภาคเหนือตอนบน
ตลอดจนประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย
ปี ๒๕๓๗
มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย
มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการหารูปแบบและวิธีดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัย
ซึ่งสรุปได้ในขณะนั้นว่าน่าจะมี หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ยกสถาบันราชภัฏขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ เป็นต้น
๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๘
เมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต
คณะกรรมการ รณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัยร่วมกับหน่วยราชการจังหวัดเชียงรายได้ประชุมปรึกษาหารือ
และเห็นพ้องต้องกันว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวง ต่ออาณา ประชาราษฎร์ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย
ที่ทรงใช้เป็นสถานที่สร้าง พระตำหนักและทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น
ซึ่งนำความ เจริญรุ่งเรืองมายังจังหวัดเชียงรายและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง
ฉะนั้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีและเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงสมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ตลอดจนเพื่อสนองพระราชปณิธาน ของพระองค์
ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้ง การพัฒนาคน
จึงได้จัดทำโครงการเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งมหาวิทยาลัย ขึ้นที่จังหวัดเชียงราย
๔ มีนาคม ๒๕๓๙
นายณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มุ่งหวัง และสนับสนุน
ที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ได้เป็นผู้ ประสานงาน
โดยนำคณะกรรมการรณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และสื่อมวลชน
เข้าพบ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้เสนอเหตุผลและความจำเป็น
ที่ขอจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงรายต่อนายกรัฐมนตรี
ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นได้ไปพบ นายบุญชู ตรีทอง
ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งปลัดและรองปลัด ทบวงมหาวิทยาลัย
เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการดังกล่าว
๒๗ เมษายน ๒๕๓๙
ทบวงมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการวิเคราะห์เกี่ยวกับการยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงราย
ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แล้วสรุปว่า มีความเป็นไปได้พร้อมทั้งได้ดำเนินการศึกษา
เพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินงานระบบบริหารและระบบวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
มาตามลำดับ ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
โดยยกฐานะสถาบันราชภัฏ เชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยต่อคณะรัฐมนตรี
๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๙
คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการ ตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
และให้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่าง
ต่อมาได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
เป็นผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฉบับนี้ไม่ได้รับการพิจารณา
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐
คณะกรรมการกลั่นกรองงานฝ่ายสังคมของรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี
มอบให้ทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใหม่
โดยไม่ยกฐานะ สถาบันราชภัฎเชียงรายเป็นมหาวิทยาลัย
๑๘ กันยายน ๒๕๔๐
ทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวงฉบับใหม่
เสนอต่อคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เห็นชอบในหลักการ
ตามร่างพระราชบัญญัติที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา
พิจารณาตรวจร่างและดำเนินการ ตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป
และแต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
เป็นประธาน คณะกรรมการ จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อดำเนินการต่างๆ ให้เรียบร้อย
และเสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งให้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ
เพื่อ ดำเนินการได้ตามความเหมาะสม การดำเนินการจัดตั้งจึงเริ่มตั้งแต่บัด นั้น
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐
มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงราย นายสุขวิช รังสิตพล
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น
ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้มีมติอนุมัติให้ใช้พื้นที่บริเวณดอยแง่ม จำนวน ๔,๙๙๗ ไร่
เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ขณะเดียวกันคณะกรรมการของจังหวัดเชียงรายร่วมกับ
มูลนิธิส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาจังหวัดเชียงราย ได้รณรงค์หาทุนทรัพย์
เพื่อเป็นค่าทำถนนเข้ามหาวิทยาลัย และเพื่อชดเชยค่าที่ดินที่มีผู้ครอบครองอยู่ในบริเวณนั้นด้วย
๒๖ มีนาคม ๒๕๔๑
ชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่า ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านตำบลแม่ข้าวต้ม
ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด นับหมื่นคน ได้ร่วมกันนำมีด พร้า จอบ เสียม และเครื่องจักรมาบุกเบิกทางเข้ามหาวิทยาลัยบริเวณดอยแง่มเป็นปฐมฤกษ์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณมหาวิทยาลัย
ในโอกาสวันสำคัญต่างๆ หลายครั้ง การเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้คืบหน้าเป็นลำดับ
๒๕ กันยายน ๒๕๔๑
มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้น และรัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณ
เพื่อการเตรียมการในเบื้องต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๓๙ และในปี ๒๕๔๑ นี้
พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณไร่ม่อนดินแดง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ประมาณ ๗๐๐ ไร่ให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอีกแห่งหนึ่งด้วย
การจัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างที่ทำการถาวร ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย
ในปีงบประมาณ ๒๕๔๒ เป็นต้นมา
๗ มิถุนายน ๒๕๔๒
เริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย โดยเปิดรับ ๒ สาขา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
พิธีเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ประจำปีการศึกษา ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นบัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย
๖ พฤษภาคม ๒๕๔๗
โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนแม่บทกายภาพระยะที่ 1
ตั้งแต่พระราชบัญญัติประกาศใช้ จวบจนปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ของการดำเนินภารกิจ
ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการเรียนการสอน การวิจัย
การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ตราประจำมหาวิทยาลัย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ได้มีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย ส.ว. ประกอบเป็น
ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
และเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย
โดยตราสัญลักษณ์ดังกล่าวมีเลข ๘ และเลข ๙ ประกอบอยู่ด้วย โดยมีความหมายถึง
เป็นพระราชชนนี ของพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙
และได้อัญเชิญฉัตร ๗ ชั้นมาเป็นเครื่องหมายประกอบพระเกียรติยศ
ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
มีดอกลำดวนและใบไม้ประดับอันแสดงถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัย
ที่จะสนองพระราชปณิธานปลูกป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยไม่หยุดยั้ง
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประกอบด้วยสำนักวิชา 15 สำนักวิชา
เป็นมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนระดับอนุปริญญา 1 หลักสูตร ปริญญาตรี 38 สาขา
ปริญญาโท 25 สาขา ปริญญาเอก 15 สาขา โดยใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษากลางในการเรียนการสอน
หนังสือพิมพ์ไทมส์ ในส่วนของ Higher Education Supplement
ได้จัดอันดับให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็น มหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ของประเทศเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘
และยังได้รับการลงคะแนนให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดในประเทศไทย และสวยที่สุดแห่งเอเชีย