ไอที ธุรกิจ

โรงงานน้ำตาลแย่งซื้ออ้อยอุตลุด ราคาพุ่งทะลุตันละ 1,200 บ.

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 18 ก.พ. 2563 เวลา 08.19 น. • เผยแพร่ 16 ก.พ. 2563 เวลา 06.09 น.

แล้งหนัก “ผลผลิตอ้อย” ปี 2562/2563 วูบเหลือแค่ 80 ล้านตัน คาดปิดหีบเร็วขึ้น 1 เดือน กระทบ 57 โรงงานน้ำตาลเร่งควานซื้ออ้อย ดันราคาขยับตันละ 1,200 บาท สูงสุดรอบ 17 ปี ลุ้นบริหารโควตา “น้ำตาล” 14.6 ล้านตัน พอใช้บริโภคในประเทศ-ส่งออก ผู้ผลิตผลไม้กระป๋องอ่วมต้นทุนพุ่ง 40%  

แหล่งข่าวจากกลุ่มชาวไร่อ้อย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงงานน้ำตาลไล่ซื้ออ้อยเข้าหีบในช่วงโค้งสุดท้าย ทำให้ราคาอ้อยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.นครสวรรค์ และ จ.กำแพงเพชร สูงขึ้นไปถึงตันละ 1,200 บาท สูงสุดในรอบ 17 ปี เพราะหากไล่ย้อนไปถึงปี 2546 ก็ไม่เคยมีราคานี้มาก่อน เป็นผลจากภัยแล้งรุนแรงทำให้ผลผลิตอ้อยลดลง โดยเดิมคาดว่าจะปิดหีบเร็วขึ้นอาจจะถึงแค่กลางเดือนนี้เท่านั้น  

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าคาดว่าฤดูการผลิตอ้อยปี 2562/2563 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 90 ล้านตัน หรืออาจต่ำกว่านั้น จากที่เคยประมาณการไว้ที่ 110 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่มีอ้อยเข้าหีบ 130 ล้านตัน เป็นผลมาจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดต่ำมาก 

“โรงงานน้ำตาลจึงมีการซื้ออ้อยเพิ่ม ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงและนอกพื้นที่ ในราคา 1,200 บาท/ตัน ซึ่งสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่รัฐบาลประกาศไว้ที่ 750 บาท/ตันอ้อย ในระดับความหวานที่ 10 ซีซีเอส และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 45 บาท ต่อ 1 หน่วยซีซีเอส ซึ่งการที่โรงงานน้ำตาลรับซื้อราคาอ้อยสูงกว่าราคาขั้นต้นนั้นสามารถทำได้เพราะไม่ได้มีระเบียบการข้ามเขตกำหนดไว้” 

ทางสำนักฯ​จะกำกับดูแลการเป็นคู่สัญญาของชาวไร่ คือ ชาวไร่ต้องแจ้งปริมาณอ้อยที่จะส่งอ้อยเข้าหีบในโรงงานที่คู่สัญญาไว้ และต้องส่งไม่น้อยกว่า 80% ของที่ทำสัญญาไว้ และไม่เกินกว่า 20% ของที่ทำสัญญาไว้  

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า เมื่อสถานการณ์อ้อยไม่พอส่งผลให้โรงงานน้ำตาลต้องหาวัตถุดิบเพิ่ม โดยการซื้ออ้อยแบบเหมาจ่าย หรือที่เรียกว่า “ซื้ออ้อยขาด” ที่อยู่นอกสัญญาและสัญญาเก่า ในอัตรา 1,000-1,200 บาท/ตัน หรือขึ้นอยู่กับการตกลงกัน  

“คาดว่าการปิดหีบปีการผลิต 2562/2563 จะมีอ้อยเพียง 78-80 ล้านตันเท่านั้น ผลิตน้ำตาลได้ 86 ล้านกระสอบ เป็นวิกฤตภัยแล้งที่กระทบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่วิกฤตรุนแรงที่สุดในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา”

โดยในพื้นที่ภาคตะวันตก อย่าง จ.กาญจนบุรี จะทยอยปิดหีบตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2563 และทั่วประเทศจะปิดไม่เกินสิ้นเดือน ก.พ.นี้แน่นอน จากเดิมคือช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เมื่ออ้อยน้อยแต่โรงงานเขาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าไปแล้ว เดิมประเมิน 110 ล้านตัน ขายน้ำตาลไป 40% แต่พออ้อยมันลดน้ำตาลก็ลดตามเขาต้องหาวิธีผลิตมาให้ได้ ถามว่าเขาซื้อข้ามเขตกันได้หรือไม่ จะแย่งอ้อยกันไหม อ้อยเขาไม่มีกำหนดเขตสามารถซื้อได้ อยู่ที่จะตกลงกันระหว่างชาวไร่กับโรงงาน”

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL กล่าวว่า ในอีก 1-2 สัปดาห์ จะทำการปิดหีบอ้อยคาดว่าจะอยู่ที่ 5.7-5.8 ล้านตันเท่านั้น หากอ้อยทั้งระบบเข้าหีบได้ถึง 80 ล้านตัน นับว่าน้อยที่สุดที่เคยเปิดหีบมา ผลจากภัยแล้ง ฝนไม่ตก ภาคอีสานอ้อยหายไปถึง 45% 

“การรับซื้ออ้อยตันละ 1,200 บาทอยู่ที่โรงงานน้ำตาลจะทุ่มหรือไม่ ใครไหวให้ราคาได้มาก รับซื้อไป เพื่อจะให้ได้ผลิตน้ำตาล”

ด้านนายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการ บริษัท ไทยชูการ์มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า ปีนี้อ้อยน้อย โรงงานน้ำตาล 57 โรงก็ต้องไปไล่ซื้อไม่เช่นนั้น โรงงานที่ขยายไว้ก็จะไม่มีวัตถุดิบ อีกด้านหนึ่งโรงงานต้องสร้างอ้อยของตัวเอง หมายถึงต้องส่งเสริมให้ชาวไร่ปลูก ชักจูง ทั้งมีเงินกู้หรือเงินเกี๊ยว หรือปัจจัยการผลิต ที่โรงงานพอมีกำลังช่วยเกษตรกรได้ก็ช่วย เพราะถ้าไม่มีอ้อยก็อยู่ไม่ได้ โรงงานก็กลายเป็นเศษเหล็ก ฉะนั้น ทุกโรงงานต้องการอ้อยต้องสร้างอ้อยตัวเอง 

“ตอนนี้โรงงานบริหารจัดการร่วมกันเพราะไม่มีโควตา คาดว่าปีนี้ผลิตน้ำตาลจะมี 14.6 ล้านตัน บริโภคในประเทศต้องมีอยู่แล้วปีละ 2.6 ที่เหลือก็ส่งออก 90% ไปรอบบ้าน ราคาก็กระเตื้องขึ้น เพราะผลผลิตทั่วโลกลดลง ผลผลิตไม่ดี ราคาตอนนี้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ 14.30-14.50 เซนต์ต่อปอนด์ จากปีก่อนอยู่ที่ 9-11 เซนต์ต่อปอนด์ ทำอย่างไรอยู่ได้ก็ต้องบริหารจัดการต้นทุนการผลิต โลจิสติกส์ เอกชนปรับตัวดูแลเรื่องนี้อยู่ ส่งเสริมเกษตรกรลดต้นทุน ประเทศไทยกินน้ำตาลถูกที่สุดในโลกแล้ว แม้แต่บราซิลก็กินแพงกว่าเรา” 

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS กล่าวว่า หลังเปิดหีบมาตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2562 ถึงปัจจุบันมีอ้อยเข้าหีบแล้ว 1.4 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 1.484 ล้านกระสอบ ยังน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน อ้อยเข้าหีบ 3.2 ล้านตัน ปี 2563

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ผลิตผลไม้กระป๋องได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลงและราคาสูงขึ้น โดยขณะนี้ต้นุทุนราคาน้ำตาลที่ส่งเข้าโรงงาน ปรับสูงขึ้น 40% ทางผู้ผลิตจำเป็นจะต้องปรับราคาส่งออกให้สอดรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณน้ำตาลน่าจะเพียงพอต่อการใช้บริโภคน้ำตาลในประเทศ 2 ล้านตัน และที่เหลือจะใช้เพื่อการส่งออก

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • Kotameti
    ให้ชาวบ้านไม่เผา แต่พวกอุตสาหกรรมนี้ละตัวอุดหนุนเผาไร่อ้อย
    17 ก.พ. 2563 เวลา 04.16 น.
  • Wat Vat Wach
    เลิกไปก็ดี เผาอ้อยสร้างแต่ความฉิบหายให้สังคม มักง่ายเห็นแกตัวเองทั้งคนปลูกและโรงงาน
    17 ก.พ. 2563 เวลา 00.30 น.
  • Angelo B0
    ที่บ้านกรูตันละ 600 👣เถอะ
    16 ก.พ. 2563 เวลา 07.57 น.
ดูทั้งหมด