ทั่วไป

มินนิโซตาเปิดการสืบสวนสำนักตำรวจรัฐประเด็น ‘สิทธิพลเมือง’ หลังฟลอยด์ดับสลด

Xinhua
เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2563 เวลา 07.40 น.

คลิปวิดีโอที่ผู้พบเห็นเหตุการณ์ถ่ายไว้ระหว่างที่เดเร็ก ชอวิน (Derek Chauvin) เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้หัวเข่ากดลำคอของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวดำไร้อาวุธแนบกับพื้น ฟลอยด์คร่ำครวญว่า "ผมหายใจไม่ออก" หลายครั้งก่อนจะเสียชีวิตระหว่างถูกจับกุมตัว ในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2020

วอชิงตัน, 3 มิ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (2 มิ.ย.) ทิม วอลซ์ (Tim Walz) ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา สหรัฐฯ ระบุว่า มินนิโซตาเตรียมเปิดการสืบสวนสำนักตำรวจเมืองมินนิแอโพลิส (MPD) ในด้านสิทธิพลเมือง หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจของเมือง 4 คนเกี่ยวพันกับเหตุฆาตกรรมที่โหดร้าย ของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวดำไร้อาวุธเมื่อสัปดาห์ก่อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วอลซ์ระบุว่าสำนักงานสิทธิมนุษยชนของมินนิโซตาได้ยื่นฟ้องสำนักตำรวจเมืองมินนิแอโพลิสด้วยข้อหาด้านสิทธิพลเมือง และจะตรวจสอบ "นโยบาย ระเบียบการ และวิถีปฏิบัติช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อตัดสินว่าสำนักตำรวจมีการเลือกปฏิบัติในเชิงระบบหรือไม่"

"เจ้าหน้าที่ของผมจะใช้เครื่องมือและวิถีทางทั้งหมดที่มีเพื่อกำจัด และรื้อโครงสร้างการเหยียดเชื้อชาติเชิงระบบ ที่มีมาหลายชั่วอายุคนในรัฐมินนิโซตา" วอลซ์โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์หลังงานแถลงข่าว "การดำเนินการในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการในอนาคตอีกหลายๆ ประการ เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นของชุมชนให้กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่มันหายไปนานเกินควร"

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

"ชีวิตคนผิวดำก็สำคัญเหมือนกัน" ระหว่างเข้าร่วมการประท้วงกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2020

ฟลอยด์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองมินนิแอโพลิส 4 คนจับกุม โดยเขาถูกกดลงกับพื้นหลังตำรวจได้รับรายงานว่าฟลอยด์ใช้ธนบัตร 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 630 บาท) ปลอมในการซื้อบุหรี่ โดยไม่นานหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทั้ง 4 รายถูกปลดจากตำแหน่ง และเดเร็ก ชอวิน (Derek Chauvin) เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้หัวเข่ากดลำคอของฟลอยด์นานเกือบ 9 นาทีขณะที่ฟลอยด์ร้องขอชีวิตซ้ำๆ จนเสียชีวิต ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม (third-degree murder) และทำให้คนตายโดยไม่เจตนา (manslaughter)

"เราไม่ได้ดำเนินการเพื่อนำบุคคลใดบุคคลหนึ่งมารับโทษอาชญากรรม" รีเบกกา ลูเซโร (Rebecca Lucero) กรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของมินนิโซตา ซึ่งจะเป็นผู้นำการสืบสวนกล่าว "เราทำเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงระบบ"

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

"ชีวิตคนผิวดำก็สำคัญเหมือนกัน" ระหว่างเข้าร่วมการประท้วงกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2020

การเสียชีวิตของฟลอยด์จุดประกายการประท้วงทั่วสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านการกระทำเหี้ยมโหดและการเหยียดเชื้อชาติของตำรวจ ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลังการประท้วงทวีความรุนแรงจนเกิดการจลาจลขึ้นหลายแห่งในสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (1 มิ.ย.) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาขู่ว่าจะใช้กำลังทหารจัดการกับผู้ประท้วง ทำให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหลายคนออกมากล่าวประณามเขา รวมถึงโจ ไบเดน (Joe Biden) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นคู่แข่งลงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีกับทรัมป์ในปีนี้

ดูข่าวต้นฉบับ