ไอที ธุรกิจ

เฮีย-ซ้อยังอึดแจกอั่งเปาเท่าเดิม ตรุษจีน 63 เงินหายในรอบ 12 ปี

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics
อัพเดต 22 ม.ค. 2563 เวลา 02.36 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2563 เวลา 02.36 น.
ภาพไฮไลต์

ตรุษจีน 2563 เงินสะพัด 5.7 หมื่นล้านบาท ลดลงครั้งแรกรอบ 12 ปี ชี้คนกอดเงินไม่กล้าใช้จ่ายจากความกังวลเศรษฐกิจ ทั้งที่คนจำนวนมากยังมีเงิน โพลชี้คนร่วมกิจกรรมตรุษจีนยังคึกคักแต่ลดปริมาณซื้อของลง เผยเฮีย-ซ้อ 50% ยังแจกอั่งเปาเท่าเดิม ขณะที่ 45% จ่ายลดลง และ 4% จ่ายเพิ่มขึ้น

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,203 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค.63 ว่า การใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนปีนี้มีมูลค่า 57,639 ล้านบาท ลดลง 1.30% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีมูลค่าการใช้จ่าย 58,398.21 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 12 ปี นับจากที่มีการสำรวจมา เพราะประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ภัยแล้งที่มีผลกระทบต่อการใช้จ่ายและปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น วางแผน เดินทาง ท่องเที่ยวน้อยลง ทั้งๆ ที่ประชาชนจำนวนมากยังมีเงิน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับมูลค่าการใช้จ่ายดังกล่าว เป็นการซื้อของเซ่นไหว้ 3,392 บาท, ให้แต๊ะเอีย 3,457 บาท, ทำบุญ 1,449 บาท, ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 2,058 บาท,ไปเดินห้าง 2,265 บาท, สังสรรค์จัดเลี้ยง 3,396บาท, ซื้อกระเช้า 1,068 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อถามว่าราคาสินค้าในช่วงตรุษจีนปีนี้เทียบกับปี 2562 เป็นอย่างไร ผู้ตอบ 52.5% บอกไม่เปลี่ยนแปลงแต่ 47.7% ตอบเพิ่มขึ้น และ 0.1% ตอบลดลง ดังนั้นส่วนใหญ่จึงใช้จ่ายลดลง เพราะเศรษฐกิจแย่ลง ลดค่าใช้จ่าย รายได้ลดลง การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ

“บรรยากาศการไหว้เจ้า การทำบุญและการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ถือว่ายังมีความคึกคักเช่นเดิมและประเมินแล้วหลายพื้นที่อาจคึกคักมากกว่าเดิม แต่ในภาพรวมพบว่า แม้คนจะไปร่วมกิจกรรมจำนวนมาก แต่ก็ลดปริมาณซื้อลงจากเดิม เช่น เคยซื้อของ 10 ชิ้น ก็จะเหลือ 8 ชิ้น หรือบางคนไปร่วมกิจกรรมแต่แทบจะไม่ได้ใช้จ่ายอะไรมากนักทั้งๆที่มีเงิน”

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจทัศนะของผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลตรุษจีน 600 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ตอบ 44.5% บอกว่าบรรยากาศช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีนี้ คึกคักน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บรรดาห้างร้านต่างๆ จำเป็นต้องจัดทำโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม เพื่อจูงใจให้คนหันมาซื้อสินค้า ขณะเดียวกันเมื่อถามว่าในปีนี้ท่านเป็นผู้ให้หรือเป็นผู้รับแต๊ะเอีย ผู้ตอบ 74.8% ตอบเป็นผู้ให้ และอีก 25.2% เป็นผู้รับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยกรณีที่เป็นผู้ให้ มากถึง 45.2% ตอบจะให้ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ส่วนอีก 50.7% ตอบไม่เปลี่ยนแปลง และ 4.1% ให้เพิ่มขึ้น สำหรับกรณีเป็นผู้รับนั้น มากถึง 70.9% บอกคิดว่าปีนี้ยังได้รับแต๊ะเอีย และได้เท่ากับปี 62 แต่อีก 29.1% ตอบไม่ได้รับ
ส่วนสถานที่ที่ประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีนอยากไปสักการะและขอพรมากที่สุด เช่น ศาลเจ้าพ่อเสือ กรุงเทพฯ, วัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ, วัดบำเพ็ญ-จีนพรต กรุงเทพฯ, ศาลเจ้านาจาซาไท้จื้อ ชลบุรี, ศาลเจ้าแม่กวนอิม เป็นต้น

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สถานการณ์สินค้าตรุษจีนปีนี้ ราคาใกล้เคียงกับปีก่อน แต่มี 2-3 รายการ ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น เนื้อหมู ราคาสูงขึ้นจากปีก่อน กก.ละ 5-10 บาท ตามราคาหมูเป็นที่ปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการหมูเป็นจากจีนและประเทศเพื่อนบ้าน แต่กรมยังสามารถบริหารจัดการให้ราคาเนื้อหมูอยู่ในราคา กก.ละ 150 บาทได้อยู่ ส่วนไข่ไก่ราคาปรับเพิ่มขึ้นฟองละ 5-10 สตางค์ เนื่องจากช่วงนี้อากาศแล้ง แม่ไก่ให้ผลผลิตไข่ไก่ลดลง และยังมีส้มที่ราคาปรับขึ้น กก.ละ 5-10 บาท ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น ของเซ่นไหว้ ผักสด ราคาทรงตัวกล้วยราคาลดลง เป็นต้น “ประเมินแล้ว ปีนี้ราคาสินค้าเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนทรงตัว เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากกว่าเมื่อก่อน สามารถเช็กราคาได้ว่าห้างไหนขายสินค้าราคาเท่าไร เจอที่ไหนถูกก็ไปซื้อ แล้วยังสามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ ส่งสินค้าตรงถึงบ้าน ทำให้ประหยัดเวลา จะเป็นห่วงก็แต่ตลาดสด ที่ต้องหาสิ่งจูงใจให้คนไปเดินตลาด ไปเลือกซื้อสินค้า ซึ่งต้องเน้นรักษาคุณภาพ ดูแลเรื่องตาชั่ง เพื่อดึงดูดผู้บริโภค”.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

ดูข่าวต้นฉบับ