ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เปิดข้อมูล GISTDA เทียบชัดพื้นที่น้ำท่วมปี 54 ปี 65 ท่วมแล้ว 3 ล้านไร่

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 05 ต.ค. 2565 เวลา 11.13 น. • เผยแพร่ 05 ต.ค. 2565 เวลา 02.44 น.

เปิดข้อมูล GISTDA เทียบชัด พื้นที่น้ำท่วม 3 ปี 2565-2564-2554 ห่างกัน 3 เท่า อัพเดตพื้นที่ท่วมแล้ว 3 ล้านไร่ 11 ลุ่มน้ำหลัก 25 จังหวัด

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมโดยใช้ดาวเทียม Sentinel-1 ล่าสุดพบน้ำท่วมขังแล้วรวมทั้งสิ้น 3,289,514 ไร่ ในพื้นที่บางส่วนของ 11 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำบางประกง ลุ่มน้ำปราจีน ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล รวม 25 จังหวัด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ประกอบด้วย นครสวรรค์ 650,967 ไร่ พระนครศรีอยุธยา 430,745 ไร่ พิจิตร 402,083 ไร่ สุพรรณบุรี 356,651 ไร่ สุโขทัย 269,629 ไร่ พิษณุโลก 259,901 ไร่ กำแพงเพชร 150,680 ไร่ ลพบุรี 147,454 ไร่ เพชรบูรณ์ 117,480 ไร่

อุทัยธานี 100,707 ไร่ อ่างทอง 74,244 ไร่ ปราจีนบุรี 70,367 ไร่ ชัยนาท 56,117 ไร่ สิงห์บุรี 48,804 ไร่ สระบุรี 44,535 ไร่ อุตรดิตถ์ 41,854 ไร่ นครปฐม 23,972 ไร่ นครนายก 16,680 ไร่ ชัยภูมิ 12,627 ไร่ ฉะเชิงเทรา 6,875 ไร่ เลย 5,612 ไร่ ขอนแก่น 606 ไร่ นครราชสีมา 328 ไร่ ปทุมธานี 309 ไร่ และหนองบัวลำภู 287 ไร่

ส่วนของพื้นที่นาข้าวที่ได้รับผลกระทบแล้วทั้งสิ้น 526,577 ไร่ นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง ชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคมบางส่วน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สถานการณ์ดังกล่าว GISTDA ได้ส่งต่อข้อมูลภาพจากดาวเทียมให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน การติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ได้ทันท่วงที

พร้อมกันนี้ GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดย GISTDA เปรียบเทียบพื้นที่น้ำท่วมไทยช่วงเดือนกันยายน 2554, 2564 และ 2565 ต่างกัน 3 เท่า

โดยข้อมูลภาพจากดาวเทียมแสดงสถานการณ์น้ำท่วมของเดือนกันยายนปี 2554, 2564 และ 2565 พบว่าปี 2554 มีปริมาณน้ำท่วมขังทั่วประเทศจำนวน 15,996,150 ไร่, ปี 2564 จำนวน 5,648,252 ไร่ และในปี 2565 (ล่าสุด) พบพื้นที่น้ำท่วมขังจำนวน 5,331,739 ไร่ ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 พบว่าปริมาณน้ำท่วมขังในปัจจุบันยังห่างอยู่ 3 เท่าตัว

สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน หลายคนเป็นกังวลอย่างยิ่งว่าจะท่วมหนักเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อนหรือไม่ เพราะด้วยปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้เกิดน้ำสะสมในหลายพื้นที่ ประกอบกับพายุโนรูที่เพิ่งแผลงฤทธิ์ไปสด ๆ ร้อน ๆ ส่งผลให้เกิดความเสียหายและน้ำท่วมในหลายพื้นที่

อีกทั้งปริมาณน้ำในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำหลายแห่งเริ่มล้นแล้ว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบทุกหย่อมหญ้า สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลที่มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงมากขึ้น น้ำระบายไม่ทัน รอการระบาย สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือปริมาณฝนที่ตกลงมาเพิ่มเติมในพื้นที่ ที่จะส่งผลให้น้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปในช่วงของปี 2554 และปี 2564 ของเดือนกันยายน จะเห็นได้ว่าปี 2554 ประเทศไทยมีพื้นที่น้ำท่วมขังมากกว่าปี 2565 แต่ทั้งนี้ปรากฏการณ์ลานิญาที่เกิดขึ้นส่งผลให้ฝนมาเร็วกว่าปี 2564

ซึ่งมวลน้ำรายภูมิภาค เปรียบเทียบระหว่างปีมหาอุทกภัย 2554 กับปีปัจจุบัน 2565 กันยายน 2554 แบ่งเป็น ภาคเหนือ 350,015 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,412,704 ไร่ ภาคกลาง 9,702,429 ไร่ ภาคตะวันออก 1,207,294 ไร่ ภาคตะวันตก 258,127 ไร่ ภาคใต้ 65,581 ไร่

ส่วนเดือนกันยายน 2565 แยกเป็น ภาคเหนือ 154,456 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,955,311 ไร่ ภาคกลาง 2,814,646 ไร่ ภาคตะวันออก 147,844 ไร่ ภาคตะวันตก 259,481 ไร่ ส่วนภาคใต้ 0 ไร่

สิ่งสำคัญที่สุด ทุกภาคส่วน หน่วยงานด้านน้ำ ร่วมกันติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น ในส่วนของ GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียมมากกว่า 1 ดวง เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

ดูข่าวต้นฉบับ