“หนี้” ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้นอกระบบ ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้วว่าผู้กู้จะโดนเอาเปรียบและจะโดนติดตามหนี้ตลอดเวลา ที่สำคัญหนีไม่พ้นดอกเบี้ยที่สูงลิบ จ่ายเท่าไหร่ก็ไม่มีวันจบ แต่ทุกปัญหามีทางออก ถ้าเป็นหนี้นอกระบบแล้วอยากเข้าสู่ในระบบ ทำตามนี้
1. ต้องเตรียมตัวเอง คนที่กู้หนี้นอกระบบส่วนใหญ่เกิดจากเงินไม่พอใช้ เช่น ต้องการใช้เงินฉุกเฉิน เงินในแต่ละเดือนไม่พอใช้ หรือกู้ไปคืนหนี้ก้อนอื่น ดังนั้น คนที่ต้องการแก้หนี้ต้องมีความตั้งใจ มีวินัย โดยเริ่มจากการแก้ไขหนี้ที่มีดอกเบี้ยชำระที่สูง มาแปลงเป็นหนี้ที่มีอัตราการชำระดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า และต้องไม่ก่อหนี้นอกระบบก้อนใหม่เด็ดขาด
2. ทำรายการรายรับรายจ่าย เพื่อทราบสถานะทางการเงินของตัวเองว่าในแต่ละเดือนมีใช้เพียงพอหรือไม่ ถ้าใช้ไม่พอจะต้องลดค่าใช้จ่ายด้านไหน ซึ่งดูได้จากรายจ่ายที่จดว่ารายการไหนเป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือรายการไหนสามารถประหยัด ลดค่าใช้จ่ายได้ เพื่อให้ในแต่ละเดือนมีเงินเหลือ ถ้าไม่สามารถลดรายจ่ายได้ ก็ต้องหารายได้เพิ่ม เช่น ทำอาชีพเสริม หรือถ้ามีสินทรัพย์ที่มีค่า เช่น เครื่องประดับ สินค้าแบรนด์เนม เช่น กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา ต้องนำไปขาย เพราะอย่าลืมว่าสิ่งสำคัญตอนนี้คือ การปลดหนี้ที่มีให้หมดไปก่อน
3. ติดต่อเจ้าหนี้ เพื่อลดหนี้ ประนอมหนี้ ปิดหนี้ เมื่อมีเงินให้รีบไปชำระหนี้หรือพยายามลดหนี้ลงให้ได้มากที่สุด หรืออาจต่อรองขอผ่อนผันหนี้ เช่น จ่ายดอกเบี้ย และหากมีความพร้อมก็ค่อยจ่ายเงินต้น ที่สำคัญถ้ามีหนี้หลายก้อนให้ปิดหนี้ทีละก้อน เริ่มจากก้อนที่มีดอกเบี้ยสูงสุดก่อน หรืออาจปิดหนี้ที่สามารถเจรจากับเจ้าหนี้ก่อน
4. ปรึกษาธนาคาร ขอกู้เงินในระบบเพื่อนำไปชำระหนี้นอกระบบ ซึ่งธนาคารหลายแห่งมีแนวทางช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบ โดยจะขอกู้ในรูปแบบของเงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคล มีทั้งแบบไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แม้อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงแต่ก็ต่ำกว่าดอกเบี้ยนอกระบบ และสินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ หรือสามารถขอสินเชื่อช่วยเหลือหนี้นอกระบบตามโครงการรัฐ (สอบถามธนาคารที่ร่วมโครงการ)
นิพพิชฌน์ โกวิทวณิชกานนท์ บมจ. เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต
อ่านบทความอื่นๆ ต่อได้ที่ >> https://setga.page.link/ds4rghK8pyNH5ZUZ6
🌟Bee 2369 อยากทราบว่าชื่อธนาคารที่เข้าร่วมโครงการค่ะ
31 ม.ค. 2563 เวลา 06.00 น.
ดูทั้งหมด