ฮิว เฮฟเนอร์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารเพลย์บอย เคยพูดขำ ๆ กับเหล่านางแบบเพลย์บอยว่า “ผมเป็นหนี้บุญคุณพวกคุณนะ ถ้าไม่มีพวกคุณนิตยสารฉบับนี้ก็คงเป็นแค่นิตยสารวรรณกรรม”
เพลย์บอย ? นิตยสารวรรณกรรม ? ล้อเล่นหรือเปล่า ?
ความจริงคือเพลย์บอยเป็นนิตยสารที่ตีพิมพ์งานของนักเขียนวรรณกรรมชั้นเยี่ยมในโลกจำนวนมาก และหลายคนในนั้นเป็นนักเขียนระดับรางวัลโนเบล
ดังนั้นเมื่อผู้ชายบางคนบอกว่า “ผมซื้อเพลย์บอยมาอ่านเรื่องสาระและวรรณกรรม” เขาอาจจะพูดจริง !
บรรณาธิการด้านวรรณกรรมของเพลย์บอยบอกทำนองว่า “คุณต้องสะดุดตาพวกผู้ชายก่อน แล้วค่อยมอบสติปัญญาให้”
เพลย์บอยเป็นนิตยสารที่ตีพิมพ์งานวรรณกรรมชั้นดีมายาวนาน จนกลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปแล้ว งานของนักเขียนระดับโลก เช่น จอห์น สไตน์เบ็ค, แจ็ค เครูแอ็ค, วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ, เกเบรียล การ์เซีย มาเควซ, อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก มูราคามิ
หลายนามที่กล่าวมาเป็นนักเขียนรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม
ตัวอย่างนักเขียนที่ลงเรื่องในเพลย์บอยไม่ใช่นักเขียนโนเนม ล้วนเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ
นักเขียนชาวอังกฤษ โรอาลด์ ดาห์ล เขียนหนังสือเด็กไว้เยอะ เช่น Charlie and the Chocolate Factory, Fantastic Mr Fox เป็นต้น เขาเขียนเรื่องแฟนตาซีหลายเรื่องให้เพลย์บอย ระหว่างปี 1965-1974 ต่อมาหลายเรื่องรวมเล่มใน Switch Bitch
แจ็ค เครูแอ็ค ผู้สร้างงานคลาสสิก On the Road ในปี 1957 ก็เขียนให้เพลย์บอย เรื่อง Before the Road
เอียน เฟลมมิง ก็เป็นขาประจำของเพลย์บอย เขาเขียนนิยาย เจมส์ บอนด์ เรื่อง On Her Majesty’s Secret Service ลงเป็นตอน ๆ ในเพลย์บอย เมื่อหนังสือกลายเป็นภาพยนตร์ (ที่ คริสโตเฟอร์ โนแลน ชอบ) ก็มีฉาก เจมส์ บอนด์ ถือนิตยสารเพลย์บอย
เรย์ แบรดบิวรี เขียนนวนิยาย Fahrenheit 451 ที่กาลต่อมาเป็นวรรณกรรมคลาสสิกชั้นเยี่ยมของโลก ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้วไม่ดัง จนเมื่อไปลงในเพลย์บอยในปี 1954 จึงเข้าถึงกลุ่มคนอ่านกว้างขึ้น
อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก นักคิดนักเขียนวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก เขียนให้เพลย์บอยระดับขาประจำ เรื่องเด่นที่เขียนลงนิตยสารนี้คือ Dial F For Frankenstein เรื่องของการเชื่อมระบบสื่อสารในโลกเข้าด้วยกันผ่านดาวเทียม
เรื่องนี้ตีพิมพ์ราวปี 1972 ถือว่าล้ำสมัยมาก
ชายหนุ่มคนหนึ่งอ่านเรื่องนี้แล้วเกิดแรงบันดาลใจให้ในกาลต่อมาประดิษฐ์อินเทอร์เน็ต ชายคนนี้คือ เซอร์ ทิโมธี จอห์น เบอร์เนอร์ส-ลี
วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ เจ้าของผลงานอื้อฉาว Lolita ก็เขียนทั้งนวนิยายและเรื่องสั้นหลายเรื่องให้
เกเบรียล การ์เซีย มาเควซ นักเขียนรางวัลโนเบล ผู้เขียน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ก็เขียนให้เพลย์บอยในปี 1968 คือเรื่อง The Handsomest Drowned Man in the World
นักเขียนชาวอเมริกัน นอร์แมน เมลเลอร์ เป็นนักเขียนเกรด A ที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ถึงสองครั้ง เป็นผู้บุกเบิกงานเขียนตระกูลที่เรียกว่า Creative non-fiction หรือ New Journalism ร่วมกับนักเขียนดัง ๆ ในยุคนั้นหลายคน เช่น ทรูแมน คาโพที New Journalism คือการเขียนสไตล์วรรณกรรมในงานสารคดีและสื่อสารมวลชน
นอร์แมน เมลเลอร์ เขียนเรื่องเกี่ยวกับการชกมวยระหว่าง มูฮัมหมัด อาลี กับ จอร์จ โฟร์แมน ในปี 1974 ที่เรียกว่า Rumble in the Jungle เป็นบทความเพียงสองตอน เพลย์บอยจ่ายค่าเหนื่อยให้เมลเลอร์เป็นเลขหกหลัก ภายหลังงานชิ้นนี้ถูกแปลงเป็นหนังสือสารคดีเรื่อง The Fight
ไม่เพียงนักเขียนชายเท่านั้นที่เขียนให้เพลย์บอย นักเขียนสตรีก็มีหลายคน เช่น มาร์กาเร็ต แอตวูด
นักเขียนสตรี Ursula Le Guin ผู้มีผลงานไซไฟโดดเด่นหลายเรื่อง ก็เขียนให้เพลย์บอยในปี 1968 เป็นนวนิยายขนาดสั้นชื่อ Nine Lives (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น The Wind’s Twelve Quarters) เรื่องเกี่ยวกับโคลนมนุษย์เพื่อค้นหาตัวตน เรื่องนี้เธอใช้นามปากกาว่า U.K. Le Guin ตามคำแนะนำของเพลย์บอยว่า “นักเขียนสตรีจะทำให้ผู้อ่านชายตื่นตระหนก”
อย่างไรก็ตาม นักเขียนคุณภาพจำนวนมากปฏิเสธเขียนลงเพลย์บอย เพราะ “ภรรยาและลูกสาวไม่อนุญาต”
ประเด็นคือหนังสือหรือนิตยสารโป๊เป็นสื่อ ‘เลว’ หรือไม่ เราเรียนรู้จากหนังสือหรือนิตยสารโป๊ได้หรือไม่
สำหรับนิตยสารเพลย์บอย คำตอบคือ ได้ !
เพลย์บอยเป็นข้อพิสูจน์ว่าหนังสือดี เรื่องดีมิใช่อยู่ที่พื้นที่ตีพิมพ์
มันไม่สำคัญว่าเวทีไหน แต่สำคัญที่สาระของเรื่อง
แม้เพลย์บอยมีภาพลักษณ์เป็นนิตยสาร ‘ใต้สะดือ’ แต่มันก็เปิดโลกเหนือสะดือที่สูงถึงสมองส่วนบน
ขึ้นอยู่กับผู้เสพจะเลือกส่วนไหน
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY
ขัตติยา (Jang) นิตยสารของไทยอย่างคู่สร้างคู่สม ไม่ได้มีแต่เรื่องรักๆใคร่ๆ ผัวเมีย แต่มีเรื่องราวที่ให้ความรู้อยู่ในหลายคอลัมน์ เราเลือกอ่านเฉพาะเรื่องที่มีสาระ เรื่องอื่นก็แค่อ่านผ่านๆ
27 ก.ค. 2563 เวลา 04.03 น.
ในสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นในประเภทใดก็ตาม ต่างก็ย่อมที่จะให้ความรู้กับผู้ที่อ่านได้เสมอ หากว่าได้นำมาคิดพิจารณาถึงในหลักของความเป็นจริงแล้วนำมาปรับใช้ให้กับตัวของเราเองให้ถูกวิธี.
26 ก.ค. 2563 เวลา 20.58 น.
Ji Iphone14 Pro+Pc💚 มันคัดประเภทลูกค้าโดยปริยายค่ะ คนบางกลุ่มก็คงไม่มีโอกาสได้อ่าน เหอ ๆ
27 ก.ค. 2563 เวลา 11.07 น.
Arm แต่เพราะภาพจำของ Playboy ไม่ใช่เรื่องวรรณกรรมน่ะสิครับ
27 ก.ค. 2563 เวลา 03.29 น.
พี่วินทร์ ควรใส่ภาพประกอบ เพลย์บอยสัก2-3ภาพ เพื่อเป็นการสะดุดตาก่อน คนได้เข้ามาอ่านบทความดีๆของพี่เยอะๆ อิอิ
28 ก.ค. 2563 เวลา 01.18 น.
ดูทั้งหมด