ไอที ธุรกิจ

สตาร์ทอัพไทยปี 2020 ยังโตต่อเนื่อง CVC และ B2B2C แข็งแกร่ง

Businesstoday
เผยแพร่ 22 ก.พ. 2563 เวลา 07.09 น. • Businesstoday

ปี 2020 เป็นปีที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งการเกิดของหน้าใหม่ที่มีแนวโน้มลดลง ผู้เล่นในระดับ Series A ต้องทำงานหนักมากขึ้น HealthTech จะเป็นเทรนด์ใหม่ในประเทศไทย และกลุ่มทุนจะโฟกัสกับธุรกิจ B2B/B2B2C ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

-Lazada เผยใช้ “ลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง” สร้างอีคอมเมิร์ซครบวงจร
-แกร็บ รุกฟินเทค ตั้งเป้ายอดสินเชื่อใหม่ 3,000 ล้าน พร้อมปล่อยสินเชื่อดิจิทัลพาร์ทเนอร์-SMEs

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ อดีตผู้อำนวยการโครงการ dtac Accelerate กล่าวว่า สตาร์ทอัพไทยยังเติบโตได้ดี ถึงแม้ว่าจะมีการชะลอการลงทุนในทั่วโลก ปี 2019 ที่ผ่านมา มีเม็ดเงินลงทุนกับสตาร์ทอัพไทยเฉพาะที่เปิดเผยสูงถึง 97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2018 อยู่ที่ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนในปี 2020 คาดว่าจะโตกว่าปี 2019 ที่ผ่านมา อาจจะสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการจะเกิดดีลใหญ่ระดับ Series B ของ Fintech อย่าง FINNOMENA และ BitKub

ในปี 2020 สตาร์ทอัพที่จะฟักไข่หรืออยู่ใน Seed Round จะเติบโตยากเพราะไม่มีสปริงบอร์ดเข้ามาช่วย ต้องอาศัยผู้ก่อตั้งและพาร์ตเนอร์ที่ดีเข้ามาช่วยผลักดัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ด้านกลุ่มทุน (Venture Capital) จะระวังตัวกับการลงทุนมากขึ้น และโฟกัสไปที่ระดับ Series A หรือ Pre Series A แทนการลงทุนในรอบ Seed

นอกจากนี้ ยังมี Super App ในตลาดเยอะมากที่มีเงินทุนไหลเข้ามาเรื่อย ๆ อย่าง Alibaba, Tencent หรือ Line ที่เติบโตในประเทศไทยได้ดี

"ถ้าเงินไม่ลง Seed Round ในระยะสั้นอาจจะไม่มีปัญหา แต่ระยะยาวจะแย่ เราจะไม่เห็นสตาร์ทอัพหน้าใหม่เข้ามาในตลาด"

สตาร์ทอัพสาย HealthTech จะเกิดในประเทศไทยมากขึ้น เป็นเทรนด์ในปีนี้และปีหน้า หลังประสบความสำเร็จในสหรัฐและจีนมาแล้ว โดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (ML) รวมถึงบล็อกเชน เป็นส่วนผสมให้สตาร์ทอัพพัฒนาผลิตภัณฑ์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Coworking Space จะเหลือแต่บริษัทที่มุ่งการทำรายได้ เพราะกลุ่มทุนเข้ามาลงทุนน้อยลง

สตาร์ทอัพไทยต้องคลีน เข้าใจธุรกิจ

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder Techsauce Media กล่าวว่า สตาร์ทอัพไม่ได้ต่างจากบริษัทที่เป็นธุรกิจทั่วไป จะต้องคลีน โดยเฉพาะเรื่องบัญชี คนไทยยังขาดทักษะเรื่องการทำงานหลังบ้าน ซึ่งผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่จะรับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดช่องโหว่และไม่สามารถปิดดีลกับนักลงทุนได้

นักลงทุนอยากลงทุนกับนักธุรกิจที่เข้าใจการทำธุรกิจ สตาร์ทอัพต้องเลือกผู้บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) ที่เข้ามาดูเรื่องการเงิน เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักลงทุน มีประธานกรรมการบริหาร (CEO) ที่รู้ภาพรวมทั้งหมด และรู้วิธีหาพาร์ตเนอร์เพื่อเข้าไปจับมือกับองค์กรใหญ่ๆ

"ปีนี้ยังหวังว่าการลงทุนในสตาร์ทอัพจะโตได้มากกว่าปีที่ผ่านมา และอยากเห็นรัฐบาลเข้ามาช่วยผลักดันให้แข่งขันกับผู้เล่นจากต่างชาติได้ 'Fair Game' ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้คนไทยมีสิทธิพิเศษมากกว่าต่างชาติ"

B2B/B2B2C มาแรง แซง B2C

กลุ่มทุนจะเข้าลงทุนในธุรกิจที่เป็น B2B หรือ B2B2C มากขึ้นเพราะบริหารง่ายกว่า ยอดเงินลงทุนจะทะลุ 50% ของยอดทั้งปี และเกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพขององค์กรใหญ่ (CVC) อีกมากมาย เพราะองค์กรเหล่านี้มีทุนหนา เช่น ธุรกิจธนาคาร หรืออสังหาริมทรัพย์ ที่อยากได้ S-Curve หรือนวัตกรรมใหม่ ผ่านการลงทุนกับสตาร์ทอัพที่ตอบโจทย์ธุรกิจตัวเองได้โดยไม่มองถึงผลกำไร

"อย่าง dtac Accelerate ใช้งบประมาณแค่ 0.01% เมื่อเทียบกับงบการตลาดทั้งหมดของดีแทค"

ธุรกิจรูปแบบ B2B2C จะมีโอกาสเติบโต อย่าง Arincare เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนามาให้ร้านขายยาใช้และมีลูกค้าเป็นคนไข้หลักล้านคน หรือ System Stone ที่พัฒนาระบบการทำงานผ่านมือถือให้แก่วิศวกรซ่อมบำรุงในภาคอุตสาหกรรม

"นอกจากนี้ เราอาจจะได้เห็นยูนิคอนเข้าควบรวมและการซื้อกิจการจากสตาร์ทอัพ เพื่อรวมตัวกันให้เป็น Super App ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ"

CVC ไทยแข็งแกร่ง

สมโภชน์ กล่าวต่อว่า ค่อนข้างมีความหวังกับการลงทุนในสตาร์ทอัพขององค์กรใหญ่ (Corporate Venture Capital หรือ CVC) ของประเทศไทยมาก ในภาพรวมจะเห็นว่าไม่มีใครยอมใคร ทั้งในสายธนาคารหรืออสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันผู้บริหารในองค์กรเหล่านี้มีความรู้และเข้าใจอุตสาหกรรมของสตาร์ทอัพ ขณะที่ในต่างประเทศ CVC 70% ล้มเหลวเพราะลงทุนโดยหวังว่าจะได้อะไรจากสตาร์ทอัพมากเกินไป

ธุรกิจประกันภัย เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เข้ามาลงทุนกับสตาร์ทอัพเป็นจำนวนมาก และอาจจะได้เห็นธุรกิจ HealthCare ที่ไม่มี CVC ด้านนี้โดยเฉพาะ เข้ามาลงทุนกับ HealthTech และนำเทคโนโลยีไปใช้กับโรงพยาบาล

ขณะที่ อรนุช มองว่า นักลงทุน CVC ไทยยังลงทุนในต่างประเทศมากกว่าในไทย เพราะยังเห็นศักยภาพสตาร์ทอัพในต่างประเทศมากกว่า ทั้งด้าน Fintech AI และ Security ขณะที่ลงทุนในไทยจะเลือกลงทุนกับ Series A และ Series B ค่อนข้างเยอะเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง

“การไม่มี dtac Accelerate ถือว่าน่าเสียดาย เพราะจะไม่เห็นหน้าใหม่เข้ามาในวงการสตาร์ทอัพ ส่งผลให้ CVC ขาดตัวเลือกที่จะเข้ามารับไม้ต่อจากช่วง Early Stage ที่ผ่านโครงการมา”

"ยูนิคอร์น" ตัวช่วยดึงเงินลงทุน

สตาร์ทอัพไทยจะต้องมี Talent ในแง่ของนักพัฒนาจะเห็นว่า กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ดึงนักพัฒนาเก่ง ๆ มามากมายเข้า KBTG เพื่อสร้างยูนิคอร์น ส่วนใหญ่เด็กที่กลับมาจาก Google หรือ Apple

สมโภชน์ กล่าวว่า 4-5 เดือนที่ผ่านมากลุ่มทุนจากประเทศจีนเริ่มออกมานอกประเทศ ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทั้งอินโดนีเซีย ไทย หรือเวียดนาม เป็นประเทศที่เนื้อหอมมาก

ยูนิคอร์น หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะสามารถดึงกลุ่มทุนไม่เคยเข้าไทยให้เข้ามาลงทุน ซึ่งในปีนี้อาจจะยังไม่ได้เห็นยูนิคอร์นในไทย แต่ใน 2-3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้

"ผมยังมีความฝันอยากเป็นฟันเฟืองที่สร้างยูนิคอร์นได้ ซึ่งน่าจะชัดเจนในปลายเดือน ก.พ.นี้ ทางเลือกแรกคือ InnoSpace ทางเลือกที่ 2 คือทำงานกับบริษัทใหญ่ ๆ หรือผันตัวไปเป็น Angel Investor ร่วมกับกลุ่มเพื่อน" สมโภชน์ กล่าว

ดูข่าวต้นฉบับ