ทั่วไป

เริ่มแล้ว! 30บาทรักษาทุกที่กทม. เพิ่มทางเลือกคนกรุงเข้า ‘คลินิก-ร้านยา’ ไม่มีค่าใช้จ่าย

MATICHON ONLINE
อัพเดต 15 ก.ย เวลา 09.51 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย เวลา 09.32 น.

เริ่มแล้ว! 30บาทรักษาทุกที่กรุงเทพฯ เพิ่มทางเลือกคนกรุง เข้า‘คลินิก-ร้านยา’ ไม่มีค่าใช้จ่าย

ถือเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในกรุงเทพมหานคร เพราะไม่ว่าจะเป็นคนกรุงเทพฯ หรือประชากรแฝง ก็สามารถใช้สิทธิตาม “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” ได้แล้ววันนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลังมีการยืนยันจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นที่เรียบร้อยว่า 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2567 โดยยึดหลักการ “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน” ซึ่งสนับสนุนระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน หมายความว่า ในการเข้ารับบริการนั้น จะต้องเริ่มจากเข้ารักษาในระดับปฐมภูมิก่อน

นอกจากไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำตัว แล้วยังไปรักษาที่หน่วยบริการทางเลือกใหม่ที่เพิ่มความสะดวกได้ ทั้งที่ร้านยาคุณภาพ และคลินิกเอกชน ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย โดยใช้ “บัตรประชาชน” เพียงใบเดียว ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ซึ่งสังเกตจากตราสัญลักษณ์ หรือ “โลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่” ที่ติดอยู่หน้าหน่วยบริการ และหากเกินศักยภาพการดูแล จะถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายต่อไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามหลักการของนโยบายนี้ที่ว่า “30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน” ที่สนับสนุนให้เกิด “ระบบบริการสุขภาพเริ่มต้นที่ปฐมภูมิ”

ด้านสภาวิชาชีพแต่ละแห่งที่ทำหน้าที่กำกับควบคุม และร่วมเชิญชวนหน่วยบริการเอกชนให้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมทั้ง 7 ประเภท ประกอบด้วย ร้านยา คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ (ห้องแล็บ) คลินิกกายภาพบำบัด และคลินิกการแพทย์แผนไทย ก็ออกมาขานรับเป็นเสียงเดียวกันว่าหน่วยบริการนวัตกรรม “พร้อมให้บริการ” แล้ว

เช่น ร้านยา ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 บอกว่า ขณะนี้มีร้านยาในกรุงเทพฯ เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมแล้วกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งกระจายตัวครอบคลุมทุกพื้นที่ และตั้งเป้าสิ้นปี 2567 จะชักชวนร้านยาให้เข้าร่วมเพิ่มเติมเป็น 2,000 แห่ง ให้ได้ ส่วนการให้บริการมีการซักซ้อมกันไปแล้ว มั่นใจไม่มีปัญหา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ฝั่งคลินิกภายภาพบำบัดก็เช่นกัน โดย ศ.ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นายกสภากายภาพบำบัด เผยว่า มีคลินิกกายภาพบำบัดในกรุงเทพฯ เข้าร่วมแล้ว 250 แห่ง ที่พร้อมดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง 4 กลุ่มโรค ออกจากโรงพยาบาลไม่เกิน 6 เดือน ประกอบด้วย ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยอุบัติเหตุทางสมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บกระดูกสันหลัง และผู้ป่วยสะโพกหักไม่ร้ายแรง โดยสามารถไปรับบริการได้ทั้งที่คลินิก หรือหากไม่สะดวกก็มีไปบริการบำบัดฟื้นฟูถึงที่บ้านให้ด้วย

“ผมเชื่อว่านโยบายนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้ผู้ป่วยระยะกลางได้รับการบำบัดฟื้นฟูที่รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย และมีความต่อเนื่อง ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย 4 กลุ่มนี้ ให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงกับปกติหลังจากเจ็บป่วยได้อีกครั้ง” ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าว

ขณะที่ ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ ที่ให้ภาพว่า ขณะนี้มีคลินิกเทคนิคการแพทย์ พร้อมให้บริการในกรุงเทพฯแล้ว 35 แห่ง ดูเหมือนยังน้อย แต่มีบางส่วนที่ยังรอการประเมินและรับรองจากสภาเทคนิคการแพทย์ว่า เป็นห้องแล็บที่มีคุณภาพมาตรฐานพร้อมบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้วย ซึ่งกำลังเร่งประเมินคลินิกเหล่านี้อยู่ คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

อีกหน่วยบริการนวัตกรรมที่น่าจะได้รับความสนใจ คือ คลินิกทันตกรรม ผศ.ดร.ทพ.สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า แม้จะมีคลินิกทันตกรรมเข้าร่วมไม่มาก แต่ทั้งหมดก็พร้อมให้บริการตามชุดสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมถึงมีการเชื่อมข้อมูลสุขภาพช่องปากผู้ป่วยผ่านโปรแกรมเดนท์คลาวด์ (DentCloud) แล้ว ทำให้เมื่อผู้ป่วยมีการไปรับบริการที่คลินิกทันตกรรมที่ใดที่หนึ่งในระบบบัตรทองในครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไป ถ้าต้องการไปที่คลินิกแห่งอื่นๆ ภายใต้นโยบายฯ ก็จะทราบประวัติการรักษาที่ผ่านมา

“สิทธิประโยชน์ตามนโยบายฯ จะเน้นการดูแลรักษาปฐมภูมิ เบื้องต้น หากเข้ารับบริการที่คลินิกทันตกรรมครั้งแรก คลินิกจะทำการตรวจสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยก่อนเพื่อบันทึกข้อมูล พร้อมกับประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ (Caries Risk Assessment) ตามที่ทันตแพทยสภากำหนด เพื่อจะได้มีการให้บริการ ไม่ว่าจะขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบฟลูออไรด์ และเคลือบหลุมร่องฟัน อย่างเหมาะสมและถูกต้องกับสุขภาพช่องปาก” ผศ.ดร.ทพ.สุชิตอธิบายเสริม

ส่วนการใช้สิทธิบัตรทองในหน่วยบริการนวัตกรรมเหล่านี้ ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ นั้น ให้สังเกตตราสัญลักษณ์ หรือโลโก้ “30 บาทรักษาทุกที่” ที่ติดอยู่หน้าหน่วยบริการ ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่าสามารถพกบัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการที่คลินิก หรือร้านยาเหล่านั้นได้เลย

นอกจากหน่วยบริการนวัตกรรมทั้ง 7 ประเภทแล้ว ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) จำนวน 69 แห่ง และอีก 77 สาขา ที่กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ก็สามารถไปใช้สิทธิบัตรทอง ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ได้เช่นกัน โดย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า หน่วยบริการปฐมภูมิสังกัด กทม. เหล่านี้ มีทั้งพยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่สามารถเป็นที่พึ่งในด้านการดูแลรักษาให้ประชาชนได้

ไม่เพียงเท่านั้น ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ยังบอกว่า สปสช.มีชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีกจำนวนมาก ที่จะทำให้ประชาชนสิทธิบัตรทองรับบริการสะดวกขึ้น เช่น บริการจัดส่งยาถึงบ้าน บริการเจาะเลือดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง บริการรถทันตกรรมเคลื่อนที่ดูแลสุขภาพช่องปากกลุ่มเปราะบาง บริการรถคลินิกเวชกรรมเคลื่อนที่ในชุมชน เพิ่มการเข้าถึงการรักษาโรคเบื้องต้น ฯลฯ

“รวมไปถึงบริการการแพทย์ทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่นสุขภาพในห้องพยาบาลโรงเรียนมัธยมศึกษา หน่วยบริการต่างๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานีรถไฟฟ้า ฯลฯ รวมไปถึงอนาคตจะมีบริการการแพทย์ทางไกลผ่าน ‘ตู้เทเมดิซีน’ ในชุมชน ห้างสรรพสินค้า อีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นบริการที่มาเสริมนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ในกรุงเทพฯ ให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนกรุงเทพฯมากยิ่งขึ้น” นพ.จเด็จกล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เริ่มแล้ว! 30บาทรักษาทุกที่กทม. เพิ่มทางเลือกคนกรุงเข้า ‘คลินิก-ร้านยา’ ไม่มีค่าใช้จ่าย

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th

ดูข่าวต้นฉบับ