ไอที ธุรกิจ

อลหม่านไข่ไก่ขาดตลาด ห้ามส่งออก 7 วัน แก้ได้จริงหรือ

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 29 มี.ค. 2563 เวลา 03.35 น. • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2563 เวลา 05.30 น.

การใช้ยาแรง “ประกาศห้ามการส่งออกไข่ไก่ออกนอกราชอาณาจักร” ชั่วคราวเป็นเวลา 7 วัน ที่ให้มีผลบังคับใช้ทันที นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้หารือกับตัวแทนภาคเอกชนในการประชุมคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชนพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ผ่านไปเพียง 1 วัน ซึ่งในวันนั้น เจ้ากระทรวงพาณิชย์ และผู้ผลิตไข่ไก่เบอร์ 1 ของประเทศไทยอย่างซีพีเอฟ นำโดย นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ได้แถลงข่าวยืนยันว่า “ปริมาณไข่ไก่” มีเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน จึงกลายเป็นคำถามว่า เมื่อเพียงพอแล้วเหตุใดต้องประกาศห้ามส่งออก

ย้อนกลับไปในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อน สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนกังวลเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการออกจากบ้าน และหันไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นกักตุนไว้เกินปริมาณความต้องการปกติ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “ไข่ไก่” ส่งผลให้เกิดภาวะไข่ไก่ขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วงจรไข่หายไปไหน

หากไล่เลียงจากต้นน้ำการผลิตไข่ไก่ ตามข้อมูล สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ พบว่า ไทยมีจำนวนผู้ผลิต ผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั้งประเทศ 3,000-4,000 ราย มีจำนวนแม่ไก่ยืนกรง 49 ล้านตัว สามารถผลิตได้เฉลี่ยปีละ 15,000 ล้านฟอง หรือ 40 ล้านฟองต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้ใช้เพื่อบริโภคในประเทศ 13,000-14,000 ล้านฟองต่อปี หรือเฉลี่ย 37-38 ล้างฟองต่อวัน

ส่วนที่ใช้ส่งออก 2-3% ของปริมาณไข่ไก่ทั้งหมด หรือราว 300-450 ล้านฟองต่อปี ซึ่งจะส่งไปยังตลาดหลัก เช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ เป็นต้น โดยมีผู้เลี้ยงที่ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ส่งออกไข่ไก่ได้เพียง 10 ราย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ข้อเท็จจริงดังกล่าวนำมาสู่คำยืนยันจากนายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ และนายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน พูดตรงกันว่า ปริมาณไข่ไก่ที่ผลิตได้เฉลี่ยที่วันละ 40 ล้านฟอง เพียงพอบริโภคในประเทศ และที่สำคัญปีนี้ยังมีปริมาณไข่ไก่เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา “จนเกิดภาวะไข่ไก่ล้นตลาด” ต้องออกมาตรการผลักดันให้ส่งออกไข่

แต่เมื่อตรวจสอบการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ ลดลงไปกว่า 51% (ตามตาราง) ผลจากการระบาดโควิด ทำให้ระบบโลจิสติกส์ขนส่งไม่ได้ และราคาส่งออก “ต่ำกว่า” ราคาในประเทศ โดยราคาส่งออกเฉลี่ยฟองละ 2 บาท ขณะที่ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มในประเทศสูงถึงฟองละ 2.80 บาท บวกต้นทุนค่าจัดการ การขนส่ง และกำไรแล้วขายได้ 3.50 บาท ดังนั้น “การส่งออก ไม่น่าใช่เหตุผลที่ทำให้ไข่ขาดตลาด”

เหตุผลเดียวที่จะทำให้ไข่ขาดน่าจะมาจากความต้องการของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปกติวันละ 39 เป็น 41 ล้านฟอง เพราะในช่วงนี้เกิด “ดีมานด์เทียม” กลายเป็นช่องให้ “พ่อค้าคนกลาง” ที่รับไข่ไก่หน้าฟาร์มไปแล้วไม่ส่งมอบให้ร้านค้าปลีกทันที ทำให้ “ไข่ไก่” ขาดไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ห้ามส่งออก-ปรับสมดุลเลี้ยง

การแก้ปัญหาของรัฐบาลสเต็ปแรก นำมาสู่มาตรการห้ามส่งออก 7 วันดังกล่าว และหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นอาจขยายเวลาเพิ่มเติม พร้อมทั้งคุมเข้มดำเนินคดีกับผู้ฉวยโอกาสขายเกินราคาที่ควรจะขาย เช่น ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์ม ฟองละ 2.80 บาท ราคาขายปลีกฟองละ 3.35 บาท หากฝ่าฝืนค้ากำไรเกินควร โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ลำดับต่อมาในวันเดียวกัน “นส.พ.สรวิศ ธานีโต” อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่า จำเป็นต้องปรับสมดุลการเลี้ยง ซึ่งนอกจากการชะลอการส่งออกไข่ไก่สดแล้วยังได้แจ้งให้ฟาร์มไก่ไข่ทั่วประเทศ “ยืดอายุการเลี้ยงแม่ไก่ยืนกรงจาก 80 สัปดาห์ออกไปอีก” เพื่อเพิ่มปริมาณไข่ไก่เข้าสู่ตลาด พร้อมส่งเจ้าหน้าที่สารวัตรกรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบตามศูนย์รวบรวมไข่ไก่ และสถานที่จำหน่ายไข่ไก่ทั่วประเทศ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2559 อย่างเข้มงวด

รื้อแผนนำเข้าพ่อแม่พันธุ์

ดูไม่แปลกเลย เมื่อเกิดสถานการณ์ไข่ไก่ขาดแคลนหนัก ภาครัฐก็ต้องเริ่มจากอุดช่องส่งออก “เพิ่มซัพพลาย” โดยขยายยืดอายุแม่ไก่ยืนกรง แต่หากยังแก้ “ซัพพลายชอร์ต”ไม่ได้ ก็ยังมีอีกหนทางหนึ่ง คือ “ขยายการนำเข้าไก่ไข่พันธุ์” เพิ่มจากเดิมคณะกรรมการไข่ไก่ (Egg Board) ได้วางไว้ว่าในปี 2563 จะนำเข้าไก่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) จำนวน 3,800 ตัว และนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) จำนวน 460,000 ตัว เพื่อจัดสรรโควตาให้ผู้ประกอบการก่อน 440,000 ตัว เหลือไว้ที่กรมปศุสัตว์อีก 20,000 ตัว และหากมีแนวโน้มขาดแคลนพันธุ์สัตว์ ก็ให้อำนาจกรมปศุสัตว์ใช้ดุลพินิจพิจารณาให้สมดุลได้

คงต้องลุ้นต่อไปว่า รัฐจะใช้มาตรการปรับสมดุลการเลี้ยงขั้นนี้หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ หากถึงเดือนเมษายน “ดีมานด์เทียม” สลายไป ใครที่แบกสต๊อกต้องรับภาระขาดทุน ส่วนผู้ส่งออกที่ถูกเบรกส่งมอบก็ต้องรับเคราะห์ไปตามระเบียบ

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 120
  • ไพโรจน์
    ไข่ไก่นี้แปลกมากเลยนะที่ออกจากฟาร์มแล้วถึงมือผู้บริโภคเลย เขาไม่มีเก็บสต๊อกเลย หากดูไข่ไก่ที่ขายในห้างฯ วันที่ผลิต(คิดว่าออกจากฟาร์ม)ถึงวันที่เราซื้อมันไม่น้อยกว่า5-7วัน แสดงไข่มันต้องเก็บ แสดงว่าคนกลางกักไว้แน่นอน
    29 มี.ค. 2563 เวลา 17.53 น.
  • adulaya
    สั้นๆตรงประเด็นคือไข่ถูกปั่นราคา1เริ่มจากมีนักการเมืองแหกปากปล่อยข่าวว่าไข่จะขาดตลาดเพราะมีคนจะตุนส่งออก(คนนี้น่าสงสัยมากป่วนตลาดให้เกิดการแตกตื่นรีบแย่งซื้อสร้างดีมานด์)2ราคาหน้าฟาร์มพุ่งทันทีวันรุ่งขึ้นเพราะคนแรกจุดติดแล้วคนที่สองรับลูกดึงการซัพพลายพร้องเร่งราคาทันทีภาพชัดมั๊ยใครร่วมมือกับใครวัดครึ่งกรรมการครึ่งมั๊ยขบวนการนี้ไม่เล็กเพราะมันมีโครงข่ายรับลูกทั่วประเทศทั่วทุกฟาร์มล๊อคซัพพลายเหมือนกันหมด(เฉพาะฟาร์มใหญ่ที่ได้เนื้อได้หนังนะฟาร์เล็กคงแค่ตามแห่)3.คนปั่นมันเอาแค่นี้แหละรวยแล้วซาปั๊วซวย
    29 มี.ค. 2563 เวลา 13.36 น.
  • Ole'...🎷🎺🎼⛵️
    ลองไม่ซื้อสัก อาทิตย์นึง จะรู้ว่าไข่จะถูก.อย่างว่า..คนกลัว อดตายเลยรีบตุน5555
    29 มี.ค. 2563 เวลา 13.09 น.
  • วิโรจน์
    ยี่ปั๊วไข่บอกต้นทาง(ฟาร์ม)ขึ้นราคา ทำให้ต้องขายแพง ไม่รู้ใครโกหก คงหยุดซื้อหยุดกินเหมือนที่หลายๆ ท่านบอก ให้ไข่มันเน่า รัฐบาลไม่มีปัญญาจัดการควบคุมราคาได้
    29 มี.ค. 2563 เวลา 12.50 น.
  • ใข่มาจากไหน ชีพี ไปกินอย่างอื่นคับ
    29 มี.ค. 2563 เวลา 12.23 น.
ดูทั้งหมด