มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนุนนักศึกษา-บุคลากร 4.8 หมื่นคน เปลี่ยนใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัย มุ่งสู่ Green University ผนึก ออสก้า โฮลดิ้ง เสนอจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับใช้งาน มีให้เลือก 2 ทาง ทำสัญญาเช่า หรือซื้อเป็นเงินสด หรือขอสินเชื่อผ่านธนาคารค่างวดถูกสุด ไม่เกินเดือนละ 1,500 บาท
วันที่ 26 มกราคม 2567 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับบริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด แถลงเปิดตัว “โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้าโดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน” โดยรองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือในการนำผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็น Deep Technology หรือเทคโนโลยีระดับสูงที่มีความซับซ้อน ผ่านการค้นคว้าวิจัย และคิดค้นขึ้นใหม่จากนวัตกรรมเชิงวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ ที่เรามีความเข้มแข็ง มาต่อยอดเชิงพาณิชย์
“มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนักศึกษาอยู่ประมาณ 38,000 คน และบุคลากรอีกกว่า 10,000 คน ทำให้มีการใช้งานรถจักรยานยนต์หลายหมื่นคัน หากเราสามารถเปลี่ยนรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จะส่งผลดีอย่างมหาศาลทั้งในแง่ของการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ฉะนั้นโครงการนี้จึงเป็นความตั้งใจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ต้องการจะส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเมืองยานยนต์ไฟฟ้า เราจึงเห็นว่า บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด มีอุดมการณ์ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ จากแนวคิดดังกล่าวจึงนำมาสู่ความร่วมมือในครั้งนี้”
หนุน มข.เป็น Green University
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้มีผลอย่างมากเชิงยุทธศาสตร์ Great Place to Live มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นไปตามที่สภามหาวิทยาลัยขอนแก่นกำหนดให้มีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเป็น Green University หรือ มหาวิทยาลัยสีเขียว หมายถึง มหาวิทยาลัยที่มีการบูรณาการอนุรักษ์ด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม เข้าไปในการเรียน การสอน การวิจัย และในทุกกิจกรรมของมหาวิทยาลัย
โครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้า โดยใช้แบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยน สนับสนุนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยในหลายประเด็น
- ประเด็นแรกเป็นการสนับสนุนทางด้านงานวิจัย และนวัตกรรมการพัฒนาแบตเตอรี่ให้สามารถนำมาใช้ได้จริง
- ประเด็นที่ 2 เป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์ “Education Transformation” การปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่น อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการซ่อม หรือการดูแลรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์ Social Contribution การมีส่วนร่วมในการสนับสนุน หรือช่วยเหลือสังคม ที่ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) หลายด้าน อาทิ SDG 7 : Affordable and Clean Energy พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDG 13 Climate Action ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น การลดฝุ่นละอองจากการใช้เครื่องยนต์ SDG 11 Sustainable Cities and Communities ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย และยั่งยืน
ฉะนั้นการที่เราสามารถนำเอาเทคโนโลยีมาจัดการเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยตรง นักศึกษาและบุคลากรจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างยิ่ง
โรงงานแบตเตอรี่ มข.
รองศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ ทำหน้าที่ผลิตแบตเตอรี่แบรนด์ UVOLT ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน UNR 136 และ มอก.2952-2561 และจำหน่ายให้กับ STROM ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของไทย นอกจากนี้ โรงงานยังสามารถผลิตแบตเตอรี่เพื่อรองรับการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องการแบตเตอรี่ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการเกษตร และระบบกักเก็บพลังงานร่วมกับโซลารเซลล์
“การให้บริการและศักยภาพของโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มีการรับรองการผลิตที่ถูกกฎหมายและมีผลิตภัณฑ์หลายอย่าง ซึ่งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกตัวอย่างที่รองรับการใช้งานแบตเตอรี่ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันโรงงานแบตเตอรี่อยู่ในระหว่างการรองรับให้เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีมาตรฐาน ในอนาคตหวังว่าโรงงานแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้านยานยนต์ไฟฟ้า การกักเก็บพลังงานสมัยใหม่ที่ใช้แบตเตอรี่ที่ได้มาตรฐานและเป็นการพัฒนาแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยีไทย”
ใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่น
พันโท หม่อมราชวงศ์ พีรานุพงศ์ ภาณุพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการ บริษัท ออสก้า โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า การผลักดันการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยรุ่นหลัก ๆ ที่เป็นการร่วมมือระหว่างบริษัท กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือรุ่น STROM Gorilla เป็นรถจักรยานยนต์รุ่นใหญ่ สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ เหมาะกับบุคลากร นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ราคาเริ่มต้น 69,900 บาท
อีกรุ่นจะเป็นรุ่นที่เล็กลงมา คือ รุ่น STROM Seal เหมาะสำหรับขับขี่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย หรือขับขี่ภายในตัวเมือง มีทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีราคาเริ่มต้น 59,900 บาท ทั้งนี้ บุคลากรและนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถนำแบตเตอรี่มาสับเปลี่ยนได้ฟรีที่สถานีสับเปลี่ยนภายในมหาวิทยาลัย
ทางเลือก 2 ทาง เช่า-ซื้อ
นายสุรชัย สินประกอบ พลังงานจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเลือกได้ 2 แนวทาง คือ 1.การทำสัญญาเช่าราย 3 เดือน-1 ปี โดยสามารถใช้ทั้งจักรยานยนต์ไฟฟ้าและมาสลับแบตเตอรี่ได้ฟรี และ 2.การซื้อโดยสามารถซื้อเป็นเงินสดหรือขอสินเชื่อผ่านธนาคารออมสิน และกรุงศรี ออโต้ ซึ่งค่างวดถูกสุด ไม่เกินเดือนละ 1,500 บาท
อย่างไรก็ตาม รถของสตรอมอีวีสามารถชาร์จที่บ้านก็ได้ หรือหากใช้ในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็มีตู้ให้บริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยสามารถนำแบตเตอรี่ที่หมดแล้วเข้าตู้สับเปลี่ยนเอาแบตเตอรี่ก้อนใหม่ออกไปใช้ในเวลาไม่ถึง 1 นาที ผู้ที่สนใจสามารถมาดูและสั่งจองรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเลือกพื้นที่ในการจัดตั้งโชว์รูม และศูนย์บริการซ่อมภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่มาข้อมูลและภาพ : มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- แต่งตั้งกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จังหวัดขอนแก่น ครอบคลุม 20 จว.
- มาตรการ EV 3.0 เริ่มเห็นผล หนุนยอดผลิตรถอีวีเพิ่ม 5-7 หมื่นคัน
- แห่ชื่นชม คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ให้แม่บ้านขึ้นกล่าวแสดงความยินดีบัณฑิตใหม่
- คู่แข่ง ‘ลิเทียม’ มาแล้ว รู้จัก ‘โซเดียมไอออน’ อีสานมีเพียบ ลดต้นทุน 50%
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ม.ขอนแก่น เริ่มโครงการจัดบริการยานยนต์ไฟฟ้าให้นักศึกษา-บุคลากร
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net