ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ผักหวานป่า เริงร่า รับสายฝน

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 02 ก.ค. 2562 เวลา 10.03 น. • เผยแพร่ 02 ก.ค. 2562 เวลา 23.00 น.

“ผักหวานป่า”

ชื่อวิทยาศาสตร์ Melientha suavis Pierre
วงศ์ OPILIACEAE

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

…ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำพรำ
กบมันก็ร้องงึมงำ ระงมไปทั่วท้องนา
ฝนตกทีไร คิดถึงขวัญใจของข้า…

ฤดูกาลที่ร้อนอบอ้าว…แห้งแล้ง ย่างกรายหนีห่างจากเราไป พร้อมๆ กับสายฝนพรำที่คืบคลานเข้ามาแทนที่ ตามธรรมชาติเริ่มเดือนหกฝนก็ตกแล้ว พอพูดถึงฝน…ภาพของกบออกมาเล่นน้ำฝนน่าจะยังอยู่ในจินตนาการของคนเมืองกรุง แต่ถ้าเป็นชาวบ้านแถบอีสาน ป่านนี้คงนอนยิ้มหวานนึกถึงภาพตัวเองออกไปจับอึ่งกับเพื่อนฝูงมาต้ม มาลาบ ไม่ก็หาแหย่ไข่มดแดง

หลังจากฝนตกมากพอ “ผักหวานป่า” ก็จะแตกยอดอ่อน ใบอ่อน ชูช่อเล่นน้ำฝน ณ เวลานี้ คงไม่มีผักใดที่ฮอตฮิตไปกว่า “ผักหวานป่า” อีกแล้ว ราคาก็ช่างดีเหลือหลาย ยิ่งสรรพคุณเกือบไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะมีมากมาย คนไทยคนต่างชาติรู้จักกันดี ถ้าเอ่ยถึง ผักหวานป่ากับไข่มดแดง เพราะเป็นอาหารยอดนิยม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผักหวานป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง และเป็นพืชประจำถิ่นที่นิยมรับประทานในแถบภาคอีสาน สมัยโบราณผักหวานป่าเป็นของมีค่าและราคาแพง ผักหวานป่ามีความสามารถในการขยายพันธุ์ต่ำ จึงทำให้ผักหวานป่าปลูกยากไปด้วย แต่ก็ไม่พ้นความพยายามของมนุษย์ไปได้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ใบ เป็นใบเดี่ยวสลับ เนื้อใบกรอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบมน ขนาดใบ 2.5-5.0 เซนติเมตรx6-12 เซนติเมตร ก้านใบสั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดอก เป็นแบบไม่สมบูรณ์เพศ (imperfect flower) มีทั้งต้นดอกเพศผู้ และต้นดอกเพศเมีย (dioecious) ช่อดอกเกิดบริเวณกิ่งแก่ หรือลำต้น การพัฒนาของช่อดอกประมาณ 6 สัปดาห์

การผสมเกสร (pollination) ของผักหวานป่าเป็นการผสมข้าม เนื่องจากดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกกันอยู่คนละต้น

ผล เป็นผลเดี่ยว มีรูปไข่ถึงค่อนข้างกลม (ellipsoid to slightly ovoid or obvoid) มีขนาด 2.3-4.0 เซนติเมตรx1.5-2.0 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว มีนวลเคลือบโดยรอบ และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองครีม หรือเหลืองอมส้มเมื่อแกะเปลือก (pericarp) บาง เนื้อมีความฉ่ำน้ำ มีเมล็ดเดียวแบบ drupe การพัฒนาของผลประมาณ 6-8 สัปดาห์
การขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด เพาะชําราก และตอนกิ่ง

แหล่งที่พบ ป่าเต็งรัง ผักหวานป่าเป็นพืชที่ทนแล้ง ไม่ชอบแดดจัด ไม่ชอบน้ำมาก ชอบที่โล่ง ดินร่วนปนทรายตามธรรมชาติ ขึ้นได้ในดินร่วนปนทราย

ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร ได้แก่ ใบอ่อน ยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน นํามาลวก ต้ม นึ่ง คู่กับน้ำพริก หรือปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม แกงเลียง แกงอ่อม แกงกะทิกับปลาย่าง แกงใส่ไข่มดแดง ผัดน้ำมันหอย ทอดกับไข่

ผักหวานป่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีคุณค่าทางอาหาร และมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระสูง (antioxidant capacity) ทั้งการบริโภคสด และการแปรรูปผลผลิตเป็นชาผักหวานป่า รวมทั้งสามารถสกัดเป็นสารออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของโรคพืช เช่น เชื้อ Fusarium oxysporum และ Xanthomonas campestris

สวนผักหวานป่าที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงนั้น เป็นของ “นายจันทร์ ปะโพทะกัง” วัย 84 ปี ซึ่งเป็นทั้งปราชญ์ชาวบ้าน และพ่อแห่งชาติ เมื่อปี 2557 ของบ้านโนนตูม อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา ได้เริ่มปลูกผักหวานป่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยนำเมล็ดพันธุ์มาจากป่า

วิธีการเพาะก็แบบบ้านๆ

นำเมล็ดผักหวานป่ามาล้างเนื้อเมล็ดออก ผึ่งลมให้แห้ง เพาะบนกองขี้เถ้า รดน้ำให้ชุ่ม คลุมด้วยกระสอบป่านแล้วรดน้ำอีกครั้ง อีกสัปดาห์เมล็ดก็งอกรากยาว 1 เซนติเมตร ถึงนำเมล็ดผักหวานป่าไปปลูกลงดิน ส่วนหนึ่งชำใส่ถุงดำไว้ปลูกซ่อม หลังจากเพาะถ้าต้นสูงสัก 10-20 เซนติเมตร โอกาสรอดจะสูง ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี

พ่อใหญ่จันทร์ เล่าว่า ปีแรกลงต้นผักหวานป่าไว้ประมาณ 50 ต้น และปลูกเพิ่มเรื่อยๆ ปีละประมาณ 50 ต้น ด้วยพื้นที่ที่จำกัดเพียง 1 ไร่ จึงปลูกต้นผักหวานป่าได้ไม่มากนัก ประมาณสามสี่ร้อยต้น และในช่วงปีหลังๆ ก็ไม่มีการปลูกเพิ่ม เป็นเพียงแค่ปลูกซ่อมแซมต้นที่เสียหายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในละแวกนั้นมีพ่อใหญ่จันทร์เท่านั้นที่ปลูกผักหวานป่า

วิธีการปลูกโดยทั่วๆ ไป

1. ปลูกไม้พี่เลี้ยงไว้ใกล้ๆ (ประมาณว่าจะให้รับแดดรำไร) โดยปลูกระหว่างต้น 2 เมตร ระหว่างแถว 2 เมตร

2. ขุดหลุมปลูกให้ลึก ประมาณ 1 ฟุต พรวนดินให้ร่วน ผสมปุ๋ยคอก เอาเมล็ดวางบนปากหลุม เดี๋ยวรากเดินเอง(รากผักหวานป่าเดินเร็วในช่วงแรก)

3. ล้อมด้วยซาแรน 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อพรางแสงให้ต้นกล้าเล็กๆ และเพื่อป้องกันไก่คุ้ยเขี่ย…

พ่อใหญ่จันทร์ บอกว่า ถ้าเอาดินแถวโคนต้นผักหวานเดิม หรือต้นแม่มาใส่รองก้นหลุมบ้าง จะทำให้อัตราการรอดตายสูงขึ้น นอกจากนั้น ท่านยังได้ทดลองปลูกพืชต่างๆ เป็นพี่เลี้ยง ทั้งตะขบ และต้นแค (ขาวและแดง) เพื่อหาคำตอบว่าพืชใดเป็นพี่เลี้ยงได้ดีที่สุด ซึ่งคำตอบก็คือ ตะขบ

ถ้าอยากรู้ว่า ต้นไม้ชนิดใด เป็นพี่เลี้ยงของต้นผักหวานป่าได้ ให้สังเกตดูว่าช่วงหน้าแล้งใบมันร่วงหมดต้นหรือไม่ ถ้าไม่ร่วงจนหมดต้น ก็เป็นพี่เลี้ยงได้ และที่สำคัญพี่เลี้ยงต้องเป็นไม้ใบเล็ก แสงลอดได้พอรำไร พ่อเฒ่าบอกกับผู้เขียนด้วยสีหน้ายิ้มอย่างภูมิใจ

ปัจจุบัน พ่อใหญ่จันทร์ ได้วางมือแล้ว ให้ลูกชายเป็นผู้ดูแลต่อ เพราะตัวเองหมดแรงทำ ตอนนี้ต้นผักหวานป่าสองร้อยกว่าต้นที่เหลืออยู่ก็เพียงพอที่จะออกผลผลิตให้ครอบครัวได้เก็บไปขายที่สหกรณ์ร้านค้าในหมู่บ้านแทบทุกวัน…

การปลูกผักหวานป่า สามารถช่วยให้มันอยู่รอดผ่านแล้งผ่านหนาวจนเติบใหญ่ได้ มันจะโตเร็วสุดคือ ช่วงปลายฝนต้นหนาวไปจนถึงปลายแล้งต้นฝน ยิ่งแล้งยิ่งยอดดก…ยิ่งแล้งยิ่งโตเร็ว

พ่อใหญ่จันทร์ เป็นเกษตรกรที่ไม่เหมือนเกษตรกรคนอื่นในหมู่บ้านที่ทำนาอย่างเดียว ท่านมองไกลไปกว่านั้น ขณะที่ทำนาก็ได้ปลูกมะม่วงบนคันนาไว้หลายสิบต้น พอได้ให้คนกิน ให้นกให้กระรอก มีบ่อเลี้ยงปลาเล็กๆ ปลูกต้นตาล ปลูกไม้ใหญ่บนคันนาไว้ใช้สอย ทำโต๊ะ ทำเก้าอี้ ไม่ว่าจะเป็นยางนา สัก สะเดา มะขามป้อม หรือไม้ยืนต้นอื่นๆ ที่ทางการส่งเสริม

ต้นคูน หรือ ราชพฤกษ์ ที่สวนก็มีปลูกไว้ให้แม่เฒ่าที่มีอายุไล่เลี่ยกันไว้กินกับหมาก เหลือแจกเพื่อนบ้าน ส่วนยางเหียง และยางกราดมีอยู่แล้ว และส่วนหนึ่งได้กันไว้เป็นสวนป่าดั้งเดิม ซึ่งเป็นป่ามะค่าแต้ หากมองดูแล้วรูปแบบการใช้ชีวิตของพ่อใหญ่จันทร์ก็เป็นแบบอย่างของเกษตรผสมผสานที่พ่อหลวงสอนให้เราอยู่ได้แบบพึ่งพาตัวเอง และอยู่อย่างพอเพียง

กว่าจะผ่านพ้นหน้าแล้งไปได้ หัวใจผู้เขียนแทบขาด…ตับแทบจะแตก ต้นไม้หลายต้นก็ยืนต้นตาย เมื่อพระพิรุณมาโปรดถึงขนาดนี้แล้ว จะมัวรอช้าอยู่ทำไม หาเมล็ดผักหวานป่ามาจิ้มลงดินตามวิถีบ้านๆ นี่แหละ ไม่ต้องพึ่งสารเคมี จะได้เก็บผักกินเองได้อย่างสบายใจ แถมมีสุขภาพดีอายุยืนยาวอีกด้วย…ส่วนใครชอบไม้ป่า ผู้เขียนขอแนะนำให้ไป ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ทุกๆ จังหวัด เขาเริ่มแจกกล้าไม้กันแล้วนะ

เย็น….ฝนพรำ พร่างพรูสู่พฤกษา
พรมไม้ป่า สดใสในวสันต์
หัวใจเรา ฉ่ำชื่นเช่นดังคืนวัน
ฝันและใฝ่ โลกใหม่ต้องเป็นของเรา…
(บทเพลง : ยิ้มกลางสายฝน คาราวาน)

เอกสารอ้างอิง

ทักษิณ อาชวาคม และคณะ. 2551. ผักหวานป่า พืชกินได้ในป่าสะแกราช. สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ฝ่ายจัดการสถานีวิจัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) น. 207-208

สงบ เจริญสุข. เอกสารทางวิชาการ เรื่อง การปลูกผักหวานป่า จังหวัดสระบุรี. สํานักงานเกษตรจังหวัดสระบุรี. กรมส่งเสริมการเกษตร. 42 น.

ดูข่าวต้นฉบับ