ไอที ธุรกิจ

LTV พิษร้ายแรง ดับพลังมาตรการรัฐ

ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่ 16 พ.ย. 2562 เวลา 23.20 น.

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงโค้งสุดท้ายของปี ต่างเป็นจังหวะรอคอยของผู้ซื้อ จากโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม ขณะแง่ผู้ประกอบการถือเป็นโอกาสปั๊มยอดขายและยอดรายได้จากการโอน เปรียบเป็นไฮซีซันของทุกปี แต่จากสถานการณ์ความซบเซาของตลาดหลักกทม.-ปริมณฑล ถูกปัจจัยลบรุมเร้าตั้งแต่ต้นปี เรื่องเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศ มาตรการ LTV และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดขึ้น กลุ่มผู้ซื้อลงทุนถูกค่าเงินบาทแข็งสกัด ทำให้ตลอด10 เดือนที่ผ่านมาตลาดย่อตัวติดลบ โดยไตรมาส3 (ก.ค.-ก.ย.) ไตรมาสเดียว มูลค่าตลาดหายไปถึง35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผล รัฐบาลพยายามออกมาตรการมากระตุ้นตลาดเป็นระยะๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบ พบไม่ตํ่ากว่า3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ มาตรการลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก กลุ่มราคาไม่เกิน5 ล้านบาท ถัดมาออกมาตรการลดค่าโอนบ้าน-คอนโดฯ กลุ่มราคาไม่เกิน1 ล้านบาท พร้อมสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลังหนุนผู้มีรายได้น้อย และล่าสุด ครม. เทหมดหน้าตัก เพิ่งเคาะลดค่าโอน จดจำนอง0.01% ให้เพิ่มเติมในกลุ่มบ้านไม่เกิน3 ล้านบาทตามคำเรียกร้องของผู้ประกอบการ พร้อมให้ ธอส. ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ ควบคู่กับ3 สมาคมเปิดตัวโครงการ“บ้านในฝัน รับปีใหม่” หวังระบายซัพพลายคงเหลือ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อโดย ธปท. ยังส่งพิษรุนแรง ดีมานด์เข้าไม่ถึงสินเชื่อ แม้จะมีมาตรการหลายด้านรองรับ ท่ามกลางปัจจัยลบลากยาว ผู้ประกอบการประสานเสียง ช่วยได้แต่ไม่มาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

10 เดือนยอดขายรูด

โดยนางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้บรรยากาศของตลาดอสังหาฯชะลอตัวไปด้วย ภาพรวมตลอด 10 เดือน ติดลบ พบยอดขาย ยอดโอนกรรมสิทธิ์ ลดลง ขณะที่สินค้าคงเหลือในตลาดมากขึ้น ขณะเดียวกันแรงกดดันจากมาตรการแอลทีวี และความเข้มงวดในการปล่อยเงินกู้จากสถาบันการเงิน ทำให้อัตรการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น หนักสุดในกลุ่มราคาระดับล่าง ราคาตํ่ากว่า 3 ล้านบาท กลุ่มทาวน์เฮาส์ซึ่งบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดในตลาด ณ สิ้นไตรมาส 3 ตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อโดยธนาคารขยับมาแตะที่ 15% จาก 7% เมื่อช่วงไตรมาส 2

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กระตุ้นไม่ขึ้นติด“LTV”

มุมสะท้อนของนางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ระบุในแง่กระตุ้นตลาดโดยมาตรการรัฐ ว่า หากย้อนในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มาตรการที่ออกมาพบมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก โดยทุกครั้งสามารถกระตุกดีมานด์ของตลาดให้กลับมาได้ไม่มากก็น้อย ผ่านทั้งมาตรการด้านภาษี ลดหย่อนภาระผู้ซื้อ และวงเงินปล่อยกู้ แต่คราวนี้สถานการณ์ต่างออกไปเนื่องจากอดีตไม่มีแอลทีวีมากดดัน เพราะแม้คนมีความต้องการ และมีสิทธิต่างๆ รองรับ ก็ไม่สามารถซื้อได้ จากเหตุผลหลักคือ ไม่มีเงินดาวน์เข้าสู่ระบบ

“ฐานะผู้ประกอบการ เห็นว่าเป็นไปได้ควรเลื่อนมาตรการแอลทีวี หรือแม้การเตรียมนำมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้(DSR)มาใช้ ให้ยกเลิกไปก่อน เพราะจะส่งผลให้มาตรกระตุ้นที่รัฐออกมาระยะยาวกว่าทุกครั้ง มีประโยชน์น้อยลง โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่อเดือนตํ่ากว่า 3 หมื่นบาท”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

ไตรมาส 4 ช่วงไฮซีซัน

ขณะที่ นายธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) ยังคงเชื่อมั่นว่าไตรมาสสุดท้ายของปี น่าจะเป็นช่วงที่ดีสุดของตลาด เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจ ประกอบกับรัฐบาลได้ออกมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายในการโอนและจดจำนองออกมาในกลุ่มตํ่ากว่า 3 ล้านบาท ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยนโยบายตํ่าสุดเป็นประวัติ การณ์ ส่งผลให้ตลาดน่าจะเป็นบวกขึ้น ในแง่อัตราการผ่อนชำระต่องวดของผู้ที่อยู่อาศัยก็จะลดลง น่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคได้

หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,523 วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2562

                     

       

ดูข่าวต้นฉบับ