ครูวัดมาตรฐานเด็กไทย แล้วอะไร? วัดมาตรฐานครูไทย
เรียกได้ว่าเป็นปัญหาระดับชาติที่เรื้อรังมายาวนาน สำหรับระบบการศึกษาไทย ที่อาจไม่ตอบโจทย์สังคมและตลาดแรงงานของโลกยุคใหม่แล้ว เด็กไทยถูกวัดผลด้วยกระบวนการ “สอบ” ที่มีการแข่งขันสูง และ “การบ้าน” ในระบบท่องจำ ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศเพื่อนบ้านได้ทยอยเดินหน้ายกเลิกกันแล้ว ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ได้ออกมาแถลงว่า จะยกเลิกการสอบกลางภาคในชั้นประถมและมัธยม เพื่อให้นักเรียนเน้นกระบวนการเรียนรู้และผลลัพธ์จากการเรียนมากกว่าสนใจคะแนนสอบและการแข่งขัน
นอกจากประเด็นเรื่องการวัดมาตรฐานของนักเรียนแล้ว เรื่องที่อาจจะสำคัญกว่าที่สังคมกำลังตั้งคำถาม คือ การวัดมาตรฐานวิชาชีพครูในฐานะผู้ปลุกปั้นอนาคตของชาติ ประเทศไทยเราใช้มาตรฐานอะไรกันอยู่บ้าง และอนาคตจะรักษามาตรฐานแม่พิมพ์ของชาติต่อไปในทิศทางใด
ปัจจุบันคุรุสภาได้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู เป็น 11 มาตรฐาน ตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 โดยมาตรฐานทั้ง 11 ด้าน ประกอบด้วย ความเป็นครู ปรัชญาการศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม จิตวิทยาสำหรับครู หลักสูตร การจัดการเรียนรู้และการจัดการชั้นเรียน การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ และสุดท้ายคือ การประกันคุณภาพการศึกษา คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ
แม้ว่าทั้ง 11 เรื่องจะดูครอบคลุมกับการรักษามาตรฐานวิชาชีพครู แต่หากมาตรฐานที่บังคับใช้อยู่นี้ ไม่ได้แปรผลเป็นคุณภาพการศึกษาและคุณลักษณะของเด็กไทยโดยรวมที่ได้รับการปลุกปั้นให้สามารถดึงศักยภาพมาใช้เท่าทันโลกยุคใหม่ แนวทางของมาตรฐานวิชาชีพครู อาจจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องขบคิดอย่างหนัก
ล่าสุดเมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคม 2561 ดร. สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิกาคุรุสภาได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบ ข้อบังคับของคุรุสภา และประกาศของคุรุสภา เนื่องจากบางฉบับไม่ได้บังคับในปัจจุบัน หรือบางฉบับใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดความไม่เหมาะสมในการใช้บังคับและไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 รวมอยู่ด้วย
*ทั้งนี้การวัดมาตรฐานวิชาชีพครู อาจไม่ใช่เพียงแค่การที่ครูคนนั้นมีความสามารถครบตามข้อกำหนดของคุรุสภา หากแต่มันคือการดูคุณภาพของนักเรียน นักศึกษา ที่จบการศึกษาออกมาแล้วหรือเปล่า ว่าสามารถทำงานได้จริงมั้ย นำสิ่งที่เรียนมาปรับใช้ได้กับชีวิตจริง สามารถทำงานได้ตรงกับสายที่ร่ำเรียนศึกษามา และเป็นบุคลากรที่มีประโยชน์ต่อสังคมได้มากน้อยเพียงไร ให้สมกับที่เสียเวลาร่ำเรียนมาตลอดถึง หนึ่งในสี่ของชีวิต *
คำกล่าวว่าครูคือแม่พิมพ์ของชาติ ดังนั้นแล้วชิ้นงานจะออกมาได้สวยงามเพียงใด ก็น่าจะขึ้นอยู่กับแม่พิมพ์นั้นว่าสมบูรณ์เพียงไหน ใช่หรือไม่?
แหล่งข้อมูล :
https://brandinside.asia/singapore-cut-mid-year-exams/
http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=52245&Key=news18
อู๊ด อย่าโกรธกันนะ
คนที่เรียนเก่งสุดไปเรียนหมอ
รองลงมาไปเรียนวิศวะ และอื่นๆ
รองลงมาเรื่อยๆๆๆๆ ไปเรียนราชภัฏ
จบราชภัฏไปสอบครู
ครูคัดเลือกจากคนที่เก่งสุดจากราชภัฏ
05 ต.ค. 2561 เวลา 00.14 น.
คุณหมู เรียนเพื่อจำ จำเพื่อสอบ สอบเพื่อจบ สรุปเรียนเพื่อให้จบ แค่ไม่ค่อยมีความรู้ที่จะนำไปใช้ได้จริงในชีวิต
05 ต.ค. 2561 เวลา 00.29 น.
Obsri muanglua ค่ะก่อนวัดมาตรฐานเด็ก ครูต้องมีมาตรฐานก่อนค่ะ
05 ต.ค. 2561 เวลา 00.27 น.
ครูกนกอร อึ้งซำ ง่ายๆๆค่ะ. ทำสวัสดิการครูให้ดีก่อน. สวัสดิการดี เงินเดือนดี ให้การสนับสนุนทุนเรียนต่อฟรี. มีใครบ้างไม่อยากเป็น. ทำแบบนี้......รับรองได้. คนที่ว่าไปสอบหมอ. วิศวะ. มาเรียนครูกันเยอะแน่นอน. แต่นี่อะไร อยากพัฒนาวิชาชีพครู. แต่ที่เห็นทำแต่ละอย่าง มีแต่บั่นทอนจิตใจ กำลังใจ. และการพัฒนาตนเองเพื่อนักเรียนทั้งนั้น. แล้วงานอื่นๆๆๆ น่ะลดลงบ้าง ครูน่ะเขามีหน้าที่สอนไม่ได้มีหน้าที่รองรับนโยบายใคร? งานเล็กๆๆน้อยๆๆ นอกหน้าที่ก็พอไหว. แต่การเปลี่ยนนโยบายบ่อยๆ คงไม่ไหว กำลังปรับตัว เปลี่ยนอีกแล้ว เฮอๆ
05 ต.ค. 2561 เวลา 00.33 น.
James007 ยังจำได้ที่สอบครูสอนภาษาอังกฤษ แต่สอบตกกันมากกว่าครึ่ง ถ้าสอบทุกวิชา จะเป็นยังไงเนี่ย น่าจะเพิ่งเงินเดือนให้ครูที่อยู่ทุรกันดาลด้วย
05 ต.ค. 2561 เวลา 00.07 น.
ดูทั้งหมด