ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ในการดำเนินการของกระทรวง อว.ได้สนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสังกัด อว.ทุกพื้นที่ของประเทศ ขณะนี้โรงพยาบาลสนามของ อว. มีมากถึง 41 แห่ง มีความสามารถที่จะรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 12,000 เตียง และวันนี้พร้อมรับได้ ประมาณกว่า 8,000 เตียง และจากการติดตามความพร้อมของโรงพยาบาลสนาม พบว่ามีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งบุคลากร เวชภัณฑ์ต่าง ๆ โดยขณะนี้มีผู้เข้ารับการดูแลรักษาภายในโรงพยาบาลสนามแล้วประมาณ 1,900 เตียง และในวันนี้ มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามของ อว. หายป่วย จำนวน 100 กว่าคน
ปลัดกระทรวง อว. ยังกล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การลดการเดินทางให้เหลือน้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งการดูแลสุขภาพทั้งของตนเองและบุคคลใกล้ชิดให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบนวัตกรรมที่นอนยางพารา จาก วช. มาใช้ในโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เบื้องต้นโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สามารถรองรับผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 ได้จำนวน 120 เตียง ซึ่งการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ได้ดำเนินงานร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขคอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด และในอนาคตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จะเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก 100 เตียง ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ศูนย์ปราจีนบุรี อีกด้วย
ขณะที่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า นวัตกรรมชุดที่นอนยางพาราเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดมาจากโครงการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหมอนยางพาราระดับชุมชน ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดาน จ.พัทลุง ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยผลิตจากยางพาราแท้ มีคุณสมบัติในการระบายอากาศได้ดี มีความนุ่มและยืดหยุ่นสูง รองรับสรีระในการนอน ไม่สะสมฝุ่นและเชื้อโรค สามารถทำความสะอาดได้สะดวก อีกทั้งยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 10 ปี อีกด้วย.