ไลฟ์สไตล์

เปิด 10 มหาภัยพิบัติในประวัติศาสตร์ไทย ความสูญเสียครั้งใหญ่ในอดีต

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 27 ธ.ค. 2567 เวลา 05.37 น. • เผยแพร่ 26 ธ.ค. 2567 เวลา 10.41 น.
(ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน)

10 มหาภัยพิบัติในประวัติศาสตร์ไทย ความสูญเสียครั้งใหญ่ในอดีต

เหตุการณ์ภัยพิบัติหรือสาธารณภัยครั้งรุนแรงที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ล้วนสร้างความสูญเสียต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนและสาธารณะ รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในทุกระดับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในที่นี้ ขอไล่เรียง “ที่สุด” ของมหาภัยพิบัติครั้งใหญ่ในประเทศไทย 10 เหตุการณ์ ซึ่งล้วนสร้างความสูญเสีย ความโศกเศร้า จารึกไว้ในประวัติศาสตร์และความทรงจำของคนไทย ดังนี้

1. ไฟไหม้ “โรงงานตุ๊กตา” เคเดอร์ พ.ศ. 2536

เหตุเกิดที่โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เวลา 16.00 น. ความประมาทของพนักงานคนหนึ่งที่สูบบุหรี่ในโรงงาน เป็นเหตุให้วัสดุผลิตตุ๊กตาติดไฟลุกไหม้ และลุกลามไปสู่อาคารทั้งหลังทันที

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงในเหตุการณ์ครั้งนั้นคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัยของโรงงาน เช่น ไม่มีบันไดหนีไฟ ความกว้างประตูทางออกฉุกเฉินไม่ได้มาตรฐาน และไม่เคยมีการซักซ้อมการหนีไฟอย่างเป็นระบบ รวมถึงโครงสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐาน ทำให้อาคารถล่มหลังไฟไหม้ได้เพียง 15 นาทีเท่านั้น

เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 188 ราย บาดเจ็บ 469 ราย หลายรายบาดเจ็บสาหัส ต้องกลายเป็นคนพิการ หรือเป็นอัมพาตตลอดชีวิต และทำให้เด็กอีก 50-60 คน ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า

2. “แก๊ปไฟฟ้า” ระเบิดที่พังงา พ.ศ. 2534

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เวลา 17.30 น. ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 รถสิบล้อบรรทุก “แก๊ปไฟฟ้า” จากภูเก็ตมุ่งหน้าไปสระบุรี เสียหลักพลิกคว่ำบริเวณทางโค้งสามแยกตลาดทุ่งมะพร้าว อำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงา ลังไม้บรรจุแก๊ปไฟฟ้ากระจายเกลื่อนถนน ทำให้การจราจรเป็นอัมพาต

ระหว่างนั้น ชาวบ้านกรูกันเข้ามาเก็บแก็ปไฟฟ้าโดยไม่ฟังคำห้ามปรามของตำรวจที่เตือนว่าอาจระเบิดได้ เกิดเป็นเหตุการณ์ชุลมุน เมื่อเวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง แก๊ปไฟฟ้าเกิดระเบิดเสียงดังสนั่น ลุกลามเป็นรัศมีถึง 1 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิตทันที 60 ราย บาดเจ็บอีกหลายร้อย อาคารโดยรอบพังยับเยิน

สาเหตุการระเบิดมากจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพยายามงัดตู้คอนเทนเนอร์ และอาจมีหนึ่งในนั้นสูบบุหรี่ ทำให้ท่อแก๊ปไฟฟ้าจุดระเบิด มีเหยื่อสังเวยเหตุระเบิดทั้งเสียชีวิตคาที่และทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตในเวลาต่อมาทั้งหมด 207 ราย บาดเจ็บ 525 คน กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งมโหฬารของไทยจาก “ไทยมุง”

ภาพเหตุการณ์ แก๊ปไฟฟ้า พังงา

3. “เลาดาแอร์” โหม่งโลกที่สุพรรณบุรี พ.ศ. 2534

วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 Lauda Air NG004 เครื่องบินโดยสารของสายการบิน เลาดาแอร์ ออสเตรีย บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือรวม 223 จากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง โดยมีจุดหมายอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย แต่ตกพุ่งลงดิ่งพสุธาหลังบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เพียง 16 นาที ทุกคนบนเครื่องเสียชีวิต เป็นชาวต่างชาติ 184 คน ชายไทย 39 คน

สาเหตุเกิดจากกลไกเครื่องยนต์ขัดข้อง ประกอบกับนักบินไม่เชื่อสัญญาณเตือนและทำการตรวจสอบแก้ไขอย่างทันท่วงที จึงเกิดเหตุสลดขึ้น

4. “โคลนถล่ม” บ้านกะทูนเหนือและบ้านคีรีวง พ.ศ. 2531

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 หลังอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันในภาคใต้ของไทย ทำให้ฝนตกอย่างต่อเนื่อง 2-3 วัน เกิดน้ำป่าไหลหลากจากภูเขาและโคลนถล่มที่บ้านกะทูนเหนือ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ทะเลโคลน ท่อนไม้ยางพารา และต้นไม้บนเทือกเขาหลวง ไหลหลากลงทับถมตำบลกะทูนทั้งตำบล เป็นพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ บ้านเรือน 1,500 หลัง ถูกทับด้วยโคลนหนา 2 เมตร มีผู้เสียชีวิต 92 ราย สูญหาย 102 ราย บาดเจ็บ 230 ราย พื้นที่เกษตรเสียหายอีก 6,150 ไร่

อีกฝั่งของเทือกเขาหลวง บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดดินถล่มเช่นกัน มีผู้เสียชีวิต 12 คน บ้านเรือนเสียหายอีก 362 หลัง

5. “พายุไต้ฝุ่นเกย์” ถล่มชายฝั่งทะเลอ่าวไทย พ.ศ. 2532

เวลาประมาณ 10.30 น. ของวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 พายุไต้ฝุ่นเกย์ (Gay) เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่บริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอปะทิวกับอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ทำให้มีผู้เสียชีวิต และสร้างความเสียหายอย่างหนักในพื้นที่จังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อจังหวัดใกล้เคียงตามชายฝั่งอ่าวไทย ตลอดจนจังหวัดตามชายฝั่งทะเลตะวันออก

ความรุนแรงของพายุทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 ราย สูญหายกว่า 400 ราย ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชน เสียหายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เรือประมงจมลงสู่ใต้ท้องทะเลประมาณ 500 ลำ นับเป็นการสูญเสียจากพายุไต้ฝุ่นครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

6. “พายุโซนร้อนแฮเรียต” ถล่มแหลมตะลุมพุก พ.ศ. 2505

พายุโซนร้อนแฮเรียต (Harriet) พัดผ่านอ่าวไทยเข้าฝั่งแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 เวลาประมาณ 19.00 น. นำพาคลื่นทะเลซัดเข้าฝั่ง ทำให้น้ำทะเลหนุนเข้าในอ่าวปากพนัง พัดพาบ้านเรือนราษฎรเสียหายอย่างมาก

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตเพราะพายุมากถึง 900 คน (บางแหล่งระบุ 1,300 คน) สูญหายเกือบ 200 คน บาดเจ็บ 250 คน และต้องไร้ที่อยู่อาศัยราว 20,000 คน ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะประชาชนไม่เข้าใจประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินคำว่า “พายุโซนร้อน” มาก่อน จึงเตรียมการป้องกันไม่ทัน

7. มหาอุทกภัย “น้ำท่วมใหญ่” พ.ศ. 2554

น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เกิดขึ้นเพราะฝนตกชุกจนปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังประเทศไทยมีพายุเข้ามาอย่างต่อเนื่องถึง 5 ลูก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายๆ พื้นที่ทางภาคเหนือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จำต้องเร่งระบายน้ำจากเขื่อน ส่งมวลน้ำมหาศาลเข้าท่วมหลายจังหวัดลงมาถึงกรุงเทพฯ ในปลายเดือนตุลาคม และต้องรอพ้นปีใหม่ พ.ศ. 2555 น้ำจึงลด

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมปี 2554 ถึง 1,026 คน ประชาชนได้รับความเดือนร้อนกว่า 5 ล้านครัวเรือน เป็นจำนวน 16 ล้านคน

ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 มีมูลค่าสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท เป็น “มหาอุทกภัย” ที่เลวร้ายที่สุด ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ

8. “สึนามิ” ถล่มชายฝั่งอันดามัน พ.ศ. 2547

วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เมื่อเวลาประมาณ 08.00 (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ขนาด 9.1-9.3 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ตประมาณ 580 กิโลเมตร

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นใต้น้ำ ก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า “สึนามิ” (Tsunami) ถล่มหลายประเทศทั่วมหาสมุทรอินเดีย และ 6 จังหวัดภาตใต้ของไทย ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล เฉพาะที่ไทยมีผู้เสียชีวิตราว 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังสูญเสีย “คุณพุ่ม เจนเซ่น” พระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ขณะที่คุณพุ่มเล่นเจ็ตสกีอยู่ชายหาดโรงแรมมันดะเลย์รีสอร์ต บ้านเขาหลัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สิริอายุ 21 ปี นับเป็นความสูญเสียที่ร้ายแรงเกินจะนึกฝันที่เกิดขึ้นในอดีต

9. “ไข้ทรพิษ” พรากชีวิตคนไทยทุกปี ก่อนสาบสูญเมื่อ พ.ศ. 2522

ไข้ทรพิษ (smallpox) หรือ “ฝีดาษ” เป็นโรคจากการติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีตุ่มหนองขึ้นตามผิวหนัง แพร่เชื้อง่าย โอกาสเสียชีวิตสูง เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของโลก และได้ชื่อว่าเป็น “โรคห่า” ประเภทหนึ่งของไทยในอดีต

ไข้ทรพิษเกิดขึ้นเป็นประจำเรื่อยมาหลายร้อยปี จนแทบเรียกได้ว่าเป็นโรคระบาดประจำตัวของชาวสยาม ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็มีบันทึกกล่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างหนักสมัยรัชกาลที่ 3 ระหว่าง พ.ศ. 2379-2381 และคาดว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10,000 คน กระทั่งหมอบรัดเลย์เสนอวิธีรับมือการแพร่ระบาดของโรคนี้ด้วยการ “ปลูกฝี” ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี ทำให้โรคฝีดาษแทบจะสูญสิ้นไปจากสยาม

ในที่สุด วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2522 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรองการหมดไปทั่วโลกของโรคฝีดาษ นับเป็นโรคติดต่อในมนุษย์ชนิดเดียวจนปัจจุบันที่ถูกกำจัดไปจากธรรมชาติอย่างสมบูรณ์

10. “ห่าลงปีมะโรง” อหิวาห์ระบาดหนัก พ.ศ. 2363

อหิวาตกโรค (Cholera) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการท้องร่วงเป็นน้ำและอาเจียน ทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต มีพาหะคือแมลงวัน เชื้อโรคมักอยู่ในน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน

ในสมัยรัชกาลที่ 2 จุลศักราช 1182 (พ.ศ. 2363) ตรงกับปีมะโรง เกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ ระบาดอยู่ราว 15 วัน ก็เริ่มซาลงไป ทำให้มีคนล้มตายไปมากกว่า 30,000 คน จึงถูกขนานนามว่า “ห่าลงปีมะโรง” มีศพเกลื่อนกลาดไปทั่ว ลอยอยู่เต็มแม่น้ำลำคลอง ดังความในพงศาวดารว่า

“…คนตายทั้งชายทั้งหญิง ศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าแลศาลาดินในวัดสระเกษ วัดบางลำภู วัดบพิตรภิมุข วัดประทุมคงคา แลวัดอื่น ๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก ถึงมีศพลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดก็ไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างกินแต่ปลาแห้งพริกกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้ ด้วยอาเกียรณ์ไปด้วยทรากศพ…”

นอกจาก 10 เหตุการณ์ข้างต้น อีกหนึ่งภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่ขอยกไว้ต่างหาก เพราะแม้จะก้าวสู่ปีที่ 6 นับตั้งแต่การตรวจพบครั้งแรก และเราได้ผ่านระยะระบาดหนักไปแล้ว แต่โคโรนาไวรัส หรือ “โควิด-19” ยังไม่หมดไป ดังจะเห็นว่าจนถึงตอนนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไปแล้วถึง 774 ล้านคน เป็นยอดผู้เสียชีวิต 7 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567) ซึ่งในจำนวนข้างต้น มีคนไทยเสียชีวิตเพราะโควิด-19 มากกว่า 34,000 คน

นับว่ายืดเยื้อ รุนแรง และหนักหนาสาหัสกว่ามหาภัยพิบัติในประวัติศาสตร์ไทยครั้งใด ๆ ก็ว่าได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

https://coronaboard.com/

https://www.who.int/thailand/news/detail/07-02-2024-update-on-covid-19-in-thailand–7-february-2024-THA

Thai PBS. ความจริงไม่ตาย : 10 ที่สุดภัยพิบัติไทย. 26 กรกฎาคม 2561. จาก https://www.thaipbs.or.th/program/TruthNeverDies/episodes/55770

ศูนย์ข้อมูลสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. บันทึกเหตุการณ์สาธารณภัยรุนแรงในประเทศไทย พ.ศ. 2485 – 2564. (PDF ออนไลน์)

มติชนออนไลน์. ย้อนรอยเหตุการณ์ “ไฟไหม้โรงงาน” ครั้งใหญ่ในไทย. วันที่ 21 มีนาคม 2566. จาก https://www.matichon.co.th/publicize/news_3884398

เสมียนอารีย์, ศิลปวัฒนธรรม. 15 กุมภาพันธ์ 2534 : โศกนาฏกรรม “แก๊ปไฟฟ้า” ระเบิดที่พังงา อนุสรณ์เตือนใจ “ไทยมุง”. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567. จาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_27760

ศิลปวัฒนธรรม. 26 พ.ค. 2534 : “เลาดาแอร์” ตกที่ป่าพุเตย สุพรรณบุรี คร่า 223 ชีวิต. วันที่ 26 พฤษภาคม 2566. จาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_33273

ศิลปวัฒนธรรม. 4 พฤศจิกายน 2532 : พายุ “เกย์” ถล่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย. วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567. จาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_3913

เสมียนนารี, ศิลปวัฒนธรรม. 2 พายุใหญ่ แฮร์เรียต-ปากพนัง, เกย์-ท่าแซะ,ปะทิว สร้างความเสียหายสูงสุด. วันที่ 26 กันยายน 2567. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_25351

เสมียนนารี, ศิลปวัฒนธรรม. ฝนตกหนัก-น้ำท่วมใหญ่ ในเมืองหลวง ที่คนกทม. แต่ละรุ่นต้องเผชิญมา. วันที่ 23 สิงหาคม 2567. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_86437

ศิลปวัฒนธรรม. ครบรอบ20 ปี “สึนามิถล่มไทย” ความสูญเสียรุนแรงจากคลื่นยักษ์หายนะ 26 ธันวาคม 2547. วันที่ 26 ธันวาคม 2567. จาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_43257

กำพล จำปาพันธ์, ศิลปวัฒนธรรม. ไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) โรคห่าอันแท้จริงของประเทศสยาม ระบาดทุกปีไม่มีเว้น. วันที่ 14 พฤษภาคม 2567. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_87550

ศิลปวัฒนธรรม. 9 ธันวาคม 2522 WHO ประกาศ “ไข้ทรพิษ” หมดไปจากโลก. วันที่ 9 ธันวาคม 2567. จาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_24228

ศิลปวัฒนธรรม. อหิวาตกโรคระบาดสมัยร.2 ศพเกลื่อนแม่น้ำ ยิงปืนใหญ่-สวดพระปริตร-รักษาศีล ไล่โรคระบาด. วันที่ 21 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_44827

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2567

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เปิด 10 มหาภัยพิบัติในประวัติศาสตร์ไทย ความสูญเสียครั้งใหญ่ในอดีต

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 3
  • piyapong
    อย่าลืม 11. เปิดตัวแม้วและพรรคไทยลักไทย ชิหายหนักกว่า 10 ภัยแรกแยะ
    26 ธ.ค. 2567 เวลา 11.28 น.
  • kwang
    แต่ละยุคสมัยกว่าจะฝ่าฟันผ่านแต่ละวิกฤติมาได้ต้องสูญเสียประชาชนไปจำนวนมาก แต่เห็นด้วยกับคุณ ปิยพงศ์ที่ว่านักการเมืองขี้ฉ้อจะสร้างความพินาศให้แก่ชาตินั้นมันมากกว่ามากๆๆ
    01 ม.ค. เวลา 13.17 น.
  • F
    R.I.P.
    27 ธ.ค. 2567 เวลา 00.41 น.
ดูทั้งหมด