คนที่ไม่เคยเจอปัญหา คือคนที่ไม่ทำอะไรเลย! ประโยคสุดคลาสิกที่ได้ยินกันมานาน ส่วนมากก็ไว้ปลอบใจเวลาเจอเรื่องยาก ๆ เข้ามาถาโถม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะเวลาทำงานกับคนหมู่มาก ยิ่งมากคนก็ยิ่งมากความอย่างที่เขาบอก นาน ๆ ไปก็กลายเป็นความทุกข์สะสม พาลจะทำงานไม่มีความสุขเอาซะงั้น LINE TODAY รวบรวมตัวอย่างปัญหาที่ชอบทำให้ชาวออฟฟิศปวดใจ แต่บอกใครไม่ได้ พร้อมวิธีรับมือมาฝากกัน
Q1.หน้าที่งานไม่ชัดเจน อาสาช่วยทำ แต่กลายเป็นงานเราซะงั้น!
เป็นคนดีที่ตั้งใจทำงาน บางครั้งก็อาจจะนำพาความหนักอกหนักใจมาสู่ตัวเอง ปัญหานี้เกิดขึ้นกับหลายคน โดยเฉพาะคนที่ทำงานในองค์กรเล็ก ๆ ไม่มีระบบงานที่ชัดเจน แต่อาศัยการพึ่งพาช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทีมดังเช่นในเคสนี้…
“เรารับปากทำอะไรที่ไม่ใช่งานตัวเองไป ที่ทำก็เพราะต้องการช่วยคนในทีม แต่สุดท้ายคือโดนหัวหน้ามองว่าเป็นงานของเราไปโดยอัตโนมัติ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ใน Job Description เลย หัวหน้ารับรู้นะแต่ก็ทำเฉย ๆ”
การเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม การช่วยเหลือคนอื่นตามกำลังความสามารถของเราเป็นเรื่องที่น่ารัก แต่ถ้ามาเจอเหตุการณ์แบบนี้ เป็นใครก็คงไม่ปลื้มหรอก จริงไหม
A : ปัญหาโลกแตกของคนมีน้ำใจ เอ็นดูเขาเอ็นเราขาด ใจดีตลอดมา พอปฏิเสธครั้งเดียวกลายเป็นคนใจร้ายตลอดไป ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้หลายวิธี คุณอาจจะต้องจับเข่าคุยกันในทีม ทั้งหัวหน้าและลูกน้อง กำหนดบทบาทของทุกคน หน้าที่ใครหน้าที่มัน แบ่งหน้าที่ให้ชัดเจนเด็ดขาด ให้เข้าใจตรงกัน ส่วนถ้าตัวคุณเองเป็นพวกใจบาง ชอบรับงานคนอื่นมาอีก ต้องรู้จักใจแข็ง และเห็นแก่ตัวบ้าง เห็นแก่ตัวในที่นี้ไม่ใช่ไม่เอางานอะไรเลย แต่ต้องรู้จักลิมิตตนเอง โฟกัสแค่หน้าที่ตัวเองก็เพียงพอแล้ว
Q2. เจ้านายโลเล ไม่มีความรู้ ขาดความเป็นผู้นำ
อีกหนึ่งปัญหายอดฮิตที่ได้ยินเพื่อน ๆ หลายคนบ่นกันบ่อย ๆ ก็คือตัวหัวหน้าที่ขาดความเชี่ยวชาญในการนำทีม “หัวหน้างานไม่มีความรู้เรื่องงานที่ทำอยู่เลยสักนิด และชอบยึดเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันผิด พอคนในทีมแย้งก็ทำเป็นใส่อารมณ์บ้าง ทำเป็นน้อยใจบ้าง ไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง ได้แต่รู้สึกเพลียไปวัน ๆ”
หรืออีกหลาย ๆ เคสก็คือการไม่กล้าตัดสินใจ ปล่อยให้สถานการณ์และตัวงานคลุมเครือ จนบางทีก็ทำให้เสียงาน งานล่าช้าเกินกำหนดไปบ้างหรือต้องมาเปลี่ยนเนื้องานกันไฟแล่บแบบนาทีสุดท้ายบ้าง เจอบอสแบบนี้ เป็นใครก็กลอกตาและบ่น (เบา ๆ) ว่า “หนูก็ไม่ไหว!”
A: คุยกันค่ะ การสนทนาคือทางออกที่ดีของมนุษย์ อย่าคิดว่าเราเป็นแค่ลูกน้องจะไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงแสดงความคิดเห็นอะไร ไม่มีใครเก่งไปเสียทุกเรื่อง หากเรามีประสบการณ์ในเนื้องานที่ทำ เราต้องให้คำแนะนำคนอื่น แม้ว่าคนนั้นจะเป็นหัวหน้า ทุกคนย่อมต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน แต่หากคุณเองเป็นหัวหน้าอย่างที่ว่ามา อย่างแรกที่ต้องทำคือเปิดใจ ใจกว้าง รับฟังคำติชมจากลูกน้องและเพื่อนร่วมงานบ้าง อย่าไปคิดว่าเราอยู่เหนือกว่าใคร ต้องทำงานอย่างมืออาชีพ พร้อมที่จะพัฒนาไปพร้อมกับทุกคน เพราะยังไงก็ตามในทีมก็ต้องย่อมต้องมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการทำงานอยู่แล้ว
Q3. มีความสามารถเท่าไรก็ไม่ชนะคำว่า “ลูกรัก”
เหมือนจะเป็นพลอตในละครน้ำเน่าแต่คำว่า “ลูกรัก” มีอยู่จริงในทุกที่และทุกองค์กร ไม่ใช่เพราะผลงานที่โดดเด่นแต่เป็นเพราะคะแนนพิศวาสล้วน ๆ ที่ทำให้ลูกน้องบางคนได้อภิสิทธิ์พิเศษเหนือคนอื่น ๆ
“งานหนักเท่าไหร่เราก็ยังไม่ค่อยรู้สึกท้อใจเท่ากับเรื่องที่หัวหน้ามีตาเล็กตาใหญ่ กับลูกน้องบางคนที่ประจบเก่ง เอาใจหัวหน้าเก่ง คือทำอะไรก็ถูกใจในสายตาเขาไปหมด เห็นดีเห็นงามกันอยู่แค่นั้น ทั้ง ๆ ที่คนอื่นก็เห็นอยู่ว่างานที่ทำออกมาไม่ได้เรื่องเลย ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน เพราะปัญหานี้ไม่ได้มาจากตัวเราเลย”
A : ยิ่งกว่ามุนินทร์ มุตา ก็ปัญหากวนใจแบบนี้นี่แหละ อย่างที่เค้าว่า คนอยู่เป็นก็จะสบายหน่อย แต่ถ้าจะให้แนะนำคงต้องบอกว่า คุณไม่ต้องเก็บเรื่องคนแบบนี้มาใส่ใจ แล้วมุ่งมั่นทำงานของตัวเองไป อ่านแล้วคงรู้สึกว่า แค่พูดก็คงง่าย แต่จะไม่ให้รู้สึกเลยมันก็คงยาก ยิ่งถ้าคุณอยู่ในฐานะหัวหน้าซะเอง คุณต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ต้องปฏิบัติต่อลูกน้องทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เพราะมันจะแสดงว่าคุณเป็นมืออาชีพในการทำงาน
Q4. เพื่อนร่วมงานมีงาน แต่ไม่ทำ!
นอกจากหัวข้อเรื่องหัวหน้าแล้ว สิ่งที่หน้าเหนื่อยหน่ายใจไม่แพ้กันก็คือเพื่อนร่วมงานประเภทมือไม่พายแถมเอาเท้าราน้ำ แบบในเคสนี้
“มีเพื่อนที่ทำงานคนนึงที่นิสัยแบบว่ามีงานของตัวเองนะ แต่ไม่ทำอะ ชอบโบ้ยให้คนอื่นช่วย ส่วนตัวเองก็เอาเวลาไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์เลย แต่พอเป็นอะไรที่ได้คำชมเชยแบบทั้งทีม ยัยนี่เสนอหน้าแจ๋นมาคนแรกเลย เหมือนมาเคลมรางวัลเอาหน้า แบบนี้ใคร ๆ ก็ไม่อยากทำงานด้วยปะ!”
A : รายงานเรื่องนี้ให้บอสทราบทันที นำปัญหา จุดเด่น จุดด้อยของเพื่อนร่วมงานคนนั้นบอกกล่าวต่อหัวหน้างาน โดยปราศจากอคติ พูดคุยด้วยเหตุผล ไม่เน้นอารมณ์ หลายคนอาจไม่กล้าทำเพราะคิดว่าจะกลายเป็นคนขี้ฟ้องหรือเปล่า แต่ความจริงแล้วคนที่จะสามารถจัดการปัญหานี้ได้มีเพียงผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ในมุมของหัวหน้าก็ต้องวางเป้าหมายในลูกน้องคนนั้นทำ จัด KPI หรือเป้าประสงค์บางอย่าง และคอยติดตามวัดผลอย่างต่อเนื่อง หาจุดเด่นของเขาแล้วผลักดันจุดนั้นให้เต็มที่ ส่วนจุดด้อยต้องหาทางพัฒนา เช่น อาจจัดการอบรมทักษะบางอย่างขึ้นมาเพื่อส่งเสริมความสามารถพนักงานของตนเอง
ตอบคำถามปัญหาย่อย ๆ ไปแล้ว ทีนี้เราลองมาดูวิธีจัดการปัญหาแบบภาพรวมกันบ้าง จะได้นำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุม
การคุยกันสำคัญมาก
ในการทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก การสื่อสารให้เข้าใจกันเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างยิ่ง เพราะโดยธรรมชาติของความหลากหลายของมนุษย์นั้น คนเรามักจะมีเหตุผลในการทำอะไรบางสิ่งที่ไม่เหมือนกันเสมอไป อะไรที่เราคิดว่าเป็น common sense จากมาตรฐานของตัวเอง อาจจะไม่สามารถอธิบายคนอื่นอีกร้อยคนได้ เพราะฉะนี้ การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยลดความเข้าใจผิดในที่ทำงานที่อาจนำมาสู่ปัญหาในสเกลที่ใหญ่ขึ้น และทำให้การทำงานราบรื่นด้วย
แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
การบ่นอาจจะทำให้เราหายเครียดได้ชั่วคราว แต่ความเครียดนั้นจะฝังลึกแบบระยะยาวเลยหากเราไม่จัดการที่ต้นตอปัญหานั้น ๆ ลองวิเคราะห์ดูว่าความหนักอกหนักใจของเราเกิดขึ้นเพราะใครและรีบไปเคลียร์ให้ถูกจุด อย่างเช่น
1) ปัญหาที่เกิดจากหัวหน้า
แม้ว่าเราเป็นลูกน้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีสิทธิ์แสดงออกทางความคิดอะไรเลย หากหัวหน้าของคุณเป็นมืออาชีพพอ เขาต้องรับฟังจุดด้อย ไม่ว่าจะจากใครก็ตามแล้วรับนำข้อด้อยนั้นไปแก้ไขอย่างตั้งใจจริง เปิดใจคุยกันด้วยเหตุผล คุยกันตรง ๆ ด้วยเนื้อปัญหาไม่ใช้อารมณ์ ในขณะเดียวกัน ลองตั้งกฎระเบียบ ข้อตกลงร่วมกันบางอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีก ถ้าเราพยายามอย่างที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วแต่ก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ขอแนะนำให้ทำใจ หากปัญหาไม่สามารถเยียวยาได้จริง ๆ คงต้องมาปรับที่ใจเราเอง หรือถ้าสุดทางแล้วจริง ๆ ก็อาจจะเป็นเวลาอันดีที่เราจะเริ่มมองหาโอกาสในชีวิตการงานครั้งใหม่
2) ปัญหาที่เกิดจากเพื่อนร่วมงานสุดขี้เกียจ
"รู้จักหน้าที่ตัวเอง และทำมันให้ดี" คตินี้คือสิ่งที่ทุกคนควรยึดในการทำงานเป็นทีม แต่เมื่อไรที่มีใครเริ่มเกเร ละลืมเรื่องความรับผิดชอบ เราก็ควรรายงานปัญหาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องลงมือแก้ไขสถานการณ์นี้ด้วยตัวเองเพราะอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ในทีมแย่ลง ลองปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบอสในการบาลานซ์ทุกอย่างให้ ส่วนตัวเราก็ตั้งใจทำงานส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด ทำงานไปด้วย รักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันไปด้วย น่าจะเวิร์กอยู่!
3) ปัญหาที่เกิดจากเพื่อนร่วมงานสายนางร้าย
ท่องเอาไว้ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยพื้นฐานของคนบางคนได้ ถ้าพยายามไปก็มีแต่จะเสียเวลาและเสียใจไปเปล่า ๆ ลองโฟกัสที่งานเป็นหลัก ส่วนความกระทบกระทั่ง พยายามมองมันผ่าน ๆ ไป แม้ว่าจะไม่ถูกกัน ไม่พอใจกัน แต่ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานเรื่องงานหรือหน้าที่ หากจะแก้ไขให้ ก็ควรจะโฟกัสที่จุดนั้นมากกว่าเรื่องส่วนตัวที่เราแก้เค้าไม่ได้
ท้ายที่สุดดูละครแล้วต้องย้อนดูตัวเองด้วยดั่งคำโบราณที่ชี้แนะไว้ เป็นธรรมดาที่มนุษย์อย่างเรา ๆ มักจะเห็นข้อผิดพลาดของผู้อื่นมากกว่าตัวเองอยู่แล้ว แต่ในที่สุดเราต้องตั้งสติ ลองสำรวจตัวเองบ่อย ๆ ว่า ทุกปัญหาที่เราพบเจอ เราเองเป็นส่วนหนึ่งในการก่อให้เกิดเรื่องราวเหล่านั้นด้วยหรือไม่ เรากลายเป็นคนประเภทที่เราไม่ชอบเองด้วยไหม หากเจอต้นตอของปัญหาจะได้หาทางออกและรีบแก้ไขได้ทันท่วงที เพียงเท่านี้เราก็จะทำงานอย่างสงบสุขในทุก ๆ วัน!
Rainbowsun เพิ่งเจอมาครบเลย ยังสงสัยเลยว่าบริษัทไปติดหนี้บุญคุณอะไรกับคนเหล่านี้ ให้ความสำคัญเหมือนเป็นเจ้าของทั้งๆที่สมัครงานมาพอๆกันท้ายสุดให้อำนาจเขี่ยคนอื่นที่ดีๆทิ้ง
31 พ.ค. 2562 เวลา 15.12 น.
Sky2365 ปัญหาโลกแตก 555
31 พ.ค. 2562 เวลา 07.35 น.
♋ JILL -ช่วยแล้วโดนเอาหน้า แต่เวลาโดนด่า บอกว่าเราทำ
--มีบางคนทำตัวเป็นเจ้าของผู้บริหารคือคนอื่นเข้าถึงไม่ได้ยกเว้นตัวเอง
-- หวังดีจริงใจต่องาน แต่โดนมองในทางที่ผิดหาว่าไปสมรู้ร่วมคิดกันคิดโกงบริษัท
-- พวกที่ใช้ลิ้นทำงาน ปิดกั้นความคิดคนอื่น ดลัวคนอื่นมีผลงานเด่นกว่าตัวเอง
--เป่าหูเจ้านาย ใส่ร้ายเพื่อนร่วมงาน
31 พ.ค. 2562 เวลา 23.19 น.
JK บทความกีมากๆ จริงทุกประการ และที่สำคัญทิ้งท้ายไว้ดีและเป็นกลางมากๆ คือให้แต่ละคนเปิดใจหาข้อด้อยข้อเสียของตนเองด้วยว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเหล่านั้นเองรึเปล่า และเอาไปปรับปรุงให้ดีขึ้น
01 มิ.ย. 2562 เวลา 00.34 น.
p.pong มีทุกที่ ไม่แตกต่าง เหมือนๆ กัน
31 พ.ค. 2562 เวลา 09.13 น.
ดูทั้งหมด