ไลฟ์สไตล์

ตามรอย “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” จากกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงอังวะ

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 13 พ.ย. 2566 เวลา 14.34 น. • เผยแพร่ 13 พ.ย. 2566 เวลา 00.30 น.
ชาวโยเดีย ที่ วัดเจาตอจี เมืองอมรปุระ พม่า

ตามรอย “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” พระราชโอรส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงอังวะ คราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2

เหตุการณ์ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 อยู่ในความสนใจของนักวิชาการ และบุคคลทั่วไปจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จาก บทความ, สารคดี, ภาพยนตร์ ฯลฯ โดยเฉพาะวีรกรรมต่างๆ เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไม่ว่าจะเป็นการตีฝ่าวงล้อม, การวางแผนการเดินทัพไปรวบรวมกำลังไพร่พลที่จันทบุรี, การปราบปรามกลุ่มก๊กต่างๆ ฯลฯ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ “ฮึดสู้” จนกลับมาได้รับชัยชนะ และได้เอกราชคืน กลายเป็นภาพจำของคนส่วนใหญ่ จนดูเหมือนเราจะลืมไปว่าก่อนหน้านั้นเราแพ้ และต้องเป็นเชลย

คนไทยที่ต้องไปพม่าในครั้งนั้นมีตั้งแต่ ชาวบ้านทั่วไป, แม่ทัพนายกอง, ขุนนางข้าราชสำนัก เจ้านายชั้นสูง ฯลฯ

รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ภาคีสมาชิกสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา ทำงานวิชาการเรื่องนี้อย่างจริงจังค้นคว้าเอกสารชั้นต้น และชั้นรองหลายสิบรายการ รวมถึงการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลเขียนบทความชื่อ “ตามรอยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ ขุนหลวงหาวัด จากกรุงศรีอยุธยาสู่กรุงอมรปุระ” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กับกรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย) ที่ทรงมีพระชะตาพลิกผันยิ่ง

เมื่อเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถูกลงโทษจนทิวงคต (เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าทรงเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาลย์) ทำให้ตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่างลง

พระราชโอรสที่มีอิสริยยศและอยู่ในลำดับที่จะได้ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มี เจ้าฟ้าเอกทัศน์ (พระเชษฐาร่วมพระราชชนกและพระราชชนนีเดียวกัน) และเจ้าฟ้าอุทุมพร หากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเลือกสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพร แทนตำแหน่งที่ว่าง และโปรดให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์เสด็จออกไปทรงผนวชที่วัดละมุด ปากจั่น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงพระประชวรหนัก จึงได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

แต่เรื่องราวไม่ได้เป็นไปโดยง่าย

พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่เกิดจากพระสนม คือ กรมหมื่นสุนทรเทพ, กรมหมื่นเสพภักดี, กรมหมื่นจิตรสุนทร ได้เตรียมการซ่องสุมอาวุธหวังช่วงชิงแผ่นดิน ก่อนที่กรมหมื่นทั้งสามจะถูกจับมาสำเร็จโทษ

นอกจากนี้ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ก็ทรงปรารถนาราชสมบัติเช่นกัน พระองค์เสด็จมาประทับพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ไม่ยอมเสด็จไปประทับที่อื่นๆ แม้ว่าขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จะเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว สุดท้ายพระองค์ก็ถวายราชสมบัติให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ แล้วเสด็จออกไปทรงผนวช

แต่ก็มี ‘บางส่วน’ ที่ยังไม่ยอมรามือ

ขุนนางผู้ใหญ่และเจ้านายบางส่วนวางแผนจะถอด สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ แล้วหวังจะให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกลับมาทรงครองแผ่นดิน เมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรทรงทราบข่าวนี้ จึงเสด็จฯ ไปแจ้งข่าวแก่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แล้วเสด็จฯ กลับไปยังวัดประดู่ทรงธรรม

ต่อมา อยุธยาทำศึกกับพม่าที่มีพระเจ้าอลองพญาเป็นผู้นำทัพ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงทรงลาสิกขามาช่วยรักษากรุงศรีอยุธยา หากเมื่อเสร็จศึกพม่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงระแวงสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจึงเสด็จออกผนวชอีกครั้ง

จน พ.ศ. 2310 ที่เกิดสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระเจ้ามังระปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ที่กระด้างกระเดื่องเสร็จสิ้น จึงโปรดให้มังมหานรธาและเนเมียวมหาเสนาบดี เป็นแม่ทัพยกมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2309 โดยแบ่งเส้นทางเดินทัพเป็น 3 ทาง คือ

  • ทางเมืองทวาย มีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ คุมกำลังทหาร 15,000 คน
  • ทางเมืองเชียงใหม่ มีเนเมียวมหาเสนาบดีเป็นแม่ทัพ คุมกำลังทหาร 20,000 คน
  • ทางด่านเมืองอุทัยธานี มีแมงกิม้าระหญ่าเป็นแม่ทัพ คุมกำลัง 3,000 คน

กองทัพกรุงศรีอยุธยาที่ออกไปรับศึกตามหัวเมืองต่างๆ แพ้กลับมาจนต้องถอยเข้ามายังพระนคร สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงมีดำรัสให้นิมนต์พระราชาคณะจากวัดต่างๆ นอกพระนครให้เข้ามาอยู่ในพระนครเสีย สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรที่ทรงพระผนวชอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม จึงได้เสด็จฯ เข้ามาประทับ ณ วัดราชประดิษฐาน

เมื่อกองทัพพม่าตีเข้ามาพระนครศรีอยุธยาได้ในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 จึงเผาทำลายเมืองและกวาดต้อนผู้คนไปยังพม่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์สวรรคตระหว่างเสด็จพระราชดำเนินหนีออกจากพระนคร

ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็ถูกพม่ากวาดต้อนไปยังกรุงอังวะพร้อมกับพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ ซึ่งมีทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในตั้งแต่ พระอัครมเหสี, พระมเหสี, พระภคินี, พระราชธิดา, พระราชโอรส, พระราชนัดดา ฯลฯ รวมถึงไพร่พลชาวกรุงศรีอยุธยาด้วย

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ประทับอยู่ที่เมืองอังวะประมาณ 16 ปี พ.ศ. 2325 พระเจ้าโบดอพญาปะโดเมง หรือพระเจ้าปดุง แห่งราชวงศ์คองบอง ทรงย้ายราชธานีจากกรุงอังวะ ไปเมืองอมรปุระ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรก็ต้องทรงย้ายไปด้วย และเมืองอมรปุระก็เป็นเมืองที่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรสวรรคต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2562

ดูข่าวต้นฉบับ