ทั่วไป

วิเคราะห์บทบาท-ท่าที ส.ส.ปารีณา จากสายตานักรัฐศาสตร์ ทำไมได้เป็นผู้แทนฯ หลายสมัย? แม้จะถูกกระหน่ำวิจารณ์

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 09 ธ.ค. 2562 เวลา 05.12 น. • เผยแพร่ 09 ธ.ค. 2562 เวลา 05.12 น.

วิเคราะห์บทบาท-ท่าที ส.ส.ปารีณา จากสายตานักรัฐศาสตร์ ทำไมได้เป็นผู้แทนฯ หลายสมัย? แม้จะถูกกระหน่ำวิจารณ์

ยังคงอยู่ในความสนใจของสังคมต่อเนื่อง สำหรับคดีความของ ส.ส.ชื่อดังของพลังประชารัฐ นามว่า ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ที่มักมีประเด็นใหม่ๆ ร้อนๆ และมีการฟ้องร้องกันไปมาอย่างมหาศาล ยังไม่รวมถึงกระแสดราม่า และการวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคม (ออนไลน์) กันอย่างดุเดือด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มอง น.ส.ปารีณาผ่านม่านตาทางรัฐศาสตร์ ถึงบทบาทและวาระทางการเมืองว่าเรื่องไหนที่ ส.ส.ควรพึงกระทำ และอะไรที่สังคมต้องการคำตอบจากทุกๆ ท่าทีที่ปรากฏขึ้นในรอบหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา

ประการแรก อ.ยุทธพรชี้ให้เห็นว่า กรณีคดีความของคุณปารีณานี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกเปรียบเทียบกับคดีต่างๆ ก่อนหน้านี้หลายคดีที่มีตัวละครของพรรคร่วมฝ่ายค้านถูกดำเนินคดีในหลายๆ เรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการถือหุ้นสื่อของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็มีคนเอามาคิดเปรียบเทียบ และตั้งคำถามถึง “กระบวนการในการดำเนินคดี” กับท่าทีที่เกิดขึ้นกับคนฝั่งรัฐบาล

แน่นอนว่าจะต้องถูกจับตามองว่ากระบวนการตรงนี้ สองมาตรฐานหรือไม่

ความเป็นธรรม-ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า

ส่วนที่มีคนวิจารณ์และตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามช่วยเหลือคุณปารีณา หรือช่วยอุ้มกันนั้นต้องดูว่าหลังจากนี้ไปกระบวนการในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นไปในทิศทางไหน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่แน่นอนที่สุดว่า นาทีนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามถูกดำเนินคดี กระบวนการที่บังคับใช้กฎหมายภายใต้หลักนิติธรรม ความเสมอภาคทางกฎหมายมันต้องเกิด รวมถึงความเสมอภาคทางข้อเท็จจริงต้องทำให้ปรากฏขึ้น

เพราะในสังคมมีคนที่สัมผัสได้ว่ากฎหมายเข้าไปไม่ถึงอย่างไม่เท่าเทียมทุกคน

เช่น พฤตินัยของ ส.ส.หลายๆ คนในฝั่งรัฐบาลที่มีการถือครองหุ้นสื่อที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกรณีคุณธนาธร แต่กระบวนการพิจารณาทางกฎหมายกลับยังเข้าไปไม่ถึงกลุ่มคนเหล่านี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นี่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะทำให้สังคมหรือบ้านเมืองมันเดินหน้าได้ จำเป็นต้องมีหลักการเหล่านี้

ในทางกลับกันถ้าประชาชนสัมผัสได้ว่าหากมีการเลือกปฏิบัติหรือกระทำแบบสองมาตรฐานหรือถึงขั้นไม่มีมาตรฐานเลย สุดท้ายแล้วมันจะนำไปสู่ชนวนใหม่แห่งความขัดแย้งได้เพิ่มเติมอีกครั้ง

กลับกลายเป็นประเด็นใหม่ที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอ้างถึง เพื่อเพิ่มปมความขัดแย้งในทางการเมืองมากขึ้นไปอีก

ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับการแก้ไขเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น ถ้ามีการเติมเชื้อเพลิงตรงนี้เข้าไปอีกเป็นประเด็นสะสมเพิ่มความขัดแย้งให้ยิ่งซับซ้อนยากขึ้นไปอีกก็จะยิ่งแก้ไขได้ยาก

จากสภาพทั้งหมดนี้ประกอบกับบทบาทของคุณปารีณาที่ร้อนแรงอยู่เสมอ ทั้งภายในสภาและที่ประชุมคณะกรรมาธิการ รวมถึงการที่จะต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายค้านอีกหลายหน ถ้ากระบวนการต่างๆ ในคดีความของคุณปารีณานั้นไม่สามารถอธิบายให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจเรื่องของหลักธรรมาภิบาล มาตรฐานต่างๆ ได้นั้น จะทำให้ยิ่งเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์มากยิ่งขึ้น

ส่งผลต่อตัวสถานะและความเชื่อมั่นของรัฐบาลไปอีก

: มองท่าทีการแสดงออกของ ส.ส.ชื่อดังท่านนี้อย่างไร?

จากท่าทีการแสดงออกต่างๆ ของคุณปารีณา ในความเป็นจริงแล้ว เขาต้องคำนึงถึงความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย และส่วนตัวผมเองยืนยันว่าการที่ฝ่ายค้านจะตรวจสอบรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องปกติ แล้ววันนี้บทบาทของ ส.ส.นั้นมิได้มีหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล แต่ต้องทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในการเข้าตรวจสอบและดำเนินการในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านกลไกของรัฐสภาให้เกิดประสิทธิผลมากที่สุด อาทิ การตั้งกระทู้ถาม ตั้งญัตติ บทบาทภายในคณะกรรมาธิการ ต้องไม่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า สภากลายเป็นที่ของพวกมากลากไป ไม่ได้สนใจยึดประโยชน์ประชาชน

ถ้า ส.ส.คิดโดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องใช้กลไกรัฐสภาให้เกิดประสิทธิผล

แต่ถ้า ส.ส.ยังตั้งต้นคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ต้องทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์อยู่ ผมคิดว่ากลไกเหล่านี้มันจะไม่สามารถบังคับใช้ได้ และหลักการในการตรวจสอบถ่วงดุลทั้ง 3 ส่วนมันจะหายไปทันที คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่เห็นความดุเดือดในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แต่ละชุดเท่าไหร่นัก การจะแต่งตั้งประธานหรือวางสัดส่วนที่นั่งตำแหน่งภายใน กมธ.ทุกอย่างมีข้อบังคับและเป็นการตกลงกันของ “วิป” ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ในการตั้งกรรมการแต่ละชุดขึ้นมาเพื่อทำงานคู่ขนาน ในอดีตที่ผ่านมาก็จะมีการตกลงกันลงตัวไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่

แต่ปัจจุบันภาพที่สังคมได้เห็นคือ ที่ประชุมกรรมาธิการ (โดยเฉพาะชุดนี้) กลายเป็นการจำลองภาพความขัดแย้งจากสภาใหญ่ลงไปสู่โต๊ะกรรมาธิการ

เราจึงเห็นได้ว่ากรรมาธิการ ป.ป.ช.จะมีความโดดเด่นเป็นพิเศษและมีปัจจัยส่วนบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ซึ่งถ้าภาพแบบนี้ออกมาบ่อยๆ ความเชื่อมั่นเชื่อถือศรัทธาจากพี่น้องประชาชนต่อการทำงานในระบบรัฐสภามันจะเกิดคำถามได้ว่า ลำพังเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองข้างนอกก็มากอยู่แล้ว เมื่อเข้าไปอยู่ในสภาและในที่สุดเข้าไปสู่โต๊ะกรรมาธิการอีก

มันสะท้อนว่าความขัดแย้งมันฝังรากลึกมันไม่ได้หายไปไหนเลย ความขัดแย้งทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ฉะนั้น ก็ต้องเรียกร้องให้กรรมาธิการยึดหลักการรับผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้งในการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ก็มองว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ได้วางเกมนี้ไว้แต่ต้นในการเดินเกมกรรมาธิการชุดนี้ เดิมทีเป็นสัดส่วนของ ส.ส.สงขลา แต่พอมีเรื่องของการที่ ประธาน กมธ.ชุดนี้ที่มีหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยเป็นประธานหัวโต๊ะ ยังคงเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปชี้แจงประเด็นการถวายสัตย์ ที่ฟากฝั่งรัฐบาลมองว่าเป็นการเรียกที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ ทำให้มีการเปลี่ยนตัวและให้ ส.ส.ชื่อดังทั้งคุณปารีณา และคุณสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. ผู้มีบทบาทที่ดุเดือดภายนอกสภาไม่แพ้กันเข้าไปนั่งในสัดส่วนตรงนี้

ทำให้ภาพที่เห็นทั้งการยกมือประท้วงและมีประเด็นการตั้งคนนอกเป็นที่ปรึกษา กมธ.ที่มองว่า คุณสมบัติไม่เหมาะ หรือดราม่าล่าสุดที่คุณปารีณาพยายามยกเก้าอี้ไปวางนั่งข้างๆ ประธาน ที่นำมาสู่การวิพากษ์กันกระหน่ำกันมากมาย

ซึ่งสุดท้ายก็นำมาสู่ผลพลอยได้ประการหนึ่งคือการลดเป้า-แรงที่พยายามจะมุ่งไปสู่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ ในสถานะที่ถูกเชิญมาชี้แจงใน กมธ.ชุดนี้

: จากพฤติกรรมทั้งหมด คนตั้งข้อสงสัย ชาวบ้านจะไว้วางใจ-ให้โอกาส ส.ส.เหล่านี้เป็นผู้แทนของเขา(อีก)?

จริงๆ แล้วบทบาทในพื้นที่กับการทำงานในสภาปัจจัยที่เกี่ยวข้องบางครั้งมันต่างกัน

เราจะเห็นได้ว่าในการเมืองไทย ส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ถูกกำหนดขึ้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดจากทัศนคติค่านิยมความเชื่อที่แตกต่างกัน

คนในพื้นที่เขตเมืองอาจจะต้องการนักการเมืองที่มีคุณภาพต้องยึดประโยชน์ประชาชน ไม่คิดแต่จะเล่นการเมืองเพียงอย่างเดียว ทำงานก็ต้องทำงานที่อยู่ในกฎเกณฑ์ มีประวัติและโปรไฟล์การทำงานที่โอเค

แต่กลุ่มคนอีกส่วนหนึ่งที่เป็นคนในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัดเขาไม่ได้มองการเมืองแบบนั้น

เพราะการเมืองในมิติของคนอีกกลุ่มหนึ่งเขามองว่าผู้แทนฯ ที่ดีคือผู้แทนฯ ที่สามารถพบได้ง่ายที่เข้าไปเป็นปากเสียงของประชาชนในพื้นที่ได้ ไม่เคยลืมสัญญาที่เคยให้ไว้กับสังคม

เมื่อมีปัญหาเดือดร้อน พึ่งพาอาศัยได้ เพราะนั่นคือช่องทางเดียวในการเข้าถึงบริการสาธารณะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือปัญหาจากกลไกที่เกิดขึ้นจากระบบอุปถัมภ์แบบนี้ ก็สะท้อนให้เห็นว่ามุมมองต่อการเลือก ส.ส.แต่ละพื้นที่ต่างกัน

ดังนั้น แม้แต่บางผู้คนดูในสภา ว่าคนแบบนั้นแบบนี้ไม่น่าจะได้รับเลือก แต่คนในพื้นที่เขาชื่นชอบเพราะเป็นคนที่พึ่งพาอาศัยได้ ไปงานบวช งานบุญ งานแต่ง งานศพ พบปะได้เสมอและสามารถที่จะทำตามสัญญาได้ดี ดูแลชุมชนได้และเรียกหาได้ตลอด

กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความประทับใจ ที่แตกต่างกันชัดเจนกับคนที่เฝ้ามองการเมืองเฉพาะในสภาเท่านั้น เพราะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหน้าที่แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์แต่งานในพื้นที่จะเป็นคนละแบบ คนละมิติ คนละมุมมองกัน ทำให้เขาเหล่านั้นยังคงได้รับเลือกจากชาวบ้านอยู่เสมอ

แม้ว่าสังคมอีกค่อนประเทศจะวิจารณ์ จะกระหน่ำความเห็น ไม่นิยมชมชอบ ส.ส.คนใดคนหนึ่ง แต่คงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้นที่สิ่งจากข้างนอกพฤติกรรมจากภายนอกที่เราเห็นแล้วจะส่งผลถึงชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ ซึ่งมันมีเรื่องของฐานเสียง ระบบหัวคะแนน กระบวนการจัดทำบริการสาธารณะที่ลงไปกระจายถึงคนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และการผลักดันปัญหาชาวบ้าน ดำเนินการให้ในสภาและคณะทำงานต่างๆ แล้วเอาไปสื่อสารกับชาวบ้าน ทำให้เขายังสามารถครองใจประชาชนในพื้นที่

และก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่

ชมคลิป

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 73
  • บิวครับ🐼
    ถ้าเป็น ส.ส ฝั่งตรงข้าม ป่านนี้โดนสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไปล่ะไม่ก็เจออะไรที่หนักหนาสาหัสอย่าง ธนาทร
    09 ธ.ค. 2562 เวลา 06.06 น.
  • Worayut k
    ท่านจะมองอย่างไรก็ไม่ผิด แต่คนที่ทำผิดหากอยู่ฝั่งรัฐบาลรอดทุกเรื่อง ขนาดโกงเลือกตั้งยังจัดตั้งรัฐบาลสบาย เวรกรรมบ้านเมืองจริงๆ ที่มีแต่คนเลวปกครอง
    09 ธ.ค. 2562 เวลา 06.09 น.
  • banyath suwannakorn
    มันเริ่มซ่า ตั้งแต่ย้ายพรรค และมีคดีติดตัว หวังนายโอบอุ้ม ยอมทุ่มพฤติกรรมเหลือรับ ถวายชื่อเสียงเพื่อนาย หารู้ไม่เขาชุบเลี้ยง ไว้ตายแทน
    09 ธ.ค. 2562 เวลา 06.08 น.
  • ธนนท์ ตั้งการุณจิต
    ใช้เงินไงถึงได้นะ
    09 ธ.ค. 2562 เวลา 06.10 น.
  • ยังไงก็มีมีความยุติธรรม ระหว่างคนจน คนรวย
    09 ธ.ค. 2562 เวลา 06.05 น.
ดูทั้งหมด