ทั่วไป

ม.เอกชนแข่งดุส่อเจ๊งระนาว เรียนฟรี-มาเป็นแก๊งได้ลดเพิ่ม

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 06 มิ.ย. 2563 เวลา 03.41 น. • เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2563 เวลา 02.55 น.
เครดิตภาพ : rbac.ac.th

วงการศึกษาระส่ำ มหา’ลัยขนาดกลาง-เล็กดิ้นหนีตาย เปิดฉากสงครามราคา ให้ส่วนลด-หั่นค่าเทอม 40-50% ระดมแจกทุน-ชูของฟรี แถมเงิน-ค่าครองชีพ กู้เงินเรียนดอกเบี้ยต่ำ สมัครเรียนเป็นคู่ ยกแก๊งได้สิทธิพิเศษเพิ่ม หวังดึงเด็กเข้าเรียน หวั่นคุณภาพการศึกษาต่ำติดดิน-ดัมพ์ค่าเทอม จัดโปรฯไฟไหม้ยิ่งพากันเจ๊ง สยองตัวเลข TCAS ปี’63 ลดวูบเหลือแค่ 3.7 แสนคน ลุ้นรอบ 5 มหา’ลัยรับตรง มหา’ลัยรัฐเจอปัญหาไม่น้อยหน้า

การแข่งขันกันในตลาดการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยรุนแรงขึ้นตามลำดับ สวนทางกับปริมาณนักศึกษาที่มีจำนวนลดน้อยลงทุกปี จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่เด็กเกิดใหม่ลดลงมาก แต่มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนยังมีจำนวนใกล้เคียงกับช่วงหลายปีก่อน การแย่งชิงนักศึกษาใหม่เข้าศึกษาในแต่ละสถาบันที่มีต่อเนื่องมาหลายปีชัดเจนมากขึ้นอีกในปีนี้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่ก็มีปัญหาเรื่องเด็กเข้าเรียนลดน้อยลง ต้องหาทางดึงดูดนักศึกใหม่เข้าศึกษาต่อเช่นเดียวกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ลดค่าเทอม-ให้เงินครองชีพ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากการสำรวจมหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดเล็กในระบบว่า ความเคลื่อนไหวจัดโปรโมชั่นของมหาวิทยาลัยในปีนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างดุเดือดรุนแรงกว่าหลายปีที่ผ่านมา เท่าที่สำรวจพบสามารถแบ่งตามโปรโมชั่น คือ 1) “ให้ส่วนลด” อย่างเช่น มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ประกาศปรับลดค่าบำรุงการศึกษา ค่าบำรุงคอมพิวเตอร์ลง 25% รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียม การผ่อนผันค่าเล่าเรียน ซึ่งมหาวิทยาลัยจะคืนเงินเข้าระบบให้นักศึกษาอัตโนมัติ โดยนักศึกษาไม่ต้องยื่นคำร้อง พร้อมทั้งตรวจสอบการคืนเงินผ่านระบบทะเบียนได้ทันที

2) “ฟรี” มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต(RBAC) กรณีสำหรับ “นักศึกษาใหม่” ที่กำลังจะเรียนจบ ม.6, ปวช., ปวส., กศน. รวมทั้งการเทียบโอน ด้วยการชูคอนเซ็ปต์ “ไม่ต้อง และฟรี” คือ ไม่ต้องสอบสัมภาษณ์ ไม่ต้องสอบข้อเขียน ไม่ต้องยื่น TCAS ไม่ต้องยื่นคะแนน GAT-PAT ไม่ต้องยื่นคะแนน O-NET และไม่ต้องยื่นแฟ้มสะสมผลงาน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ ยังฟรีค่าหอพัก จ่ายเพียงค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 300 บาท ฟรีชุดนักศึกษา 2 ชุด รวมถึงรองเท้ากระเป๋า ฟรีเสื้อกิจกรรม 1 ตัว ฟรีหนังสือเรียนตลอดหลักสูตร ฟรีฟิตเนส สระว่ายน้ำ และ WiFi ทั้งยังมีงานพาร์ตไทม์ให้ทำระหว่างเรียน รับค่าครองชีพ 3,000 บาทต่อเดือน ฯลฯ

เรียนจบ 3 ปี-กู้ไม่ต้องใช้คืน

3) “ร่นเวลาเรียน” มหาวิทยาลัยเกริก ชูจุดขายระดับปริญญาตรีในบางสาขาวิชาใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี รวมหน่วยกิตไม่ต่ำกว่า 120 หน่วยกิต เช่น หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ซึ่งการเรียนการสอนจะผสมผสานด้วยรูปแบบถ่ายทอดสดและวิดีโอคลิป นักศึกษาสามารถผ่อนชำระค่าเทอมแบบ “รายเดือน” ได้ นอกจากนี้ยังให้ “เรียนฟรี” ภาษาจีนพื้นฐาน ผู้ที่จบ ปวส.สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ โดยใช้เวลาเรียนแค่ 1 ปี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ (SAU) จัดทุนการศึกษาให้ 40,000 บาท อีกทั้งในกรณีที่สมัครมาเป็น “คู่” จะได้รับทุนการศึกษาเพิ่มเติมอีก 5,000 บาท แต่หากมาสมัครยกแก๊ง 5 คน จะได้ส่วนลดคนละ 3,000 บาท แนะนำคนรู้จักให้เข้ามาเรียนจะได้รับทุนการศึกษา 1,500 บาท

ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยเอกชนในต่างจังหวัด อย่างมหาวิทยาลัยตาปี จ.สุราษฎร์ธานี ให้ความสำคัญกับการเรียนผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ให้เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วย Google Classroom ลดค่าเทอมเหลือเพียง 19,500 บาท มีเงิน กยศ.ให้นักศึกษากู้ยืม ขณะที่สถาบันรัชต์ภาคย์ จ.ลพบุรี จัดทุนการศึกษายาว สำหรับนักศึกษาใหม่ที่เรียนจบ ม.6 หรือ ปวช. ที่มีเกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) ขึ้นไป จะได้รับทุนเรียนฟรีตลอดหลักสูตร โดยไม่ต้องใช้ทุนคืนเมื่อเรียนจบแล้ว นอกจากนี้ยังจัดหอพักราคาถูกให้บริการ มอบตำราเรียนฟรีตลอดหลักสูตร ฟรีชุดนักศึกษาและมีสวัสดิการจัดหางานพิเศษ part time ให้กับนักศึกษาด้วย

เลือกวันเรียนได้-กู้ดอกเบี้ยต่ำ

4) “ลดต้น-ลดออกเบี้ย” หลังเรียนจบ อาทิ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา จัดสารพัดทุนสำหรับประเภททุนเรียนดี ครีเอตเอาใจนักศึกษาติดเพื่อน ด้วยการใช้เงื่อนไขที่ว่า ในกรณีที่จับคู่มาเรียนจะได้ส่วนลดค่าเทอมถึง 15% ตลอดหลักสูตร หากยกทีมเข้ามาสมัครเรียน มหาวิทยาลัยมอบทุนสนับสนุนเพิ่มอีก 5,000 บาท

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังต่อยอดสาขาวิชาที่ตลาดต้องการ คือ “โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital)” สนับสนุนเงินกู้ยืมให้นักศึกษาที่ต้องการเรียนในกลุ่มที่รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) เพื่อ “ป้อนกำลังคน” ในสายอาชีวะ/สายวิชาชีพ ที่ยังขาดแคลน พร้อมทั้งให้สิทธิพิเศษกับผู้กู้ยืมเรียนในช่วงปีการศึกษา 2562-2566 ด้วยอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมไม่เกิน 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมในระดับ ป.ตรี เมื่อเรียนจบลดเงินต้นให้ 30% และจบระดับอาชีวศึกษา ลดเงินต้นให้ 50%และมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ชููคอนเซ็ปต์ “เรียน ป.ตรี สไตล์คนทำงาน” เข้าเรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ แบ่งชำระค่าเทอมเป็นรายเดือนได้ สำหรับผู้จบ ปวส. หรือเทียบเท่า เทียบโอนหน่วยกิตได้ ผู้ที่จบป.ตรี ใบที่ 2 ก็สามารถเทียบโอนได้เช่นเดียวกัน

รามฯลดค่าหน่วยกิต 40%

แม้แต่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ประกาศลดค่าหน่วยกิตลง 40% สำหรับนักศึกษาใหม่ ทั้งระดับ ป.ตรี ภาคปกติ และนักศึกษา Predegree โดยเฉพาะเมื่อเรียนจบในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถนำหน่วยกิตล่วงหน้ามาเทียบโอนหน่วยกิตและสมัครเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีตามระเบียบของมหาวิทยาลัยในสาขาต่อไปนี้ คือ คณะนิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ส่วนหนึ่งคือเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่มีครอบครัวได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่หยุดชะงักในช่วงที่โควิด-19 ระบาด โดยนักศึกษาสามารถเข้ามาสมัครผ่านระบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยได้

สงครามราคาพากันเจ๊ง

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้ความเห็น “ประชาชาติธุรกิจ” เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การประกาศลดราคาค่าเทอม โปรโมชั่นดึงนักศึกษา ฯลฯ เป็น “ข้อกังวล” ที่มีการหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุม ทปอ.ครั้งล่าสุดว่า หากการศึกษาต้องแข่งขันกันด้วย “ราคา” เท่ากับว่าการศึกษาของไทยจะ “อ่อนแอ” เพิ่มมากขึ้น เพราะธุรกิจการศึกษาไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของภาครัฐ หรือของเอกชน ต่างเจอปัญหาหนัก

ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราการเกิดใหม่ของประชากรไทยลดลง และล่าสุดคือการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรง เมื่อแข่งขันกันด้วยราคาจะส่งผลต่อรายได้และคุณภาพของหลักสูตร ที่น่าห่วงกว่านั้นคือปัญหาอาจบานปลายขาดสภาพคล่องทางการเงินจนถึงขั้นต้องปิดมหาวิทยาลัย หรือขายทอดตลาดเหมือนกับช่วงก่อนหน้านี้

ปี 2562 ที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาใหม่ในระบบ TCAS ประเมินว่าจำนวนนักศึกษาจะอยู่ในระดับ 4-5 แสนคน และปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 3-4 แสนคน จากในอดีตจำนวนนักศึกษาอยู่ที่เกือบ 1 ล้านคน และควรตั้งรับด้วยการ 1) สาขาวิชาใดที่มีนักเรียนน้อยมากควรปิดตัวลง และไปพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการตลาดได้ 2) อัตราค่าเทอมควรอยู่ในระดับที่จะสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยได้อย่างยั่งยืน 3) ไม่ควรฝากความหวังนักศึกษาต่างประเทศที่จะเข้ามาเรียนในเมืองไทยมากนัก อย่างเช่น นักศึกษาจากจีน เป็นต้น

“ผมไม่เข้าใจว่าในรายวิชาที่มีผู้เรียนน้อยจะเก็บไว้ทำไม เราควรพัฒนาและเดินไปข้างหน้าให้ได้ บางแห่งจัดโปรฯไฟไหม้ ทั้งลด แจก แถม แทบจะอุ้มนักศึกษาเข้ามาเรียน หรือแม้แต่ให้เรียนฟรี นักศึกษาในยุคนี้ก็ยังไม่สนใจ ขณะนี้ปัญหาขยายวงไปสู่บุคลากรในแวดวงการศึกษาแล้ว อาจจะถูกเลิกจ้างเพราะมหาวิทยาลัยต้องลดค่าใช้จ่าย เพื่อประคับประคองให้ไปต่อได้ คาดว่าช่วงสิ้นปี”63 นี้ อาจจะมีหลายรายที่จะพากันเจ๊ง”

ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยรัฐก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ความรุนแรงจะน้อยกว่า เพราะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ยกตัวอย่าง สจล. มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5,200 ล้านบาท/ปี แต่ได้รับเงินสนับสนุน 2,300 ล้านบาท/ปี หรือแม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องใช้เงินราว 10,000 ล้านบาท/ปี ได้รับเงินสนับสนุุนที่ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากจุฬาฯมีรายได้จากการดำเนินการด้านอื่นในเชิงธุรกิจ คำถามที่ตามมาคือ “ส่วนต่าง” ของงบประมาณที่หายไป มหาวิทยาลัยจะต้องบริหาร จัดหารายได้ด้วยตัวเอง

TCAS 63 แตะที่ 3.7 แสนคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการรายงานของระบบการคัดเลือกกลาง หรือ TCAS ระบุว่า การประกาศคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในปีการศึกษา 2563 ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. ปี 2562 รอบที่ 1 (เสนอแฟ้ม) มีผู้สมัครรวม 136,636 ที่นั่ง ตามมาด้วยรอบ 2 (โควตา) ยอดรับสมัครรวม 97,262 ที่นั่ง รอบ 3 (รับตรงร่วมกัน) รวม 74,435 ที่นั่ง รอบ 4 (แอดมิสชั่น) รวม 68,186 ที่นั่ง รวมทั้งหมด 376,519 ที่นั่ง และรอบ 5 (รับตรง) ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปยอดที่นั่ง ชี้ให้เห็นว่าจำนวนนักเรียนจบใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยมีจำนวนลดน้อยลงมาก

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 13
  • Yo.
    พ่อ แม่ เราและน้องชายอีกสองคน จบรามคำแหงครับ ปัจจุบัน รับราชการทั้งหมด พ่อกับแม่ เกษียณแล้ว พ่อปิดฉากในตำแหน่ง รองผู้บริหารจังหวัด แม่อำลาด้วยตำแหน่ง พัฒนาการท้องที่ พวกเราสามคนลูกผู้ชายรับไม้ต่อ กระทรวงเดียวกัน คนละกรม ครอบครัวผมเหลือน้องสาวคนเล็กคนเดียวที่ยังไม่จบ แพทย์ศาสตร์เชียงใหม่ ผมกล้าเอาตำแหน่งหน้าอันที่ของผมประกันเลยว่า เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ไม่ตรงเรียนเก่ง ขอแค่ตั้งใจเรียน มีเป้าหมาย รับรองไปถึงฝัน เดี๋ยวสักวันมันต้องได้ดีเอง
    06 มิ.ย. 2563 เวลา 06.04 น.
  • mon
    คือ เด็กที่พ่อแม่ มีปัญญาส่งเรียนถึง มหาลัยลดลงทุกปี เด็กที่เกิดส่วนมาก เกิดจากพ่อแม่ มีรายได้ต่ำ คุณภาพชีวิตยังไม่ดีมาก ส่งเรียนได้อย่างมาก ก็ ไม่เกินมัธยมปลาย ส่งเรียนระดับ มหาลัย ก็ไม่มีปัญญาส่ง ยิ่งเป็นเอกชน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง สรุป เด็กที่พ่อแม่มีปัญญาส่งเรียนถึง ระดับมหาลัย เกิดน้อย เพราะคนที่เรียนจบระดับปริญญาตรีขึ้นไป ยังไม่ค่อยพร้อมที่จะมีลูก คนพร้อมก็มีลูกยาก ปัญหานี้ จะเบ่งบานเต็มที่ ในอนาคต เด็กที่เกิดมาจะมีแต่ ชนชั้นแรงงานมากกว่า ใช้สมอง
    06 มิ.ย. 2563 เวลา 05.43 น.
  • แอนน์ ธนชพร
    อยู่​บ้านนอก​เด็ก​เกิดใหม่เป็นไปตามปกติตั้งครรภ์​ในวัยรุ่นเยอะ​ แต่เด็กที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบป.6เยอะมากประเภทไม่จบม.3_ม.6เยอะจบม.6แล้วไม่ได้เรียนก้อมากเศรษฐกิจ​ไม่ดีพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเด็กไม่รักเรียน​ เลยจบวิชายาเสพติด/นำ้ต้มกระท่อมกันถ้วนหน้า
    06 มิ.ย. 2563 เวลา 05.18 น.
  • Serina
    สมัครเรียนที่นี้ตอนนี้เรามาโปรโมชั่นแถมแฟบซักผ้ากับอาม่าหนึ่งกล่องให้ท่าน
    06 มิ.ย. 2563 เวลา 05.06 น.
  • Chinna Ozone
    ของรัฐกว่าจะจบก็แทบแย่แล้วจ้า การศึกษาคือการลงทุนจริงๆ
    06 มิ.ย. 2563 เวลา 05.04 น.
ดูทั้งหมด