1 ทาน-กิน
นานปีมาแล้ว นักเขียนใหญ่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคยบอกผมว่ารู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่ได้ยินคนเอ่ยว่า “ทานข้าว”
เรามักพูดกันว่า “ทานข้าวด้วยกันไหม?”, “วันนี้อยากทานอะไรจ๊ะ?”
พญาอินทรีแห่งป่าอักษรบอกว่า นี่เป็นการใช้คำผิดอย่างมาก เป็นคำที่ใช้ผิดกันทั้งประเทศ! ผิดกันอย่างมโหฬาร
จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน :
ทาน = การให้ (เช่น ธรรมทาน), การยันไว้ (เช่น ต้านทาน), การสอบให้ตรงกับต้นฉบับ
ทานไม่เคยแปลว่ากิน
ดังนั้นประโยค “ทานข้าวแล้วยัง?” จึงแปลว่าให้ข้าวเป็นทานต่อคนอื่นแล้วยัง
“วันนี้ทานอะไรมาจ๊ะ?” = วันนี้ทำทานอะไรให้คนอื่นหรือ
ทานในความหมาย ‘กิน’ กร่อนมาจากคำ ‘รับประทาน’ และด้วยเหตุผลบางประการ สังคมสั่งสมค่านิยมจนให้ความรู้สึกว่า ‘ทาน’ สุภาพกว่า ‘กิน’ ในที่สุดเราก็ใช้คำว่า ‘ทาน’ ในความหมาย ‘กิน’ จนกลายเป็นคำที่ถูกต้องไปแล้ว
สังคมไทยทุกหนแห่งใช้คำว่า ‘ทาน’ และหากเราถามใครสักคนว่า “กินข้าวไหม?” อาจถูกมองค้อนว่าพูดจาไม่สุภาพ หรือไม่ให้เกียรติอีกฝ่าย!
ว่าก็ว่าเถอะ เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหาหรือเป็นประเด็นต้องถกเถียง หากคำว่า ‘ทาน’ ไม่มีความหมายเฉพาะของมันเอง ‘ทาน’ ไม่ได้แปลว่า ‘รับประทาน’ เช่นที่ ‘ยุ’ ไม่ได้แปลว่า วิทยุ, ‘เท้า’ ไม่ได้แปลว่า รองเท้า, ‘กา’ ไม่ได้แปลว่า นาฬิกา ฯลฯ
รับและประทานเป็นคำกริยาทั้งคู่ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราลองหาตัวอย่างอื่นในลักษณะกริยา+กริยาเหมือนกันมาเปรียบเทียบ จะพบว่ามีคำมากมายที่เมื่อแยกคำ จะกลายเป็นคนละความหมายกัน
ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ‘จ่าย’ เป็นคนละความหมายกับ ‘จับจ่าย’, ‘ปั้น’ เป็นคนละความหมายกับ ‘กำปั้น’, ‘เคี่ยว’ เป็นคนละความหมายกับ ‘ขับเคี่ยว’, ‘ก่าย’ เป็นคนละความหมายกับ ‘ก้าวก่าย’, ‘ดัน’ เป็นคนละความหมายกับ ‘แดกดัน’ ฯลฯ
เพราะคำต้นกับคำท้ายมีความหมายเอกเทศทั้งคู่
ในเมื่อแต่ละคำมีความหมายเฉพาะของมันเอง ก็น่าที่จะเคารพกติกาแห่งพจนานุกรม ใช้ให้ถูกต้อง
ย่อมมีคนแย้งว่าคิดมากไปไย มันเป็นแค่วิวัฒนาการของภาษา ภาษาย่อมดิ้นได้
ถูกต้อง! ภาษาย่อมมีวิวัฒนาการ แต่วิวัฒนาการเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามความจำเป็น ไม่ใช่เพราะการฝ่ากฎหรือความละเลย
กรณี ‘ทาน = กิน’ นี้ไม่ใช่วิวัฒนาการ เป็นแค่การใช้คำผิดจนชิน เช่นที่ใช้ไม้ตรีในอักษรต่ำ
สมมุติว่าคนไทย 90 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเขียน ‘นะค่ะ’ จนชิน เราจะยอมรับวิธีเขียนผิดเช่นนั้นหรือ?
คำว่า ทาน (กิน) ในที่นี้เกิดขึ้นเพราะความเคยชินและค่านิยมว่ามันเป็นคำความสุภาพ ที่คนไม่ใช้กันก็เพราะไม่รู้และชินปาก ไม่ใช่เพราะตั้งใจใช้ผิดๆ
ทว่าในเมื่อตอนนี้เรารู้แล้วว่ามันไม่ใช่การใช้คำที่ถูกหลัก คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะช่วยกันปรับแก้คำนี้ในภาษาไทยให้ถูกต้อง
นี่ไม่ใช่เรื่องการไม่ยอมรับวิวัฒนาการของภาษา เป็นแค่การใช้คำผิด ไม่มีอะไรซับซ้อน
ด้วยเหตุผลนี้ จึงขอรณรงค์ใช้คำว่า ‘กิน’ ง่ายๆ เถอะ กินเป็นคำไทย สุภาพดีอยู่แล้ว การใช้ภาษาอยู่ที่เจตนา ไม่ต้องประดิดประดอยจนเกินงาม
การใช้คำที่ถูกหลักภาษาของตนก็คือการแสดงความสุภาพในตัวมันเองอยู่แล้ว อีกประการ ความสุภาพยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ เช่น น้ำเสียง สีหน้าผู้พูด เป็นต้น
แต่หากว่าวันใดอยากสุภาพเป็นพิเศษ ก็ใช้ให้ถูกให้ควรว่า ‘รับประทาน’
ขยับลิ้นเพิ่มอีกสองพยางค์คงไม่ทำให้เหนื่อยขึ้น
…………..
2 คะ-ค่ะ
คำว่า ‘คะ’ กับ ‘ค่ะ’ เป็นคำที่เราพูดกันถูก ออกเสียงถูก แต่เขียนผิดบ่อย ๆ เช่น นะค่ะ, รักหนูมั้ยค่ะ, อย่างนั้นสิค่ะ, รักมากคะ, ขอบคุณคะ
ทั้งหมดนี้เขียนผิด
ที่ถูกคือ นะคะ, รักหนูมั้ยคะ, อย่างนั้นสิคะ, รักมากค่ะ, ขอบคุณค่ะ
จำง่าย ๆ คือ
- ‘คะ’ ใช้ต่อหลังประโยคคำถาม เช่น ไปเที่ยวด้วยกันไหมคะ, รักฉันมั้ยคะ
ส่วน ‘ค่ะ’ ใช้ต่อหลังประโยคบอกเล่า เช่น ได้ค่ะ, ไม่ค่ะ, รักมากค่ะ, ขอบคุณค่ะ, หนูเองค่ะ
- ‘คะ’ ใช้ต่อหลังคำว่า ‘นะ’ หรือ ‘สิ’ เช่น อย่าเบี้ยวนะคะ, ต้องอย่างนั้นสิคะ
- ‘คะ’ ใช้ตามหลังชื่อคนเวลาเรียกเขา เช่น คุณวินทร์คะ
พอจำได้ไหมคะ?
…………..
3 ไม้ตรี
สมัยผมเป็นเด็ก ผงชูรสยี่ห้อ Ajinomoto สะกดภาษาไทยว่า อายิโน๊ะโม๊ะโต๊ะ
คนไทยในสมัยนั้นลุกขึ้นท้วงติง บริษัทก็แก้ไขจนถูกต้องเป็น อายิโนะโมะโต๊ะ
คนไทยสมัยนั้นเชี่ยวชาญภาษาจริง!
นี่เป็นตัวอย่างการใช้ไม้ตรีที่ผิดบ่อยที่สุด
จำหลักง่ายๆ คือ อักษรต่ำไม่มีรูปตรี (โต๊ะ ยังมีไม้ตรีได้ เพราะเป็นอักษรกลาง)
น๊ะค๊ะ จึงผิด ที่ถูกคือ นะคะ
รักอาม๊าจัง ที่ถูกคือ รักอาม้าจัง
คนที่มีชื่อเล่นว่า Note และ Mint ก็ไม่ควรสะกดว่า โน๊ต มิ๊นท์
ที่ถูกคือ โน้ต มิ้นท์
ร้านอาหารที่สะกด ซีฟู๊ด จึงไม่ถูกหลักภาษา ที่ถูกคือ ซีฟู้ด
เชื่อว่าหลายคนคงลืมไปหมดแล้วว่า อักษรต่ำมีอะไรบ้าง
วิธีง่ายๆ ก็คือจำสองประโยคนี้
“พ่อค้าฟันทองซื้อช้างฮ่อ”
“งูใหญ่นอนอยู่ ณ ริมวัดโมฬีโลก”
พ่อ (พ ภ) ค้า (ค ฅ) ฟัน (ฟ) ทอง (ฒ ฑ ท ธ) ซื้อ (ซ) ช้าง (ช) ฮ่อ (ฮ)
งู (ง) ใหญ่ (ญ) นอน (น) อยู่ (ย) ณ (ณ) ริม (ร) วัด (ว) โม (ม) ฬี (ฬ) โลก (ล)
จำยากเหมือนกันนะ
เอางี้! รู้จักอักษรสูงใช่ไหม? ทุกอักษรที่มีเสียงสูงคืออักษรสูง เช่น ข ฉ ส ศ ษ ห ผ ฝ ฯลฯ
และรู้จักอักษรกลางไหม? ก็คือ ไก่จิกเฎ็กฏายเด็กตายบนปากโอ่ง
ไก่ (ก) จิก (จ) เด็ก (ฎ) ตาย (ฏ) เด็ก (ด) ตาย (ต) บน (บ) ปาก (ป) โอ่ง (อ)
ถ้าไม่ใช่ ‘ไก่จิกเฎ็กฏายเด็กตายบนปากโอ่ง’ และมีเสียงสูง ก็คืออักษรต่ำทั้งหมด
พอไหวไหม?
น้องโน้ตกับน้องมิ้นท์ใช้ภาษาไทยให้ถูกนะคะ แล้วจะพาไปกินข้าวที่ภัตตาคารซีฟู้ด
…………..
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
กุมภาพันธ์ 2562
yui🐳 カルナ จำง่ายๆ ดังนี้
นะคะ ไม่มี ไม้เอก
โง่ จึงจะมีไม้เอก
04 ก.พ. 2562 เวลา 14.23 น.
ᴍ ᴏ ɴ ᴛ ᴀ ᴋ ᴀ ʀ ɴ ถูกใจมากๆค่ะ
04 ก.พ. 2562 เวลา 11.10 น.
T.Jeabka ชวนกินข้าวก็พอนะคะ555
04 ก.พ. 2562 เวลา 11.22 น.
KK เยี่ยมค่ะ👍
04 ก.พ. 2562 เวลา 12.25 น.
ขอบพระคุณมากขอรับกระผม
04 ก.พ. 2562 เวลา 12.01 น.
ดูทั้งหมด