ไลฟ์สไตล์

กรุณาพูดกับนกเพราะๆ นะคะ - สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก

THINK TODAY
เผยแพร่ 21 ส.ค. 2561 เวลา 05.02 น. • สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก
กรงนกที่ร้านริมถนนในซอยเล็กๆ ฝั่งธนใกล้ท่าเรือคลองสาน

สำนวน ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง หมายถึงการพูดซ้ำแบบจำมา โดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของสิ่งที่ตนท่อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สมัยเรียนครูบางคนสอนให้ท่อง ท่อง ท่อง การท่องคงไม่ใช่เรื่องเสียหายเสียทีเดียว 

บางวิชา นักเรียนนักศึกษาจำต้องท่อง แม้บางอย่างไม่รู้ที่มาที่ไป เช่น ในภาษาอังกฤษ thank you ครูบอกให้อ่านว่า “แท้งกิ้ว” แทนที่จะอ่านว่า “แทงยู” เพราะการหารากเหง้าที่มาของแต่ละเหตุแต่ละผล อาจจะยากเย็นเข็ญใจ จนอาจจะเสียเวลาเกินไป อะไรพอท่องได้ ก็ท่องไป อะไรที่ท่องแล้วไม่จำทำไม่ได้ ถึงเวลาไม่ได้เอาไปใช้ก็ลืมไปบ้าง 

คนเราเรียนรู้หลายสิ่งจากการเลียนแบบ ทั้งหมดทั้งมวลของคนที่เดินเหินกันอยู่บนโลกนี้ ล้วนแต่มาจากการเลียนแบบการก้าว หัดเดิน โดยไม่ต้องมีโรงเรียนสอนเดิน แต่ถ้าเดินอยู่ดีๆ แล้วมีคนชวนไปประกวดนางสาวสันป่าข่อย จึงค่อยมีโค้ชบุคลิกภาพมาสอนการเดินใหม่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถามว่า โตมาขนาดนี้ แล้วต้องมาสอนเดินเชียวหรือ ก็เพราะหลายๆคนยังเดินไม่สวย เดินไม่ถูกหลัก ขาไม่หนีบชิด สะบัดสะโพกแรงเกินไป บางคนยิ่งขยันเดินมากขาก็จะยิ่งโก่ง เพราะวางตำแหน่งเท้าไม่ถูกที่

แม้กระทั่ง การหายใจ หากคุณกำลังจะไป ฝึกวิชาสรรพวิชาจำพวกโยคะ หรือการขึ้นเวทีแสดง การเป็นนักแสดง นักพูด นักร้องที่ดี บางทีอาจต้องเริ่มต้นที่การ ฝึกหายใจกันใหม่ เพราะคนส่วนใหญ่หายใจไม่ถูกหลัก

มนุษย์อาจจะต่างจากสัตว์ก็ตรงที่มีสมอง คนละขนาดคนละชนิด ทำให้มีความสามารถเชื่อมโยงอันแตกต่างกัน เมื่อมนุษย์เลียนเสียงไปสักระยะ อย่างเช่น การท่องอาขยานซึ่งไม่รู้ความหมาย แต่เสียงท่องอันก้องอยู่ในโพรงประสาท ก็สามารถจะเชื่อมโยงเสียงสูงๆ ต่ำๆ และทำให้เกิดพัฒนาการที่กลายเป็นท่วงทำนอง 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หากท่องไปท่องไป ไม่ช้าไม่นาน ก็อาจจะสามารถทำความเข้าใจจากสิ่งที่ตนท่อง ค่อยๆ รู้ว่า แต่ละตัวอักษรนั้นมีความแตกต่างกัน การควบกล้ำการทำลิ้น และเชื่อมโยงเนื้อหา เข้าประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้

หากการเลียนนั้นทำไปนานพอ ก็อาจจะสามารถสร้างทำนอง หรือฉันทลักษณ์ได้ในภายภาคหน้า ซึ่งแตกต่างจากนก ที่ท่องได้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่อาจรู้จักนำไปประยุกต์ใช้

การพูดก็เฉกเช่นกัน เช่น เด็กนักเรียนไปรร. แล้วได้ยินเพื่อน พูดว่า “ไอ้ฉัจ” ก็อาจจะจำกลับมาพูดที่บ้าน ครั้นพอพูด กับพ่อกับแม่ว่า “ไอ้ฉัจ” แล้วแม่กลับทำสีหน้าไม่ปลื้ม บางทีมีการเอามือตบปากพลางสอนว่า ออเจ้าไม่ควรเอ่ยคำว่าไอ้ฉัจ ต่อหน้ามารดา เด็กก็สามารถรู้ได้ว่า พูดแบบนี้ที่บ้านไม่เหมาะ

พอกลับไปโรงเรียนพูดกับเพื่อนว่า “ออเจ้า” เพื่อนก็สวนกลับว่า “ไอ้ฉัจ ยัดพ่อ” ก็จะเริ่มเข้าใจว่า “ไอ้ฉัจ” ไม่เป็นที่นิยม ในหมู่คนในครอบครัว แต่นิยมในหมู่เพื่อนฝูงเท่านั้น เด็กก็จะมีพัฒนาการ ปรับตัวรู้ชัดว่า อยู่โรงเรียนพูด “ไอ้ฉัจ” แต่อยู่บ้าน ให้พูดว่า “ออเจ้า” แทน

ในขณะที่นก ไม่เข้าใจในบริบทเหล่านั้น เพราะนกเป็นสัตว์ ถ้าใครสอน “ไอ้ฉัจพ่อมึงตาย” ก็จะพูดได้แต่ “ไอ้ฉัจพ่อมึงตาย” อยู่เท่านั้น ใครสอน “ออเจ้ากินข้าวหรือยัง” ก็พูด “ออเจ้ากินข้าวหรือยัง”โดยไม่รู้ว่าควรจะพูดอะไรตอนไหน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเด็กหรือนก จะฝึกจะฝนอะไร เราจำต้องระวัง ว่าตอนที่กำลังฝึกนั้น อะไรไม่ควรพูดอะไรไม่ควรทำ และโดยเฉพาะกับนก เพราะนกจะจำ และติดไปตลอดชีวิต

ดังนั้น ควรเลี้ยงนกให้ห่างโทรทัศน์ อย่าปล่อยให้นกฟังข่าว ช่วงสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีเป็นอันขาด เพราะนกอาจจะกลายเป็นนกที่ก้าวร้าว และไม่สุภาพ

ความเห็น 20
  • Wi :.
    ทำไมตอนจบลั่น 😁
    21 ส.ค. 2561 เวลา 08.18 น.
  • ครูเดี่ยว
    ....ลงท้ายแบบนี้....โดนใจ
    22 ส.ค. 2561 เวลา 00.08 น.
  • @...
    เป็นการสื่อให้รู้ถึงในเรื่องของมารยาท ก่อนที่จะใช้คำพูดได้ดีครับ.
    21 ส.ค. 2561 เวลา 13.20 น.
  • PS
    เดี๋ยวถูกชกหรอก
    22 ส.ค. 2561 เวลา 05.34 น.
  • ก็ฝึกกันจนตาย วิธีผม
    21 ส.ค. 2561 เวลา 23.39 น.
ดูทั้งหมด