“มะขามเทศ” เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง เพราะปลูกดูแลง่าย ทนทานต่ออากาศร้อนแห้งแล้งได้ดี ให้ผลผลิตต่อไร่สูง มีแคลเซียมและวิตามินอีสูง เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์กับร่างกาย
สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี ได้ยกย่อง “คุณก้อย-ทิพย์วรรณ สลุงอยู่” เกษตรกรรุ่นใหม่ (YSF) อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นเกษตรกรคนเก่งที่เป็นต้นแบบในการปลูกไม้ผล โดยเฉพาะ มะขามเทศ ทุกวันนี้ คุณก้อยมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต กิ่งพันธุ์ ถ่านผลไม้และน้ำส้มควันไม้เพิ่มขึ้นทุกปี หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือผลกำไรสุทธิต่อปี มากกว่าล้านบาททีเดียว ผลงานที่โดดเด่นทำให้คุณก้อยได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวนระดับจังหวัด รางวัลเกษตรกรดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2562 และรางวัลชมเชย เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 2563 สาขาทำสวน
กทม. ไม่ใช่คำตอบของชีวิต
หลังเรียนจบปริญญาตรี ด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง คุณก้อย ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. เพื่อเก็บออมเงินสร้างครอบครัว
แต่วันหนึ่งคุณก้อยค้นพบว่า การสร้างอนาคตที่ กทม. ไม่ใช่คำตอบของชีวิตอีกต่อไป จึงได้ตัดสินใจลาออกจากงาน กลับมาอยู่บ้านและสร้างธุรกิจเกษตร เริ่มจากขายปุ๋ยอินทรีย์ แต่แข่งขันราคาสู้เอกชนรายใหญ่ไม่ไหว ก็ต้องเปลี่ยนมาทำไร่อ้อย
ระหว่างที่รอเก็บเกี่ยวผลผลิต คุณก้อยตัดสินใจลงทุนปลูกมะขามเทศ เพื่อเป็นรายได้เสริม เพราะเป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตเร็ว ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลง
คุณก้อย ตัดสินใจปลูกมะขามเทศพันธุ์สีชมพู หลังปลูกไปได้ 2 ปี มะขามเทศออกผล ปรากฏว่าไม่ใช่พันธุ์สีชมพูที่ต้องการ จึงตัดถอนทิ้งทั้งหมด และลงทุนซื้อกิ่งพันธุ์ตามต้องการจากสวนโดยตรง จำนวน 500 ต้น นำมาปลูกบนเนื้อที่ 20 ไร่ ด้วยความเชื่อและทัศนคติในการทำการเกษตรที่มีต่อๆ กันมา ว่าต้องใช้สารเคมีเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช ต้องใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงต้นเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีจำนวนมาก
เนื่องจากความไม่รู้และต้องการมีรายได้แบบหวังรวย ทำให้คุณก้อยมีต้นทุนในการซื้อปุ๋ยและสารเคมีราคาแพง ช่วงนั้น คุณก้อยขายผลผลิตให้แม่ค้าได้แค่ 6,500 บาท แต่มีค่าจ้างคนงานมากถึง 6,000 บาท เท่ากับว่าคุณก้อยขายผลผลิตได้แค่ 500 บาท เท่านั้น ยังไม่ได้ค่าปุ๋ย และค่าต้นทุนแรงงานของตัวเองเลย
ลดต้นทุน เพิ่มรายได้
เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คุณก้อยหันมาปรับปรุงรูปแบบการจัดการสวนมะขามเทศอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2559-ปัจจุบัน คุณก้อย ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการทำเกษตร
โดยบำรุงดูแลมะขามเทศปลอดสารพิษ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์สีชมพู พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์จัมโบ้ และพันธุ์พุทธบาท จากเดิมปลูก 500 ต้น ก็ลดปริมาณการปลูกมะขามเทศลง เหลือ 200 ต้น เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการ ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน คุณก้อย หันมาสร้างแบรนด์ “ไร่เปี่ยมสุข” ให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อแสดงอัตลักษณ์สินค้า ให้ติดตลาด-การทำตลาดออนไลน์ ผ่านทาง Page Facebook ทำให้เกิดช่องทางการตลาดที่หลากหลายยิ่งขึ้น-การส่งผลผลิตผ่านช่องทางเคอรี่ (Kerry) ช่วยขยายฐานลูกค้าและมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
การปลูกมะขามเทศ
ไร่เปี่ยมสุข ปลูกมะขามเทศแบบเว้นระยะห่าง 8×8 เมตร ขุดหลุมลึกโดยประมาณ 30 เซนติเมตร ปลูก 45 องศาโดยประมาณ เฉียงตามลมหน้าฝน เนื่องจากต้นมะขามเทศส่วนมากเป็นต้นตอนไม่มีรากแก้ว จึงต้องปลูกเฉียง เพื่อไม่ให้ต้นโค่นล้มลงโดยง่าย ปลูกให้สูงจากดินไม่มาก ช่วงแรกปลูกให้ดินเป็นหลุมเพื่อที่จะได้มีพื้นที่สำหรับรดน้ำ การรดน้ำเมื่อต้นยังเล็กรดน้ำวันเว้นวัน
การปลูกที่ไร่เปี่ยมสุขไม่ได้รองก้นหลุม เนื่องจากพื้นที่ที่ปลูกมีแมลงใต้ดินอยู่มาก หากใส่เศษใบไม้ที่ยังไม่ย่อยสลายอาจเป็นตัวกระตุ้นให้แมลงมาทำลายรากได้
อีกทั้งมะขามเทศเป็นพืชที่หากินธาตุอาหารจากผิวดิน จึงเน้นการบำรุงที่ผิวดินมากกว่า การปลูกที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม การชักนำการออกดอก ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ไร่เปี่ยมสุข จะฉีดสารบิวเวอเรีย และน้ำส้มควันไม้ไล่แมลง และฉีดฮอร์โมนไข่ เพื่อชักนำให้เกิดการออกดอกก่อนฤดูกาล ทำให้ได้ราคาดีกว่าช่วงอื่นๆ
ช่วงเก็บฝัก เป็นช่วงที่สาคัญ โดยให้น้ำวันเว้นวัน และฉีดสารชีวภัณฑ์เพื่อไล่แมลง โดยปกติจะเก็บผลผลิตได้ในช่วงปลายเดือนมกราคม-เมษายน แต่ทางสวนสามารถเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม-เมษายน
ไร่แห่งนี้ เน้นใช้ปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยหมักจากใบไม้ที่ร่วงหล่นจากต้นไม้ในสวน ผลิตสารไล่แมลงจากสมุนไพรในไร่ ผลิตฮอร์โมนไข่เร่งดอกผล บำรุงต้นให้สมบูรณ์ น้ำส้มควันไม้กำจัดศัตรูพืช
ส่วนถ่านที่เผาได้จากกิ่งที่ตัดแต่งก็นำไปขายเป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง ใช้บิวเวอเรียและเชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช และยับยั้งการเกิดเชื้อรา
การผลิตมะขามเทศนอกฤดู
จากการพัฒนาและต่อยอดความคิด คุณก้อย เกิดแนวคิดที่จะบังคับให้มะขามเทศออกผลนอกฤดูกาลโดยไม่ใช้สารเคมี เทคนิคคือ การทำให้ต้นสมบูรณ์ รดน้ำสม่ำเสมอ และมีการใช้ฮอร์โมนไข่ในการชักนำให้ออกดอก
การตัดแต่งทรงพุ่ม เมื่อต้นโตต้องหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มเพื่อไม่ให้ทึบจนเกินไป ลดการเกิดโรคจากเชื้อรา โดยจะตัดแต่งกิ่งภายหลังจากการเก็บผลผลิตเสร็จ ทำให้ติดผลได้มากขึ้น วิธีตัดแต่ง จะตัดตรงกลางออกให้แดดส่องได้ทั่วต้นคล้ายฝาชีหงาย กิ่งที่เหลือก็จะเป็นกิ่งที่ชี้ออกด้านข้าง ถ้าต้นสูงมากก็ให้ตัดยอด จะตัดแต่งกิ่งในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน และพักต้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน
คุณก้อยมีการจดบันทึกการปฏิบัติงาน กิจกรรมในแปลง ประวัติแปลง และบันทึกการจัดจำหน่ายสม่ำเสมอ ปัจจุบันได้ผ่านการประเมินเบื้องต้น GAP และสมัคร PGS ระดับเขต ในปี 2561 และระดับจังหวัด ในปี 2562
ใช้เทคโนโลยีจัดการ ดิน-น้ำ
ไร่เปี่ยมสุข เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยเพียงน้ำฝนเท่านั้น คุณก้อยจึงแก้ไขโดยขุดบ่อบาดาล จำนวน 3 บ่อ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ส่งผลให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากมะขามเทศมีความต้องการน้ำ เพื่อกระจายน้ำได้อย่างทั่วถึง คุณก้อยลงทุนติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ในแปลงปลูก
เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เคยใช้ปลูกอ้อยมาก่อน ทำให้คุณภาพดินไม่อุดมสมบูรณ์ แร่ธาตุในดินมีน้อย คุณก้อยเลิกใช้สารเคมี หันมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยศึกษา เรียนรู้และจัดการทรัพยากรที่เหลือใช้ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม โดยผลิตถ่านและน้ำส้มควันไม้จากกิ่งมะขามเทศที่ตัดแต่ง ใช้ใบมะขามเทศทำปุ๋ยหมักและใช้คลุมดิน ทำให้ดินมีความร่วนซุย และลดการคายน้ำได้มากยิ่งขึ้น จนปัจจุบันดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
คุณก้อย ใช้ฮอร์โมนไข่ ในการชักนำการออกดอกของมะขามเทศแทนฮอร์โมนที่ซื้อตามท้องตลาด พบว่า สามารถชักนำการออกดอกได้อย่างดี ใกล้เคียงกับการใช้สารเคมี และลดต้นทุนได้ ที่ผ่านมา คุณก้อยเจอปัญหากิ่งพันธุ์มีรากเล็ก ไม่ถูกใจลูกค้า คุณก้อยจึงใช้มูลไส้เดือนเป็นส่วนผสมในการทำวัสดุตอนมะขามเทศ ทำให้รากใหญ่และแข็งแรง เป็นที่ต้องการของตลาด
ขณะเดียวกันพบว่า กรรไกรตอนกิ่งทั่วไปเมื่อผ่านการใช้งานไปสักพัก จะไม่ยึดเกาะกับกิ่ง ทำให้การทำงานช้าลง และไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น คุณก้อยจึงออกแบบกรรไกรตอนกิ่งให้เหมาะสมกับการตอนกิ่งมะขามเทศโดยเฉพาะ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตอนกิ่งให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ไร่เปี่ยมสุข ทำสวนมะขามเทศอย่างครบวงจร ตามศาสตร์พระราชา โดยใช้ทุกส่วนของต้นมะขามมาใช้ประโยชน์ คือ
1. ปลูกมะขามเทศเพื่อได้ผลผลิตหลัก คือ ฝักมะขามเทศ
2. กิ่งสามารถตอนเพื่อขายเป็นกิ่งพันธุ์มะขามเทศ
3. หลังการตัดแต่งกิ่ง สามารถนำกิ่งไปผลิตถ่านคุณภาพสูงได้
4. ใบมะขามเทศที่หล่นสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักแล้วใส่คืนกลับสู่ดิน เป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับพืช
ทุกวันนี้ จังหวัดลพบุรี มีการปลูกมะขามเทศ ประมาณ 1,707 ไร่ 234 ราย และได้รับความนิยมในการบริโภคสูง ทางไร่เปี่ยมสุขเล็งเห็นถึงความเหมาะสมของพื้นที่และช่องทางการตลาด จึงได้ตัดสินใจปลูกมะขามเทศขึ้น และได้พัฒนารูปแบบการผลิตจากสารเคมี ปรับเปลี่ยนเป็นการใช้สารชีวภัณฑ์ ปัจจุบันทางสวนมีค่าเฉลี่ยของราคา อยู่ที่ 70 บาท/กิโลกรัม และมีผลผลิตต่อไร่ต่ำสุด เท่ากับ 769 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ทั้งราคา และผลผลิตต่อไร่
การดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คุณก้อยและครอบครัวมีความสุข พออยู่พอกิน มีกินมีใช้ และมีเหลือส่งขาย มีรายได้รายวัน รายเดือน รายปี และหนี้สินลดน้อยลง จากการเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรรายอื่นได้เป็นอย่างดี ติดต่อสอบถามคุณก้อยเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร.081-362-5536
อนึ่ง ขอขอบคุณ สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี และ Facebook “ บ้านไร่เปี่ยมสุข ลพบุรี ” ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบข่าว
……………………
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่