ทั่วไป

นงนุช สิงหเดชะ | เหตุแห่งความ "พ่ายแพ้" ของ ปชป.

มติชนสุดสัปดาห์
เผยแพร่ 18 เม.ย. 2562 เวลา 05.50 น.

ความพ่ายแพ้ของพรรคเก่าแก่ที่สุดอย่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คงจะถูกกล่าวถึงไปอีกนาน เพราะถือว่าพลิกล็อกถล่มทลาย โดยเฉพาะการที่ไม่ได้ ส.ส.เขตในกรุงเทพฯ เลยแม้แต่คนเดียว ทั้งที่ ปชป.เป็นแชมป์ กทม.มานาน

ที่ผ่านมา ปชป.มักได้จำนวน ส.ส.กรุงเทพฯ ในระดับ 2 หลักขึ้นไป หรือเฉลี่ยแล้วก็ไม่หนี 18-20 เขต จากทั้งหมด 30 เขต (เดิม 31 เขต) แต่ครั้งนี้อย่างที่ทราบกัน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี เป็นฝ่ายกำชัยในกรุงเทพฯ กวาดไป 12 ที่นั่ง ส่วนอีก 18 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทยแบ่งไปคนละครึ่ง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สรุปให้เห็นภาพก็คือ เพื่อไทยรักษาเก้าอี้ กทม.ไว้ได้ใกล้เคียงของเดิม ส่วน พปชร.และอนาคตใหม่เป็นพวกตาอยู่มาแรง เป็นหน้าใหม่ที่สามารถกวาดเก้าอี้ได้มาก

โดยปกติฐานเสียงหลักของ ปชป.อยู่ที่ภาคใต้กับกรุงเทพฯ แต่เลือกตั้งคราวนี้แม้แต่ภาคใต้ ปชป.ก็เสียที่นั่งไปเกินครึ่งให้กับ พปชร. ภูมิใจไทยและประชาชาติ ได้มาเพียง 22 เก้าอี้ จากทั้งหมด 50 เขต

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จึงทำให้รวมแล้วทั้งประเทศ ปชป.ได้ ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ 52 ที่นั่ง หล่นมาอยู่อันดับ 4 รองจากเพื่อไทย พปชร. และอนาคตใหม่

นับว่าจำนวน ส.ส.ของ ปชป.ต่ำกว่าที่ประเมินราวครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่เชื่อว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 100 เก้าอี้ ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรคตามสัญญา

ก่อนการเลือกตั้งราว 1 สัปดาห์เศษ นายอภิสิทธิ์และ ปชป.ได้ออกแคมเปญหาเสียงที่ฮือฮา เมื่อนายอภิสิทธิ์ออกคลิปประกาศจุดยืนทางการเมืองว่า “ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทำให้มีบางคนออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า การประกาศเช่นนั้นอาจทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคเพราะได้ ส.ส.ไม่ถึง 100 ที่นั่งเป็นแน่แท้

การประกาศของนายอภิสิทธิ์ ทำให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ออกมาติงว่า ประกาศเร็วไปหน่อยไหม ไม่ควรออกมาพูดตอนนี้เพราะทำให้นักลงทุนขวัญกระเจิง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ตอบโต้ว่า หลังประกาศจุดยืนออกไป หุ้นขึ้นติดกัน 2 วัน

อันที่จริงการที่หุ้นขึ้น 12 จุดในวันที่ 13 มีนาคม หรือหลังจากนายอภิสิทธิ์ประกาศจุดยืนนั้น เกิดจาก FTSE ซึ่งเป็นบริษัทอิสระจัดอันดับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (เกิดจากความร่วมมือของไฟแนนเชียล ไทม์ส และตลาดหุ้นลอนดอน) เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลและคำนวณเพื่อเพิ่มน้ำหนักก็ดำเนินการมาก่อนหน้านั้นระยะหนึ่งแล้ว

การที่หุ้นขึ้นจึงไม่เกี่ยวกับการประกาศจุดยืนของ ปชป.

นอกจากนี้ กรรมการบริหารของ ปชป.ก็ยังอ้างว่า หลังประกาศจุดยืนไปแล้ว ได้รับการตอบรับในทางสนับสนุนจากประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้คนที่ไม่ใช่เซียนการเมืองหรือคลุกคลีการเมือง เมื่อมองจากวงนอก ย่อมเห็นเค้ารางๆ ว่าการประกาศเช่นนั้นน่าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี และไม่มีทางที่ ปชป.จะได้คะแนนเพิ่ม

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบทำให้ ปชป.ช็อกไปทั้งพรรค นายอภิสิทธิ์ไม่ยอมรับว่าเป็นผลจากการประกาศไม่เอาประยุทธ์ แต่น่าจะเป็นผลจากฮ่องกงเอฟเฟ็กต์ (กรณีภาพเหตุการณ์ในงานแต่งลูกสาวทักษิณที่ฮ่องกงก่อนเลือกตั้ง 1 วัน) ที่ทำให้คนยังกลัวทักษิณ

ส่วน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.ปชป.พิษณุโลก ที่ต้องพ่ายแพ้ครั้งนี้ด้วย ออกมาระบุว่า เกิดจากความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของพรรคที่ไปต่อสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ แทนที่จะต่อสู้กับพรรคเพื่อไทย

คนที่มองอยู่วงนอก ค่อนไปในทางที่เห็นด้วยกับ นพ.วรงค์ว่า ปชป.ผิดพลาดที่ไปประกาศยืนคนละฝั่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ (แม้จะกั๊กว่ายินดีร่วมงานกับ พปชร.ต่อเมื่อไม่มี พล.อ.ประยุทธ์)

เพราะหากตรวจสอบจากโซเชียลมีเดีย จะรู้ว่า คนที่ไม่เอาทักษิณ แต่ยังลังเลว่าจะเลือกพรรคไหน ตัดสินใจว่าจะเลือกใครได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ เมื่อพรรคไทยรักษาชาติประกาศชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

บางคนกัดฟันเลือกประยุทธ์แม้จะไม่ถูกใจเท่าไหร่ บางคนอาจเลือกอภิสิทธิ์เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว หลังเลือกตั้ง 2 พรรคนี้จะจับมือกันตั้งรัฐบาลเพื่อเอาชนะขั้วทักษิณ

ก่อนเลือกตั้ง ผลโพลเกือบทุกสำนักที่สำรวจหลายครั้ง ได้บทสรุปออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในฐานะผู้ที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี รองลงมาคือคุณหญิงสุดารัตน์ ส่วนคะแนนพรรคเพื่อไทยยังเป็นที่ 1 ปชป.ที่ 2 และ พปชร.ที่ 3

ฐานเสียง ปชป.กับ พปชร.ส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงเดียวกัน แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์ประกาศไม่จับมือกับประยุทธ์ ทำให้คนที่ไม่เอาทักษิณหมดทางเลือก จำต้องเทคะแนนให้กับพลังประชารัฐ เพราะรู้ว่าไม่มีทางที่ ปชป.จะได้ที่ 1 จนสามารถตั้งรัฐบาลได้ หนทางที่ดีกว่าคือทุ่มคะแนนให้พลังประชารัฐเพื่อขึ้นไปเบียดกับเพื่อไทย

แม้แฟนๆ จะยังรัก ปชป.อยู่ แต่สถานการณ์เช่นนี้ต้องให้แน่ใจว่า พปชร.จะสามารถมีคะแนนเสียงพอจะตั้งรัฐบาลได้และต้องได้เยอะกว่า ปชป. เนื่องจากการจะหวังให้ ปชป.ไปสู้กับพรรคเพื่อไทยได้อย่างสูสีคงยากมาก

นี่คือสถานการณ์และอารมณ์ประชาชนที่ ปชป.มองไม่ออก ทั้งที่คนรุ่นใหม่ในพรรคจำนวนมากเล่นโซเชียลมีเดีย น่าจะมองเห็นอารมณ์และแนวโน้มของฐานเสียงภายหลังหัวหน้าพรรคประกาศจุดยืนเช่นนั้น

หากเป็นยามบ้านเมืองปกติ การประกาศจุดยืนลักษณะนั้นอาจทำให้ ปชป.ได้รับความนิยมชื่นชม แต่ไม่ใช่สถานการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ที่ประชาชนฝ่ายไม่เอาทักษิณมองว่า ประยุทธ์เท่านั้นคือคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อกับซีกทักษิณ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุนทักษิณมักจะวิเคราะห์ด้วยการ “ยัดเหตุผล” ที่ตัวเองตั้งธงไว้ว่า สาเหตุที่ ปชป.แพ้เพราะไม่เดินในเส้นทางประชาธิปไตย โดยอ้างตั้งแต่เรื่องที่บอยคอตไม่ลงเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ยุคยิ่งลักษณ์

อ้างเรื่องการไปร่วมกับกลุ่มนกหวีดประท้วง การเล่นการเมืองบนท้องถนน อ้างว่าตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร (ช่วงที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบแล้วนายอภิสิทธิ์ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ) แล้วก็สรุปเสร็จสรรพว่าไม่ได้แพ้เพราะประกาศต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์

ก็เป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายตรงข้าม ปชป.จะยัดเหตุผลเช่นนั้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับซีกตัวเอง ที่อ้างว่าเป็นซีกประชาธิปไตย เพราะถ้ายอมรับว่า ปชป.แพ้เพราะต่อต้านประยุทธ์ ก็จะเป็นการสร้างความนิยมให้กับ พล.อ.ประยุทธ์และพลังประชารัฐ

ถ้าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ปชป.แพ้ เป็นไปตามที่ฝ่ายโปรทักษิณกล่าวอ้าง ปชป.ก็น่าจะแพ้เลือกตั้งหลุดลุ่ยตั้งแต่คราวเลือกตั้งปี 2554 แต่จะเห็นว่าในปีนั้น ปชป.ก็ยังได้เกือบ 160 ที่นั่ง

หาก ปชป.แพ้เพราะคนรักประชาธิปไตยส่วนใหญ่ผละหนีจริง พลังประชารัฐที่เป็นขั้วเดียวกันก็ไม่น่าได้คะแนนรวมสูงเป็นอันดับหนึ่ง (8.4 ล้านเสียง) แต่กลับเป็นว่าคะแนนส่วนใหญ่ก็ยังไหลเวียนอยู่ในขั้วใครขั้วมันเช่นเดิม คือขั้วเอากับไม่เอาทักษิณ

หากดูให้ดีจะเห็นว่า คะแนนเดิมของเพื่อไทยคราวที่แล้ว 15 ล้านเสียง ปชป. 11.4 ล้านเสียง

แต่คราวนี้เพื่อไทยเหลือ 7.9 ล้านเสียง หายไป 7 ล้านกว่าเสียง ความน่าจะเป็นคือไหลไปอนาคตใหม่ (6.2 ล้านเสียง) เป็นหลัก ที่เหลือก็กระจายกันไปยังพรรคแบงก์ร้อยของเพื่อไทย เช่น ประชาชาติ เพื่อชาติ ฯลฯ เป็นหลัก อีกส่วนก็ถูกภูมิใจไทยและ พปชร.แย่งชิงไป

ส่วน ปชป.เหลือ 3.9 ล้านเสียง หายไป 7.5 ล้านเสียง ส่วนมากน่าจะไหลไปหา พปชร.และภูมิใจไทย และอีกส่วนหนึ่ง (โดยเฉพาะ กทม.) ไหลไปอนาคตใหม่

คะแนนใน กทม.ชัดเจนว่าฐานเดิมของ ปชป.ไหลไปหาพลังประชารัฐเป็นหลัก หากคนรักประชาธิปไตยไม่ชอบประชาธิปัตย์หรือพรรคที่ถูกหาว่าไม่ใช่ซีกประชาธิปไตย คะแนน กทม.ควรไปกองอยู่ที่เพื่อไทยและอนาคตใหม่ทั้งหมด การที่เพื่อไทยได้เก้าอี้ กทม.ใกล้เคียงของเดิม ก็แสดงว่าไม่มีฐานเสียงใหม่ๆ ย้ายมาหาเพื่อไทย แม้จะพร่ำเรื่องประชาธิปไตย

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 138
  • ตอนนั้นจำได้ว่าจะล้มรัฐบาล ส่งคุณสุเทพไปเป่านกหวีด สนับสนุนให้ทหารเข้ายึด แต่จู่ๆคุณประกาศไม่เอาเผด็จการ แล้วที่ผ่านมาคืออะไร นี่หรือผู้นำ แถมคุณประยุทธมาก็หนักกว่าเดิม คนจนเต็มบ้านเมือง || จากแฟนคลับ ปชป.ที่หันไปเลือก อนาคตใหม่
    18 เม.ย. 2562 เวลา 07.14 น.
  • ศุภพล
    เพราะความพ่ายแพ้ซ้ำซากในสนามใหญ่ สู่การเมืองข้างถนน ตามด้วยนกหวีด เกิดจากการแพ้แล้วพาล แทนที่จะแก้ไข ในสภาหรือวิถีทางประชาธิปไตย กลับเลือกกวักมือสนับสนุนเผด็จการ หวังว่าคนรุ่นใหม่ในพรรคจะไม่ย้อนรอย เอาอดีตเป็นบทเรียน ใช้ความสามารถแล้ว ให้ประชาชนตัดสิน
    18 เม.ย. 2562 เวลา 07.31 น.
  • อยากเห็นการวิเคราะห์ที่นำตัวเลขมาประมวลผล มากกว่าวิเคราะห์ตามความคิดเห็น พฤติกรรมของมนุษย์กับการตัดสินใจย่อมแปรเปลี่ยนได้ทุกนาที ดังนั้นน่าจะเลิกเขียนบทความแบบนี้เสียที และหนังสือพิมพ์มติชน ก้อไม่ควรนำมาเสนอ
    18 เม.ย. 2562 เวลา 07.19 น.
  • Imung
    เอาตรงๆ คนส่วนมากที่สนับสนุน คุณประยุท แล้วดันปนะกาศสวนทาง คะแนนเลยตกหวบ. จะเลือกใคร จะชอบทหาร หรือ เพื่อไทย อนาคตใหม่ มันสิทธของทุกคน อย่าน้ำเน่าว่าใครดีไม่ดี.
    18 เม.ย. 2562 เวลา 06.46 น.
  • สูญพันธุ์ไปเลยตลอดการณ์ได้ยิ่งดี
    18 เม.ย. 2562 เวลา 07.17 น.
ดูทั้งหมด