ไลฟ์สไตล์

รวมพระราชวงศ์ที่ทรงกระทำผิดต้องโทษประหาร และถูกถอดพระยศลงเป็น “หม่อม”

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 30 ต.ค. 2562 เวลา 03.35 น. • เผยแพร่ 30 ต.ค. 2562 เวลา 03.33 น.
รูปเจ้าฟ้าเหม็นตามจินตนาการ (ภาพจากหนังสือ “กบฏเจ้าฟ้าเหม็นฯ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน 2457)

ในประวัติศาสตร์ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลายครั้งที่เจ้านายทรงกระทำผิดโทษถึงประหารชีวิต ซึ่งตามพระราชประเพณีจะต้องถูกถอดพระยศลงเป็นสามัญชนและเรียกกันว่า “หม่อม”

เจ้าฟ้าเหม็น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเป็นระยะเวลาเปลี่ยนแผ่นดิน เจ้านายและ ขุนนางที่ฝักใฝ่และจงรักภักดีในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยังมีอยู่มาก ข้าราชการได้กราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่ามีกาคาบหนังสือมาทิ้งไว้ที่ต้นไม้หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต หรือเจ้าฟ้าเหม็น พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประสูติแต่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ พระราชธิดาองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมด้วยพระเชษฐาคือพระองค์เจ้าหนูดําและพระขนิษฐาคือพระองค์เจ้าสําลีวรรณ พระราชชายา ในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ คบคิดกับขุนนางหลายนายจะก่อกบฏชิงราชสมบัติ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงชําระคดีความได้ความเป็นสัตย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถอดพระยศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต เป็น หม่อมเหม็น” แล้วนําไปสําเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา ส่วนพระองค์เจ้าหนูดํา พระองค์เจ้าสําลีวรรณ และข้าราชการอื่นๆ ที่สมรู้ร่วมคิดมีพระยาพลเทพบ้านแม่ลาเป็นต้นนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดศีรษะเสียทั้งสิ้น

พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษรณเรศ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาฟ้องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษรณเรศ พระปิตุลา แต่มีพระชนมายุคราวเดียวกันกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นกําลังสําคัญให้พระองค์ได้ครองราชย์และเป็นเจ้านายที่ประทุษร้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระผนวชอยู่เป็นประจํา

คําฟ้องมีว่ากรมหลวงรักษรณเรศทรงพิพากษาคดีของราษฎรไม่ยุติธรรมไม่สมกับที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย กรมหลวงรักษรณเรศทรงเลี้ยงโขนละครผู้ชายไว้มากมาย บริวารของพระองค์ท่านรับสินบนทั้งของโจทก์และจําเลยทรงเกลี้ยกล่อมขุนนางและพวกพ้องไว้มาก ทรงมักใหญ่ใฝ่สูงทําเทียมพระเจ้าแผ่นดินหลายประการ

ตั้งแต่ทรงมีคณะโขนละครผู้ชายขึ้นในวังแล้ว ก็บรรทมอยู่กับพวกโขนละครไม่บรรทมกับหม่อมห้ามในวังเลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ไต่สวนพวกโขนละครของกรมหลวงรักษรณเรศ ได้ความตรงกันว่าทรงเป็นสวาทกับพวกละคร ไม่ถึงกับชําเรา แต่เอามือพวกโขนละครและหัตถ์ของพระองค์ ท่านกําคุยหฐานซึ่งกันและกันจนภาวะธาตุเคลื่อน ตุลาการชําระความประจักษ์แล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดเสียจากพระยศให้เรียกว่า “*หม่อมไกรสร”* และภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้สําเร็จโทษทุบด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคาเสียเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2391

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ 

เจ้านายอีกพระองค์หนึ่งคือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในพระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงถูกสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดกับ หม่อมไกรสรด้วย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้จับสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอาภรณ์เข้าที่คุมขังด้วย แต่ยังมิทันจะทรงชําระคดีเกิดอหิวาตกโรคระบาด สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอาภรณ์สิ้นพระชนม์ในที่คุมขังนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นําพระศพไปฝังดินไว้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะนั้นทรงพระผนวชอยู่ และทรงเป็นอธิบดีสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารทรงพระเมตตาสงสารสมเด็จพระราชอนุชาพระองค์นี้จึงทรงขอ พระบรมราชานุญาตจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ขุดพระศพขึ้นมาบําเพ็ญพระกุศลและพระราชทานเพลิงพระ ศพอย่างเงียบๆ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีทิดซึ่งสึกใหม่จากวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ปลอมตัวเป็นหญิงเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง และมาอยู่ที่ตําหนักของพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา และได้เสียกันจนพระเจ้าพี่นางเธอทรงครรภ์ใหญ่ขึ้นทุกวัน

ชาววังพากันลือว่าประชวรพระโรคท้องมาน คราวหนึ่งเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม (สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา) ขอให้เปิดพระภูษาให้ดู เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมอุทานว่าเหมือนคนตั้งท้องไม่มีผิด ภายหลังประสูติเด็กชาย ทรงเอาเด็กชายนั้นใส่กระโถนทิ้งไว้ พระเจ้าน้องนางเธอพระองค์หนึ่งเสด็จมาเยี่ยมพบเด็กที่ซ่อนไว้ความจึงแตก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระราชหฤทัยมาก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จองจําติดขื่อคาพระเจ้าพี่นางเธอตามบทพระอัยการ ซึ่งทรงสิ้นพระชนม์ในไม่ช้า ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นําศพไปฝังเสีย ภายหลังเจ้านายและชาววังออกพระนามพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์นี้ว่า M.Y.

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีการลงโทษพระบรมวงศานุวงศ์ตามบทพระอัยการและโบราณราชประเพณี แต่เป็นโทษเบา และบางครั้งเป็นเรื่องของอารมณ์ส่วนพระองค์ เจ้านายที่ต้องโทษหามีไม่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “หม่อม” โดย เล็ก พงษ์สมัครไทย. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 27 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2549)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2562

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • ¥นุคุง×ฝันหวาน¥
    โหดเกิ๊น#แล้วปัจจุบันล่ะ
    18 ก.พ. 2562 เวลา 15.59 น.
ดูทั้งหมด