สุขภาพ

prebiotics ต่างกับ probiotics อย่างไร?

Health Daily
เผยแพร่ 14 เม.ย. 2565 เวลา 11.00 น. • สุขภาพดีดี

Prebiotics ต่างกับ Probiotics อย่างไร?

สวัสดีค่ะ เราคงเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ prebiotics และ probiotics กันมาบ้างแล้ว วันนี้ สุขภาพดีดี.com อาสารวบรวมข้อมูลดีๆให้กับทุกคนได้ทำความรู้จักกับ prebiotics และ probiotics ให้มากขึ้นกันนะคะ

เริ่มจากเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าในร่างกายของเรานั้นมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีทั้งจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ จุลินทรีย์ที่ไม่ก่อประโยชน์และโทษและจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย หากเกิดความผิดปกติในร่างกาย อาจส่งผลต่อสมดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากมายในท้องตลาดเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย โดยคำคุ้นหูที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งคือ “ Prebiotic พรีไบโอติกส์ ” และ “ Probiotic โพรไบโอติกส์ ” มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สุขภาพดีดี.com ได้รวบรวมมาในหัวข้อ prebiotics ต่างกับ probiotics อย่างไร? ดังนี้ค่ะ

Prebiotics

พรีไบโอติกส์คืออะไร ?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คือ อาหารที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ในทางเดินอาหาร แต่จะถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์โพรไบโอติกในลำไส้ใหญ่ โดยจะไปกระตุ้นการทำงานและส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์โพรไบโอติก หรือกล่าวง่ายๆได้ว่า “พรีไบโอติกเป็นอาหารของโพรไบโอติก”

พรีไบโอติก จัดเป็นอาหารในกลุ่ม Functional food หรืออาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ส่วนมากเป็นอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ เช่น โอลิโกแซคคาไรด์ (Oligosaccharide) และ อินนูลิน (Inulin) พบได้ในอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะในผักผลไม้ เช่น กระเทียม หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต กล้วย แอปเปิล และเมล็ดธัญพืชบางชนิด เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Probiotics

โพรไบโอติกส์คืออะไร ?

คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิตและมีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ เป็นจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติทนต่อกรดและด่าง สามารถจับที่ผิวของเยื่อบุลำไส้ ทำหน้าที่ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร โดยการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้มากขึ้นและลดจุลินทรีย์ที่เป็นโทษลง ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ต่อสู้กับเชื้อที่เป็นอันตราย และยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรค ให้ไม่สามารถมาเกาะติดกับลำไส้ โดยการหลั่งสารออกมาต่อต้าน หรือเจริญเติบโตแย่งที่ไม่ให้จุลินทรีย์ก่อโรคเจริญได้

เชื้อจุลินทรีย์ที่จัดเป็นโพรไบโอติก ได้แก่ แบคทีเรียในกลุ่ม Lactobacillus และ Bifidobacterium ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สร้างกรดแล็คติค (Lactic Acid Bacteria, LAB) เช่น Lactobacillus Acidophilus, Lactobacillus Casei Subsps, Lactococcus Lactis, Bifidobacterium Longum และ Bifidobacterium Bifidum จะพบในผลิตภัณฑ์จำพวกอาหารหมัก เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ มิโสะ เป็นต้น

ทำไมต้องทาน

Prebiotics และ Probiotics

โพรไบโอติกจัดเป็นจุลินทรีย์ที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่นหรือ Normal Flora อย่างหนึ่งในทางเดินอาหาร หากสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายเป็นปกติ ร่างกายจะมีสุขภาพที่ดี

ถ้าหากมีอะไรไปรบกวนสมดุล จุลินทรีย์ประจำถิ่นถูกรุกราน อาจเกิดผลกระทบตามมาได้ ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากขึ้นในปัจจุบัน อาจส่งผลให้จุลินทรีย์ชนิดดีในร่างกายลดลง และเชื้อที่เป็นอันตรายเพิ่มจำนวนขึ้น

อาจทำให้เกิดการเสียสมดุลของระบบนิเวศในทางเดินอาหาร ส่งผลทำให้เกิดโรคต่างๆได้ การรับประทานโพรไบโอติกจึงเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งในการเสริมจุลินทรีย์ชนิดดีและรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย

  • ช่วยให้ขับถ่ายได้เป็นปกติทุกวัน ลดอาการท้องผูกและท้องเสีย ป้องกันอาการอาหารไม่ย่อย อุจจาระตกค้างในร่างกาย
  • ช่วยลดอาการลำไส้แปรปรวน อาการกรดไหลย้อน
  • ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ช่วยควบคุมระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด
  • ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยควบคุมน้ำหนัก
  • ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย
  • เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
  • ชะลอวัย

การรวมตัวกัน

Prebiotics และ Probiotics

การนำ ” พรีไบโอติก Prebiotics ”

และ ” โพรไบโอติก Probiotics มารวมกัน จะเรียกว่า ซินไบโอติก (Synbiotics) การทานทั้ง 2 ตัวพร้อมกัน จะยิ่งเสริมฤทธิ์กัน ทำให้มีจำนวนจุลินทรีย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ชอบทานเนื้อสัตว์มาเป็นเวลานาน จนจำนวนโพรไบโอติกในลำไส้ลดลง

ซึ่งจะมีอาการท้องผูก ไม่ค่อยขับถ่าย การทานซินไบโอติก จะช่วยให้จำนวนโพรไบโอติกขยายตัวกลับมาฟื้นฟูได้เร็วที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ เกิดสมดุลในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีบางรายที่ได้รับผลข้างเคียงจากการรับประทานโพรไบโอติก หรือหากรับประทานโพรไบโอติกในปริมาณที่สูงเกินไป เช่น ทำให้เกิดภาวะลมในท้อง เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง หรือท้องเสีย เป็นต้น ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าว ควรลองลดปริมาณที่รับประทานลง หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในผู้ที่เริ่มลองรับประทานก็อาจเริ่มจากปริมาณน้อยๆก่อน และสังเกตว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ แล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนถึงปริมาณที่ต้องการ

ที่มาข้อมูล : โพรไบโอติก และ พรีไบโอติก (Probiotic & Prebiotic) คืออะไร?

ทำไมควรทาน Prebiotic คู่กับ Probiotic

ดูข่าวต้นฉบับ