ไลฟ์สไตล์

ย้อนอดีตเทรนด์ LGBTQ+ กับปรากฏการณ์ Will & Grace

The101.world
เผยแพร่ 22 ส.ค. 2562 เวลา 10.21 น. • The 101 World

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ย้อนกลับไปในยุคเก้าศูนย์ แม้หลายคนจะคิดว่าเป็นยุคที่ ‘ก้าวหน้า’ พอสมควรในหลายด้าน รวมไปถึงเรื่องเพศในแวดวงวิชาการด้วย แต่เชื่อไหมว่า ถ้าเป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศแบบ ‘เมนสตรีม’ ต้องถือว่ายังไม่เปิดกว้างสักเท่าไหร่

ดังนั้น การถือกำเนิดขึ้นมาของ Will & Grace ซีรีส์แสนสนุกว่าด้วยความสัมพันธ์ของเกย์หนุ่มกับสาวสเตรท จึงเป็นเรื่องน่าสนใจและน่าย้อนกลับไปมองอย่างยิ่ง

Will & Grace เป็นซีรีส์แนวซิตคอมของ NBC ออกอากาศครั้งแรกในปี 1998 และกลายเป็นซีรีส์ฮิต ทำให้ได้สร้างต่อเนื่องยาวนานมาถึง 8 ซีซัน มาสิ้นสุดในปี 2006 แต่กระนั้น ในปัจจุบันก็มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ จนเกิดเป็นซีซันที่ 9 และ 10 ซึ่งก็เป็นที่ฮือฮาพอสมควร แต่ไม่ได้โด่งดังเป็นพลุแตกเหมือนในยุคเก้าศูนย์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับใครที่ไม่เคยดูหรืออยากลองดูซ้ำ ตอนนี้ Will & Grace มีฉายแบบสตรีมมิ่งอยู่ใน Netflix 8 ซีซันแรก ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูใหม่ เราจะเห็นอะไรหลายอย่างทีเดียว

ในปี 1997 ผู้สร้างสรรค์ Will & Grace คือ แม็กซ์​ มัตชนิค (Max Mutchnick) กับเดวิด โคฮาน (David Kohan) ซึ่งเคยร่วมงานกันในงานซิตคอมสั้นๆ เรื่อง Boston Common ในปี 1995 เกิดปิ๊งไอเดียอยากทำซิตคอมว่าด้วยชีวิตของคู่รักแบบรักต่างเพศ (heterosexual) สองคู่ กับอีกคู่หนึ่งเป็นความรักแบบไร้เพศสัมพันธ์ หรือ Platonic Love ของเกย์กับผู้หญิงที่เป็นสเตรท

พวกเขาไปนำเสนอกับประธานของช่อง NBC ในตอนนั้น คือวอร์เรน ลิตเติลฟิลด์ (Warren Littlefield) ซึ่งก็โชคดีมาก เพราะจังหวะในการนำเสนอประจวบเหมาะอย่างยิ่ง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ก่อนหน้านั้น 15 ปี ลิตเติลฟิลด์เคยมีไอเดียจะทำซีรีส์ที่มี ‘ชื่อเล่น’ ว่า He’s gay, she’s straight เพื่อเสนอกับ NBC มาก่อน แต่ช่องไม่อนุมัติให้ทำ ด้วยเหตุผลที่เราก็รู้ๆ กันอยู่ นั่นคือสังคมไม่น่าจะยอมรับได้

ดังนั้น พอเจอกับไอเดียของคนรุ่นใหม่ (ในขณะนั้น) ที่เหมือนกันเปี๊ยบกับไอเดียที่เขาเคยอยากทำ ลิตเติลฟิลด์จึงอนุมัติ และเสนอว่าให้ตัดคู่รักที่เป็นรักต่างเพศออกไปเสีย แล้วพุ่งเป้ามาที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกย์หนุ่มกับสาวสเตรทไปเลยตรงๆ

แม้จะมีประธานบริษัทสนับสนุน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าซีรีส์นี้จะผ่านฉลุย เพราะต้องส่งให้คณะกรรมการตัดสินเลือกอีกทีหนึ่ง เพื่อประเมินสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเงิน ว่าปล่อยออกไปแล้วจะสร้างเสียงฮือฮาในด้านบวกหรือลบออกมา

ต้องบอกว่า ในช่วงนั้น สังคมอเมริกัน (และที่จริงก็สังคมโลกด้วย) กำลังเริ่มตื่นตัวกับความหลากหลายทางเพศมากทีเดียว

ปี 1997 น่าจะถือได้ว่าเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อของเรื่องนี้ เพราะเป็นปีที่มีหนังอย่าง My Best Friend’s Wedding ออกฉาย และเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทางรายได้ ทั้งที่มีตัวละครหลักเป็นเกย์ คือ รูเพิร์ต เอเวอเร็ต (Rupert Everett) ซึ่งตัวจริงของเขาก็เปิดเผยว่าเป็นเกย์ด้วย หนังเรื่องนี้เป็นโรแมนติกคอเมดี้ที่แม้จะมีพระเอกอย่าง เดอร์ม็อต มัลโรนีย์ (Dermot Mulroney) มานำแสดงคู่กับนางเอกอย่างจูเลีย โรเบิร์ตส์ (Julia Roberts) แต่คนที่ ‘ขโมยซีน’ (ทั้งที่มีซีนไม่มากนัก) ไปอย่างขาดลอย ก็คือเอเวอเร็ตผู้รับบทเพื่อนเกย์แสนหล่อเหลานั่นเอง

หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้มีเกย์เป็นนักแสดงนำ แต่ก็มีบทบาทสำคัญ และส่งบทบาทเกย์เข้าสู่หนังแบบเมนสตรีมเป็นเรื่องแรกๆ โดยที่ไม่ได้มีภาพของเกย์แบบเดิมๆ เช่น มีปัญหากับความรัก หรือเล่นบทตลกขบขัน

นอกจาก My Best Friend’s Wedding แล้ว ปี 1997 ยังเป็นปีที่นักแสดงสาวคนหนึ่งลุกขึ้นมาประกาศตัวว่าเธอเป็นเลสเบี้ยนด้วย แน่นอน -- นักแสดงคนที่ว่าจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เอลเลน เดอเจนเนอเรส (Ellen DeGeneres) ซึ่งในตอนนั้นเธอเล่นซิตคอมเรื่องหนึ่งอยู่ คือซิตคอมเรื่อง Ellen

ในซิตคอมเรื่องนี้ ตัวละครชื่อ เอลเลน มอร์แกน (Ellen Morgan) ลุกขึ้นมา ‘คัมเอาต์’ หรือไม่ปกปิดเพศสภาพของตัวเองอีกต่อไป ซึ่งก็ปรากฏว่า เอลเลนทำให้การคัมเอาต์นี้เป็นทั้งของตัวละครและเป็นทั้งของตัวเธอเองไปด้วยพร้อมกัน ซึ่งก็กลายเป็นข่าวใหญ่สนั่นวงการ เพราะไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน

ที่น่าสนใจก็คือ เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อขนานใหญ่ เกิดการโต้แย้งและตำหนิเธอ จนทำให้ในช่วงนั้น เอลเลนงานหดหาย และเธอถึงขั้นมีอาการซึมเศร้า แม่ของเอลเลนเองก็ตกใจกับการคัมเอาต์ แต่กระนั้นก็สนับสนุนลูกเป็นอย่างดี กว่าเอลเลนจะ ‘กลับ’ มาได้ ก็ต้องใช้เวลาพักหนึ่ง แต่กระนั้น นี่ก็เป็น ‘มูฟ’ สำคัญ ที่เป็นเสมือนฉากหลังให้กับกำเนิดของ Will & Grace

Will & Grace ออกอากาศตอนนำร่องครั้งแรกในวันที่ 21 กันยายน 1998 ท่ามกลางความใจหายใจคว่ำของ NBC ว่าจะถูกวิจารณ์จากสาธารณชนอย่างไรบ้าง แต่ปรากฏว่า ซีรีส์นี้ไม่ได้ถูกคว่ำบาตรจากโฆษณา หรือถูกประณามจากกลุ่มคริสเตียนขวาจัดแต่อย่างใด ทั้งยังได้รับคำยกย่องชมเชยจากนักวิจารณ์ แถมยังมีเรตติ้งดีอีกด้วย

พอเป็นแบบนี้ ก็เลยมีการย้ายเวลาไปอยู่ในช่วงที่ดีขึ้น และส่งผลให้ Will & Grace ไปอยู่ใน 20 อันดับแรกของซีรีส์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในอเมริกาในซีซันปี 1998-1999 ซึ่งต้องบอกว่าช่วงนั้นมีซีรีส์แนวซิตคอมในอเมริกามากมาย การจะประสบความสำเร็จได้ขนาดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ พอถึงซีซัน 2 Will & Grace ก็ยิ่งโด่งดังเป็นที่นิยมมากขึ้น ทั้งที่ช่วงนั้นมีซีรีส์ดังๆ อย่าง Seinfeld หรือ Frasier คอยเป็นคู่แข่งอยู่

ตัวละครหลักใน Will & Grace ได้แก่ วิล (Eric McCormack) และเกรซ (Debra Messing) กับ แจ็ค (Sean Hayes) และแคเรน (Megan Mullally) ผู้ชมไม่ได้ชื่นชอบแค่วิลกับเกรซเท่านั้น แต่ความนิยมในบทบาทของแจ็คกับแคเรนทำให้แอร์ไทม์ของทั้งคู่นี้มีมากพอๆ กับแอร์ไทม์ของวิลและเกรซเลย

 

 

มีการศึกษาวิจัย สำรวจ หรือวิพากษ์วิจารณ์แง่มุมทางเพศใน Will & Grace ค่อนข้างมาก เช่น งานของ Evan Cooper จาก Ithaca College) เรื่อง Decoding Will And Grace: Mass Audience Reception of a Popular Network Situation Comedy ซึ่งไปดูว่าผู้ชมชื่นชอบบทบาทไหนบ้าง และอารมณ์ขันที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศนั้น มีการเปลี่ยนแปลงคลี่คลายไปอย่างไร

งานอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจก็คืองานชื่อ Gay Characters in Conventional Spaces: Will and Grace and the Situation Comedy Genre ของ Kathleen Battles และ Wendy Hilton-Morrow ที่ใช้ทั้งเฟมินิสม์และทฤษฎีเควียร์มาเป็นฐานในการตรวจสอบซีรีส์เรื่องนี้

ประเด็นที่งานสองชิ้นนี้พยายามจะศึกษา ก็คือเพราะเหตุใดเรื่องราวเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่พูดถึงกันในแวดวงเล็กๆ แคบๆ หรืออยู่ในตลาดแบบ Niche Market พอนำมา ‘จับคู่’ เข้ากับอารมณ์ขันใน Will & Grace ที่มีรูปแบบแบบเมนสตรีม (หรือ conventional) ถึงได้เป็นที่นิยมได้

ที่จริงแล้ว มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหลากหลายแง่มุมมาก เช่นการเปรียบเทียบ ‘ความเป็นเกย์’ ของวิลและแจ็ค ที่มีบุคลิกแตกต่างกัน แจ็คดูเป็นเกย์ตามแบบและเบ้าทั่วไป คือตลก มีอารมณ์ขัน แต่ก็ตื้นเขินและยอมรับความตื้นเขินของตัวเองได้ตลอดเวลา จนบางคนวิจารณ์ว่า ตัวละครแจ็คนี่แหละ ที่แสดงออกถึงความ ‘โฮโมโฟเบีย’ ของผู้กำกับและผู้เขียนบท ในขณะที่ตัวละครอย่างแคเรน ก็แสดงออกถึงการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) อย่างชัดเจนในหลายเรื่อง เมื่อนำเสนอโดยใช้อารมณ์ขัน ภาพที่ปรากฏออกมากลับดูหลักแหลมและเสียดสี จนไม่มีใครรู้สึกในแง่ลบ เพราะไม่ได้เสียดสีแบบมืดหม่น แต่เป็นการเสียดสีที่ตลก สว่าง และเข้ากันได้กับ ‘ความเมนสตรีม’ อย่างสูง

แม้สื่อฝ่ายซ้ายอย่าง The New Republic เคยวิพากษ์วิจารณ์ Will & Grace (ตอนที่กลับมาสร้างใหม่ในปี 2017) ว่าเป็นซีรีส์ที่หยิบเรื่อง LGBTQ+ มาเล่น แต่ไม่ได้พยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของความอยุติธรรมทางเพศในสังคมเลย นอกจากนี้ บทความนี้ยังบอกด้วยว่า บทของซีรีส์ไม่เคย ‘ล้ำเส้น’ มาตรฐานศีลธรรมใดๆ คือไม่ได้ท้าทายเพื่อให้คนดูได้ปลดแอกตัวเองออกไปจากกรอบคิดต่างๆ และถ้าจะมีการทำให้เรื่องเกย์เลสเบี้ยนใดๆ ดูเป็นเรื่องปกติ The New Republic บอกว่าซีรีส์นี้ทำเพียงแค่บอกว่าในสังคมมีเกย์อยู่จริงๆ เท่านั้น แต่ทำโดยการ ‘พราง’ ไว้ใต้ ‘ความขาว’ (Whiteness) (คือมีแต่ตัวละครที่เป็นคนผิวขาว) การใช้จ่ายเงิน และเสื้อผ้ากับการแต่งบ้านสวยๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราติดตามซีรีส์นี้ตั้งแต่ต้นจนจบซีซัน 8 เราจะเห็นได้เลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงจุดโฟกัสของเรื่องไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัยและการยอมรับของสังคม เช่นในซีซันแรกๆ ซีรีส์จะโฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างวิลกับเกรซมากหน่อย แต่ในตอนหลังๆ เมื่อสังคมเปิดกว้างกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น บทบาทระหว่าววิลกับแจ็คก็เพิ่มมากขึ้น วิลที่เคยมี ‘ความเป็นชาย’ (Masculinity) สูง ในตอนหลังๆ บทบาทก็เปิดให้เขาโอบรับความเป็นเกย์ (Gayness) มากขึ้น

แล้วไม่ใช่แค่เรื่องความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่ถูกหยิบยกมาเล่น เกรซเองก็ ‘เล่น’ กับ ‘เส้น’ ในเรื่องเพศด้วยเหมือนกัน เช่น เธอเป็นผู้หญิงสเตรทที่ชอบไปบาร์เกย์ ชอบดูหนังโป๊เกย์ และเปิดเผยเรื่องเพศกับเพื่อนสนิทและสามีที่เธอแต่งงานด้วยในซีซันหลังๆ อย่างไม่อำพรางเหนียมอายใดๆ

หรือกับแคเรนซึ่งตอนแรกก็วางบทบาทให้เธอเป็นสเตรท แต่อยู่ไปอยู่มา เธอกลับมีความ ‘ข้ีเล่น’ ในทางเพศ (Kinkiness) มากขึ้นเรื่อยๆ จนอยากแลกลิ้นหรือสำรวจความสัมพันธ์ใหม่ๆ ทั้งกับชายและหญิง รวมไปถึงคนในเชื้อชาติต่างๆ เช่น คนเม็กซิกัน คนผิวดำ ฯลฯ ซึ่งในแง่หนึ่ง ก็ทำให้เห็นว่ามีการ ‘เลื่อน’ (Shift) ของกรอบคิดในการนำเสนอซีรีส์นี้ไม่น้อย และทำให้ตัวละครอย่างแคเรน มีความเป็นเควียร์สูงกว่าตัวละครอื่นๆ

หนึ่งปีหลังจาก Will & Grace ออกฉาย ก็เกิดปรากฏการณ์ลือลั่นสนั่นวงการซีรีส์เมนสตรีมขึ้นมาอีกครั้ง ถ้าใครเกิดทัน อาจพอจำได้ว่า คนทั้งอเมริกา (และบางทีอาจรวมถึงทั้งโลกที่เข้าถึงได้) รอดูฉากจูบกันระหว่างตััวละครที่เป็นเกย์สองคน คือแจ็คกับอีธาน โดยมีการประกาศว่าจะเกิดขึ้นในตอนหนึ่งของ Dawson’s Creek (ดูฉากนี้ได้ที่นี่) แต่ปรากฏว่า ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบอีกแบบหนึ่ง นั่นคือเป็นจูบที่เกิดขึ้นแบบผ่านๆ เร็วๆ ไม่ใช่จูบที่ ‘มีความหมายและทรงพลัง’ แบบเดียวกับจูบของรักต่างเพศทั้งหลาย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า สังคมอาจมีความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศไปไกลกว่าที่ผู้ผลิตซีรีส์เมนสตรีมทั้งหลายคาดเอาไว้

ถัดจากนั้นอีกสองปี ก็เกิดซีรีส์เกี่ยวกับเกย์ที่จริงจังมากขึ้นมา ได้แก่ Queer as Folk ซึ่งเริ่มต้นด้วยเวอร์ชันอังกฤษก่อน ตามด้วยเวอร์ชั่นอเมริกัน เวอร์ชันอังกฤษมีความ ‘แคบ’ หรือมีลักษณะที่เป็น Niche Market มากกว่า แต่พอเป็นเวอร์ชั่นอเมริกันแล้ว Queer as Folk กลับเป็นที่นิยมในวงกว้างจนเรียกได้ว่าเป็นซีรีส์เมนสตรีม

ในปี 2003 เกิดรายการใหม่ชื่อ Queer Eye for the Straight Guy ที่เกย์มาสอนผู้ชายแต่งตัว แล้วในปี 2009 หลัง  Will & Grace จบลงไปไม่กี่ปี ก็เกิดซีรีส์อย่าง Modern Family และ Glee ซึ่งมีตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงรายการแข่งขันของเหล่าแดร็กควีนอย่าง RuPaul’s Drag Race ด้วย

จะเห็นได้ว่า ต้ังแต่ยุคเก้าศูนย์เป็นต้นมา เกิดการเปลี่ยนแปลงการรับรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศในสื่อกระแสหลักไม่น้อยทีเดียว โดย Will & Grace ถือเป็นตัวผลักดันแรกๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้นมา

 

อ้างอิง

https://www.csub.edu/~rdugan2/SOC%20577%20Pop%20Culture/decoding%20will%20and%20grace.pdf

https://pdfs.semanticscholar.org/f703/4c9cacc6de0c32338f7c3be27c5551744e55.pdf

https://www.yourtango.com/2018314472/impact-will-and-grace-lgbtq-culture-and-mainstream-media

https://www.eonline.com/news/883813/how-will-grace-paved-the-way-for-gay-characters-on-tv

https://newrepublic.com/article/145045/will-and-grace

ดูข่าวต้นฉบับ