ไลฟ์สไตล์

โรคระบาดในประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้มีแต่ 'โรคห่า' ว่าด้วยชาวสยามกับการเผชิญโรคระบาด

The MATTER
อัพเดต 29 มี.ค. 2563 เวลา 05.21 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. 2563 เวลา 17.22 น. • Thinkers

ชาวไทยเผชิญภัยโรคระบาดมาตั้งแต่อดีตกาล ล่าสุด โรคที่จู่โจมพวกเราจนสถานการณ์บ้านเมืองเข้าขั้นวิกฤตย่อมได้แก่ COVID-19 ซึ่งส่งผลให้วิถีประจำวันของทุกคนแปรเปลี่ยน จากเคยใช้ชีวิตปกติ ก็ต้องกักตัวจับเจ่าอยู่กับบ้าน และต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing)

ว่ากันเรื่องโรคระบาดในประวัติศาสตร์ไทย ดูเหมือนคนส่วนใหญ่มักไพล่นึกถึง ‘โรคห่า’ หรือ ‘อหิวาตกโรค’  โดยเฉพาะอหิวาตกโรคที่ระบาดหนักหน่วงในสมัยรัชกาลที่ 2  เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2363  ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมากโข จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีอาพาธพินาศ  ตอนนั้น ทางการประกาศให้ชาวสยามอยู่บ้าน ไม่ออกไปไหน ทำให้เชื้อโรคค่อยๆ ลดการระบาดลง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 อหิวาต์ระบาดอีก บุคคลสำคัญของบ้านเมืองผู้สิ้นลมหายใจด้วยโรคนี้คือเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ครั้นสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 อหิวาต์ก็มิวายระบาดหนัก แต่พอวิทยาการแพทย์แบบสมัยใหม่หลั่งไหลมาสู่ประเทศ พลันเริ่มมีการจัดการสุขอนามัยเพื่อป้องกันและมียาปราบอหิวาตกโรค มิหนำซ้ำ ชาวสยามเองก็ยังตระหนักว่าควรดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคด้วย  ซึ่งเห็นได้จากโฆษณายาปราบเชื้ออหิวาต์บนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆช่วงทศวรรษ 2460 เรื่อยมา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภาพจากหนังสือพิมพ์ หลักเมือง รายสัปดาห์ ประจำวันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พระพุทธศักราช 2468

‘โรคห่า’ ใช่จะแปลว่าอหิวาตกโรคตรงๆ เพราะ  ‘ห่า’ แปลว่า มาก เฉกเช่น ‘ห่าฝน’ คือฝนที่ตกลงมามาก ส่วน ‘โรคห่า’ หรือ ‘ห่ากินเมือง’ หมายความว่าโรคระบาดที่ทำให้สูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมาก แน่ละ อหิวาต์รุนแรงปานนั้น คนเลยเรียกขานกัน ที่จริง โรคระบาดอื่นๆ ที่ทำให้คนตายเยอะๆ ก็ถือเป็น ‘โรคห่า’ ได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กาฬโรคมิแคล้วถูกนับเป็น ‘โรคห่า’ เพราะทำให้คนตายไม่น้อยราย ยิ่งในยุโรป นี่คือโรคน่าสะพรึงกลัว เรียกกันว่า ‘Black Death’  ขณะในเมืองไทย กาฬโรคได้ระบาดในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้จะมีความพยายามตั้งด่านตรวจโรคบนเกาะไผ่ในทะเลอ่าวไทย คอยกักตัวคนจากจีนและฮ่องกงก่อนจะล่องเรือเข้ากรุงเทพฯ เพื่อป้องกันกาฬโรคระบาด แต่ท้ายสุด กาฬโรคเริ่มระบาดจากชุมชนพ่อค้าอินเดีย ฝั่งธนบุรี และแพร่กระจายไปหลายจังหวัด อย่างไรก็ดี สถานการณ์กาฬโรคมิได้เล่นงานชาวสยามรุนแรงเทียบเท่าอหิวาตกโรค

แท้แล้ว ยังมีโรคระบาดอื่นๆ น่าศึกษาอีกเยอะ เช่น วัณโรค โรคไข้ทรพิษ  โรคเรื้อน โรคคุดทะราด และโรคไข้ต่างๆ ที่เกิดจากยุง เป็นต้น ผมหมายใจแม่นมั่นว่าในคราวถัดๆ ไปคงสบโอกาสได้เขียนบอกเล่าสู่สายตาคุณผู้อ่าน อย่างโรคคุดทะราดที่มักระบาดทางภาคใต้นั้น มีบุคคลสำคัญไปพัวพัน ไม่ว่าจะเป็นขุนพันธรักษ์ราชเดช หรือ อิศรา อมันตกุล

เดิมที ไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงการระบาดของไข้หวัดในวันวานของไทยมากนัก กระทั่งเพจหน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมได้หยิบยกหลักฐานแจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 36 วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2462 มาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดหนักในเมืองไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2461 กว่าจะสงบสิ้นเชื้อก็เดือนมีนาคม พ.ศ. 2462 มีคนติดเชื้อไข้หวัดในมณฑลหัวเมืองต่างๆ ทั้ง 17 มณฑลแต่ยังไม่รวมมณฑลกรุงเทพฯ 2,317,662 คน และมีผู้เสียชีวิต 80,223 คน ใครๆ จึงหันมาแชร์ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งผมคิดว่าเหมาะเจาะกับสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 เสียมากกว่ากรณีอหิวาตกโรค

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเมืองไทยช่วงต้นทศวรรษ 2460 เรียกขานกันว่า ‘ไข้หวัดสเปน’ สืบเนื่องจากในปี ค.ศ.1918 หรือ พ.ศ.2461 สมัยรัชกาลที่ 6 ได้เกิดเชื้อหวัดในทวีปยุโรประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1  ที่จริงพบคนติดไข้หวัดใหญ่ในหลายๆ ประเทศ พบผู้ป่วยที่เป็นทหารอังกฤษ ทหารฝรั่งเศส ทหารสหรัฐอเมริกา และทหารเยอรมัน  แต่ประเทศอื่นๆ มัวปิดข่าวเพราะกำลังอยู่สภาวะสงครามคับขัน ประเทศสเปนซึ่งไม่เข้าร่วมสงครามจึงประกาศข่าวโรคระบาด เลยเป็นที่มาของชื่อ ‘ไข้หวัดสเปน’ ชาวโลกติดเชื้อหวัด 50-100 ล้านคนและเสียชีวิต 20-40 ล้านคน แทบไม่น่าเชื่อว่า ไข้หวัดนี้จะแพร่มาถึงเมืองไทยด้วย เริ่มจากระบาดทางภาคใต้ในเดือนตุลาคมแล้วกระจายไปทั่วราชอาณาจักรจนควบคุมได้ในเดือนมีนาคม โดยทางการสยามส่งยาไปช่วยรักษาสมทบกับแพทย์ประจำเมือง

ใคร่จะสาธยายข้อมูลเพิ่มเติมที่ผมเคยผ่านตาให้อีกว่า ภายหลัง ‘ไข้หวัดสเปน’ ระบาดครั้งใหญ่ ชาวไทยทวีความตื่นตัวต่อโรคหวัด ขณะเดียวกันมีการผลิตยาป้องกันและแก้โรคไข้หวัดหลายขนานออกมาจำหน่าย ถ้าสังเกตดีๆ ยาโรคไข้หวัดที่โฆษณาบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ในทศวรรษ 2460 มักระบุสรรพคุณโดยพาดพิงถึงไข้หวัดใหญ่ที่มาจากทวีปยุโรปเมื่อต้นทศวรรษ ตัวอย่างเช่น โฆษณายาเม็ดดำตรากิเลนของห้างโอสถสถาน เต๊กเฮ้งหยูในหนังสือพิมพ์ เกราะเหล็ก ประจำวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2468 ที่โปรยถ้อยคำว่าสามารถใช้แก้ไข้ทุกชนิด ทั้ง “ได้เคยมีชื่อเสียงในการปราบไข้หวัดที่จังหวัดเพ็ชร์บุรีสงบ” และ “ได้มีชื่อเสียงในการปราบไข้หวัดใหญ่คราวที่แล้ว” ยาเม็ดดำตรากิเลนยังเน้นย้ำอีกในคำโปรยโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ธงไทย ประจำวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 ว่า “เปนยาแก้ไขอย่างศักดิ์สิทธิ์ เคยมีชื่อเสียงในการปราบไข้ที่เปนกันทั่วทั้งจังหวัดเพ็ชร์บุรี และคราวไข้หวัดใหญ่ที่เปนกันทั่วประเทศ” ลองพิจารณาจากโฆษณาจะเห็นว่า ไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศต้นทศวรรษ 2460 เป็นภาพจำหลักอยู่ในความรับรู้ของชาวไทยไม่เบาทีเดียว

ภาพจากหนังสือพิมพ์ เกราะเหล็ก ประจำวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2468

ห้างโอสถสถาน เต๊กเฮ้งหยู เจ้าของยาตรากิเลน และมีสำนักงานอยู่ตรงสี่แยกสะพานเหล็ก ถนนเจริญกรุง ถือเป็นแหล่งที่มุ่งเน้นผลิตยาออกมารักษาโรคระบาดสำคัญๆ ในเมืองไทยเป็นหลัก นอกเหนือจากยาแก้ไข้หวัด ห้างนี้ยังผลิตยาแก้อหิวาตกโรค นั่นคือ ยากฤษณากลั่นตรากิเลน อวดสรรพคุณว่า “ปราบโรคอหิวาต์ได้สงบ มีชื่อกว่าขนานใดหมด” เพราะเคยปราบอหิวาต์ครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ และที่นครศรีธรรมราช เป็นยาที่เจ้านาย ทหาร และเสือป่านิยมใช้  ทั้งกล้ารับประกันทำนอง “อย่าเข้าใจว่ายาที่แก้โรคปวดท้องลงท้องธรรมดาให้สงบได้นั้นจะแก้โรคอหิวาต์ได้ ควรเลือกใช้แต่ยาตรากิเลน จะช่วยชีวิตของท่านไว้ได้จริงๆ”

ภาพจากหนังสือพิมพ์ ธงไทย ประจำวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468

ในปี พ.ศ. 2472 หลวงชาญวิธีเวช (แสง สุทธิพงศ์ ต่อมาได้เป็นพระชาญวิธีเวช และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) แพทย์ประกาศนียบัตรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปริญญาสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ได้เขียนหนังสือเรื่อง หวัด พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์ตรี พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหเสรษฐี) เพราะเล็งเห็นว่า “โรคหวัดเป็นโรคที่มนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใด มั่งมีหรือยากจน คนอ้วนหรือคนผอม  ย่อมประสพด้วยกันทั้งสิ้น และมีจำนวนบุคคลเป็นอันมากที่ต้องทรมานหรือเป็นอันตรายเพราะโรคหวัดเป็นเจ้าเรือน ดังนั้น จึงได้พยายามเขียนโดยใช้ถ้อยคำที่ง่ายๆ และสั้นๆ เพื่อท่านผู้อ่านจะได้ไม่เปลืองเวลามาก…”

ตามทัศนะของหลวงชาญวิธีเวช แม้หวัดจะดูเป็นโรคเล็กน้อย แต่อาจเป็นชนวนไปสู่อาการร้ายแรงจนก่ออันตรายต่อชีวิต อวัยวะที่หวัดมักทำลายคงมิพ้นปอด โดยเฉพาะอาการปอดอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรีย คุณหลวงยังพาดพิงถึงตอนที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดระหว่างมหาสงครามในทวีปยุโรป พบทหารหลายชาติแสดงอาการปอดอักเสบ แต่ “ทหารในกองทัพอเมริกันได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้โดยทั่วถึงกัน และปรากฏว่า มีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้น้อยกว่าทหารในกองทัพของชาติอื่นๆ”

ก็เมื่อโรคหวัดอาจนำไปสู่โรคปอด ชาวไทยจึงเกิดความคิดในการดูแลตนเองไม่ให้เป็นหวัดเพื่อจะได้แผ้วพานโรคปอดด้วย หน้าสื่อสิ่งพิมพ์ปรากฏโฆษณายาบำรุงปอด ยาสมุนไพรซ่อมปอด ยาปฏิชีวนะ และยาฟื้นฟูปอดอักเสบให้เห็นบ่อยๆ กระนั้น นับแต่ทศวรรษ 2460 จนทศวรรษ 2480 โรคหนึ่งที่พบมากขึ้นในเมืองไทยคือวัณโรค อันเป็นโรคทางปอดที่รุนแรง ทางการจึงเล็งเห็นความสำคัญที่จะตั้งสถานพยาบาลที่ใช้ปราบวัณโรคและโรคปอด ดังมีการสร้างโรงพยาบาลวัณโรคเป็นแห่งแรกของไทยที่นนทบุรีช่วงพ.ศ. 2482-2484 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พอทศวรรษ 2490 การระบาดหนักของวัณโรคทำให้คนตายเป็นอันดับสองรองจากไข้มาลาเรีย คณะแพทย์ได้พัฒนาการป้องกันรักษาอย่างแข็งขัน จนในที่สุดได้มีวัคซีนฉีดป้องกันโรคนี้

ภาพจากนิตยสาร กรุงเทพฯบรรเทอง ในทศวรรษ 2490

กลุ่มคนหนึ่งที่มักประสบความทุกข์จากโรคปอดและวัณโรค ได้แก่ กลุ่มนักเขียนนักประพันธ์ ซึ่งพวกเขาได้ถ่ายทอดสภาวะของผู้ป่วยลงไปในผลงานของตน เช่น อ.อุดากร ที่ป่วยวัณโรคขณะเป็นนักศึกษาแพทย์จนไม่สามารถเรียนต่อได้ ต้องออกมาเขียนหนังสือและสะท้อนอารมณ์ผู้ป่วยผ่านเรื่องสั้นของเขา เช่นเรื่อง ‘สัญชาตญาณมืด’  เป็นต้น ส.ธรรมยศ เป็นอีกคนหนึ่งที่วัณโรคมาเยือนปอด ต้นทศวรรษ 2490 เขาป่วยหนักจนต้องลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ ร่างกายย่ำแย่ ไอตลอดเวลา ยามนั่งจะต้องมีหมอนรองทั้งหน้าอกและแผ่นหลัง แต่ ส.ธรรมยศยังคงค้นคว้าและเขียนหนังสือตลอดเวลา มิเว้นกระทั่งนอนซม ณ โรงพยาบาลกลางนนทบุรีและได้ทำงานไปจนหมดสิ้นลมหายใจ

ที่เรียงร้อยมาหลายบรรทัดคือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่ที่เราเผชิญในปัจจุบันคือ COVID-19 เป็นโรคระบาดที่อันตรายร้ายกาจ เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ของมันเร่งเร้าให้ปอดอักเสบรุนแรงและยังไม่มียาปราบปรามโรคให้หาย ฟังข่าวคราว นับวันยิ่งพบคนติดไข้หวัดเพิ่มเรื่อยๆ ถ้าจะเปรียบประเทศประหนึ่งร่างกายมนุษย์ ปอดทั้งสองก็กำลังถูกรังควานหนักหน่วง พวกเราทั้งหลายจึงควรพร้อมใจช่วยกันฝ่าฟันภาวะโรคระบาดครั้งนี้ให้ลุล่วงไปได้

 

  

เอกสารอ้างอิง

เกราะเหล็ก. (6 กันยายน 2468)

ขวัญชาย ดำรงขวัญ.  UNSEEN กรมควบคุมโรค เส้Œนทางประวัติศาสตรและความทรงจำ.นนทบุรี:

สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข,

2559

ไข้หวัดใหญ่สเปน ระบาด 100 ปีก่อน สมัยร.6 ผู้ป่วยเสียชีวิต 20-40 ล้านคน, ที่มา

https://www.silpa-mag.com/history/article35900

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 36 วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2462, ที่มา

            หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม,

https://www.facebook.com/cumaplab/?tn-str=k*F

ชาญวิธีเวทย์, หลวง.หวัด. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์ตรี พระยาโชฎึกราชเศรษฐี

(มิ้น เลาหเสรษฐี).พระนคร: โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2472

ทวีศักดิ์ เผือกสม. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย.**

พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: Illumination Editions, 2561.

ทิพากรวงศ์,เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์.

พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2504

ธงไทย. (20 กุมภาพันธ์ 2468)

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. กาฬโรคสมัยรัชกาลที่ ๕. บรรณาธิการโดย ธันวา วงศ์เสงี่ยม.กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2562

หลักเมือง. (26 ธันวาคม 2468)

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายแพทย์ แสง สุทธิพงศ์ (พระชาญวิธีเวช) ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ

ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 28 ธันวาคม 2512.  พระนคร: บริษัทบพิธ

(แผนกการพิมพ์), 2512

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 14
  • Chumroen..
    ความรู้เหล่านี้ควรจัดเก็บเอาไว้ให้รุ่นหลังได้ศึกษาเปรียบเทียบ ใช่แต่จะอยู่ในยุคที่เรียกว่าทันสมัยอะไรๆก็เจริญ แต่ยาบางอย่างที่ทำใช้แต่โบราณ ปัจจับันสามารถกำจัดเชื้อโรคต่างๆได้ดีกว่ายาในปัจจุบันเสียอีก
    29 มี.ค. 2563 เวลา 01.26 น.
  • Seangpana
    รัฐบาล แม้จะรักเราห่วงเรา ช่วยเรา ในภาวะเช่นนี้ก็ไม่ใช่เราจะงอมืองอเท้ารอความช่วยเหลือ หรือโวยวาย หาของฟรี แต่ถ้าเราอยากมีชีวิต ยาวอีกหน่อย ก็ควรปฏิบัติตามกฏเกณท์ ที่คณะแพทย์ เสนอแนะมา แต่ถ้าอยากตายก็ฝืนทุกกรณี แล้วหาป่าช้า หรือ ป่าดิบ แยกตัวเองรอความตายไปเลย จะได้หมดกังวล ที่ไม่มีตัวตน โรคนี้เป็นแม้จะเป็นธรรมชาติ หรือ คนสร้างมา ก็เพื่อ จัดสมดุลย์ มนุษย์ คนแข็งแรงอยู่ คนอ่อนแอ ต้องตาย ฉะนั้นอย่าไปเครียด ตายก็ตาย เป็นก็เป็น อย่าเห็นแก่ตัว เท่านั้นเอง ความสุขก็จะกลับมา สวัสดี
    29 มี.ค. 2563 เวลา 01.59 น.
  • gin
    ขอบคุณข้อมูลความรู้ดีดีครับ
    29 มี.ค. 2563 เวลา 01.41 น.
  • Taiz.s
    ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ เขารัดหนังยางไวแน่น แต่สุดท้ายคนแกะก็แกะออกจนได้ ไม่ว่าจะด้วนวิธีใด หรือจะเอามีดตัดแล้วเอาหนังยางอิกก็สุดจะตามแต่ สุดท้ายก็แกะะออกจนได้.. . #เก่งมากๆครับ ขอคาราวะ.. 🤝👍🤘 ................... .... . . แล้วท่านแกะตำรานี่จากใครมา.. . 08.42 น. เวนิสเมืองไทย..
    29 มี.ค. 2563 เวลา 01.40 น.
  • โควิดสงบจบที่ยาตรากิเลน ???
    29 มี.ค. 2563 เวลา 01.19 น.
ดูทั้งหมด