‘สวัสดีค่ะ ไหนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวคุณมาสิคะ?’
‘อ๋อ ดิฉันเพิ่งหย่าค่ะ’
‘หมอเสียใจด้วยนะคะ’
‘เสียใจทำไมอะคะ? ฉันไม่เห็นจะรู้สึกเสียใจเลย’
นี่คือเรื่องราวที่อาจารย์จิตวิทยาคนหนึ่งเล่าให้เราฟัง เธอไปหานักจิตบำบัดคนหนึ่ง (ใช่ค่ะ นักจิตบำบัดเอง บางครั้งก็ไปหานักจิตบำบัดเหมือนกัน) เธอบอกนักจิตบำบัดคนนั้นถึงชีวิตแต่งงานที่ไม่ได้ลงเอยอย่างราบรื่นของเธอ นักจิตบำบัดคนนั้นมีท่าที ‘สงสาร’ ซึ่งสำหรับเธอแล้ว การหย่าคือ ‘ความสุข’ ที่เธอเลือกให้กับชีวิตตัวเอง
ในทางจิตวิทยา มีคำว่า Implicit Bias
มันคือ ความลำเอียงที่อยู่เหนือจิตสำนึกการควบคุม
นั่นเป็นเพราะ เรามักมีชุดความคิดหรือทัศนคติบางอย่าง ที่มีผลต่อความเข้าใจ การกระทำ และการตัดสินใจในชีวิตของเรา และหลายครั้งความลำเอียงนี้ ก็ถูกสร้างขึ้นจากการสะสม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราได้ยินมาจากหลายๆ คน พอได้ยินบ่อยเข้า สมองเราก็เริ่มสร้างชุดความคิดและความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราได้ยินมา ทำให้เราพูดจา หรือลงมือทำอะไรบางอย่าง จากชุดความคิดนี้ที่มันฝังลึกอยู่ข้างใน โดยหลายครั้ง เราก็จับตัวเองไม่ทันว่ากำลังมีพฤติกรรมนี้อยู่!
บทสนทนาตอนต้นนั้น ก็คือตัวอย่างของ Implicit Bias ที่นักจิตบำบัดคนนี้มีต่อ ‘ทัศนคติชีวิตสมรส’ ของทุกคนในโลกว่า การหย่า = ความล้มเหลว หรือใครที่เพิ่งเลิกกับแฟน มักจะถูกโยนไปอยู่ในหมวดคนน่าสงสารทันที มันเลยออกมาเป็น ‘คำพูด’ ที่แสดงถึงความลำเอียงในใจอย่างไม่ทันตั้งตัว
(ยิ่งเป็นนักจิตบำบัด ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากแสดงความเห็นอะไรออกมา ที่มันกลายเป็นการแสดงให้เห็นถึงความลำเอียงที่มีอยู่ข้างใน อาจทำให้คนไข้รู้สึก ‘ไม่เชื่อใจ’ ในการพูดคุยกับเราก็ได้ เพราะคนไข้อาจรู้สึกว่า เรากำลังตัดสินเขาอยู่)
Implicit Bias สุดคลาสสิกในอเมริกา ก็คือทัศนคติที่คนขาวมีต่อคนดำ
(ขออธิบายเพิ่มเติมถึงคำว่า ‘คนดำ’ ซึ่งเราแปลมาจากคำว่า Black People ที่ภาษาอังกฤษใช้เรียกถึงคนที่มีผิวสีดำ ในที่นี้ไม่ได้เป็นการเหยียดเชื้อชาตินะ มันเป็นคำที่คนเขาใช้กันเป็นปกติ ส่วนที่ไม่ใช้คำว่า แอฟริกัน-อเมริกันนั้น เพราะคนที่มีผิวดำบางคนก็ไม่ได้มาจากแอฟริกา ส่วนคำว่า ‘คนผิวสี’ ก็ให้ความหมายที่กว้างไป เพราะมันหมายรวมถึงคนที่ไม่ใช่ ‘ผิวขาว’ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผิวเหลืองแบบคนจีน หรือผิวน้ำตาลแบบคนอินเดีย ฯลฯ เราเลยขอใช้คำว่า ‘คนดำ’ เพื่ออธิบายถึงคนที่มีผิวสีดำเท่านั้นทุกคนนะคะ)
ผู้คนมากมายมักมีทัศนคติต่อคนดำว่าเป็น ‘อาชญากร’
จะเห็นได้จากสื่อต่างๆ ที่คนดำมักได้เล่นหนังเป็นคนร้าย
หรือเพราะคนมักมีภาพต่อคนดำว่าเป็นกลุ่มคนมีฐานะไม่สูง จึงชอบโยงไปถึงการเป็นอาชญากร
Implicit Bias ก็จะเกิดขึ้น เช่น หลายครั้งผู้คนมักเดินข้ามถนนไปอีกฝั่งหนึ่ง เมื่อรู้ว่ากำลังจะมีคนดำเดินสวนมาโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
อีกตัวอย่างคือ หลายครั้งที่โรงพยาบาลในอเมริกา เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนไข้คนดำมาหาหมอ หมอมักจ่าย ‘ยาแก้ปวด’ น้อยกว่าคนผิวสีอื่นๆ เพราะมี Implicit Bias ไปเองว่า คนดำนั้นบึกบึน อึดทนต่อความเจ็บปวดทั้งหลายได้ดี
หลายครั้งที่ Implicit Bias มันโผล่ขึ้นมาจากจิตใต้สำนึก และสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเหมือนกัน ‘เพราะผู้คนมักตีความหมายภาพที่เห็นแค่ด้านเดียวเท่านั้น’ โดยลืมคำนึงถึงไปเลย ว่า คนหนึ่งคน ไม่จำเป็นต้องได้รับการจัดหมวดหมู่อยู่ได้แค่หมวดเดียว
เช่น ล่าสุด คุณหมอเฉิน ฟู เป็นคุณหมอชาวจีน ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโควิดในเมืองนิวยอร์ก คุณหมอเล่าถึงเหตุการณ์การเป็น ‘คนจีน’ ที่อยู่ในอเมริกาว่า เขาเคยโดนคนตะโกนด่าใส่ในรถไฟใต้ดิน แล้วก็มีคนใจดีเข้ามาช่วยเอาไว้
‘มันยากนะ ที่จะทำความเข้าใจว่าตัวเองสามารถเป็นทั้งฮีโร่ และตัวร้าย ในเวลาเดียวกัน’
หรือแม้กระทั้งนักแสดงสาวมากความสามารถอย่าง คริสเตน เบลล์ เจ้าของเสียง "เจ้าหญิงอันนา" ในภาพยนต์โฟรเซ่น
เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า
‘ตอนแรกที่เข้าวงการมา มีผู้กำกับบอกเธอว่า เธอสวยไม่พอที่จะเล่นบทนางเอก หรือไม่ได้ดูเด๋อพอจะมาเล่นบทตลก’
เธอก็งงเลยว่า อ้าว การที่เธอมีหน้าตาและบุคลิกแบบนี้ ทำให้เธอเป็นดาราไม่ได้เลยเหรอ
สรุปเลย
เราตั้งใจเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา
เพราะบทความที่เราเขียนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับประเด็นเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในอเมริกา และความกลัวของเรากับการเป็นคนเอเชี่ยนในประเทศนี้
ระหว่างเขียนไป อารมณ์ก็สั่นไหว เปราะบางเหลือเกิน แล้วก็เห็นคนคอมเม้นต์มาหลายคน ว่า จริง คนขาวนิสัยไม่ดี ชอบเหยียดคนอื่น เห็นว่าตัวเองดีที่สุด อย่างนู่นอย่างนี้ มันเลยทำให้เราชะงักขึ้นมาได้ว่า เออ เราควรจะเขียนเรื่องที่มีความเป็นกลางและไม่ส่อให้เกิดความเกลียดชังแบบนี้ไหมนะ
เพราะเพื่อนของเราที่เป็นคนขาวทุกคน ก็ดีกับเราและเป็นคนน่ารักกับเพื่อนมนุษย์จริงๆ และเราจะให้ตัวอย่างของคนขาวก้าวร้าวที่เราเห็นในวิดีโอคลิปเพียงไม่กี่คน มาทำลายภาพที่เรามีต่อคนขาวทั้งหมด ไม่ได้สิ
มั่นใจให้ได้ว่าเรากำลังดูคน ที่ความเป็นมนุษย์ของเขา
มันสำคัญมากที่ต้องเรียนรู้คนให้ลึกลงไป
กว่าภาพภายนอกที่โดนฉาบไว้ให้เรามอง
อ่านบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้ทุกวันอังคาร บน LINE TODAY
🌙 ชอบอ่านบทความที่ช่วยกระตุกต่อมคิดเช่นนี้
ขอบคุณผู้เขียนที่สะท้อนมุมมองให้เราได้กลับมาสอดส่องทัศนคติท่าทีของเราที่มีต่อผู้อื่นค่ะ
ในเรื่องของถ้อยคำ
ความเห็นส่วนตัว ถ้าใช้ 'คนผิวดำ'
คิดว่าคงจะน่าฟังกว่า 'คนดำ' เฉยๆ
ซึ่งอาจฟังดูห้วนเกินไปสักหน่อย
เป็นกำลังใจให้ค่ะ🌷
14 เม.ย. 2563 เวลา 14.33 น.
ในการยอมรับกับในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาให้ได้ ก็ย่อมที่จะช่วยทำให้ไม่เกิดปัญหาขึ้นมาได้เสมอ.
15 เม.ย. 2563 เวลา 12.49 น.
miao ชอบบทความค่ะ มาแอบอ่านนานๆ ที เขียนดี มุมมองดี เป็นกำลังใจให้นะคะ
21 เม.ย. 2563 เวลา 13.32 น.
ดูทั้งหมด