ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

‘BTS’ เตรียมเสนอผลตอบแทนแลกสัมปทาน ‘รถไฟฟ้าชมพู-เหลืองส่วนต่อขยาย’

The Bangkok Insight
อัพเดต 25 มี.ค. 2562 เวลา 15.36 น. • เผยแพร่ 25 มี.ค. 2562 เวลา 08.19 น. • The Bangkok Insight

“BTS” เตรียมเสนอผลตอบแทน แลกสัมปทาน “รถไฟฟ้าชมพู – เหลืองส่วนต่อขยาย” คาดเปิดโต๊ะเจรจากับ “รฟม.” สัปดาห์นี้ สรุปผลเดือนหน้า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. อยู่ในขั้นตอนการเจรจา โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย กับกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ที่มีบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นแกนนำ

ทั้งนี้ รฟม. ได้เจรจากับกลุ่ม BSR ไปแล้ว 1 ครั้ง เพื่อแจ้งเงื่อนไขการลงทุนโครงการส่วนต่อขยายทั้ง 2 เส้นทางให้รับทราบ พร้อมขอให้ BSR ยื่นข้อเสนอทั้งหมดกลับมาให้ รฟม. พิจารณาภายในสัปดาห์นี้ ทั้งเรื่องการดำเนินงาน การลงทุน ผลตอบแทนที่จะให้แก่รัฐ เป็นต้น หลังจากนั้นจะ รฟม. และกลุ่ม BSR จะนัดเจรจาเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงปลายสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รฟม. ยังไม่สามารถให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติมได้ เพราะต้องรอพิจารณาข้อเสนอของกลุ่ม BSR ก่อนจึงกำหนดท่าทีในการเจรจาต่อไป แต่คาดว่าการเจรจาคงไม่ยืดเยื้อมากนักและจะพยายามให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด จากนั้นจะเสนอผลการเจรจาให้คณะกรรมการมาตรา 43ฯ แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลบทุนในกิจการของรัฐ (PPP) กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ

เดินหน้า “อีไอเอ” แล้ว

นอกจากนี้ รฟม. ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้ง 2 เส้นทางไปพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า โดยขณะนี้อีไอเอเสร็จแล้วและเตรียมเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาในเร็วๆ นี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนงาน ก็คาดว่าเอกชนจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที เมื่อผลการเจรจาผ่านความเห็นชอบจาก ครม. โดยเงื่อนไขสำคัญคือ เอกชนจะต้องก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน ตามกรอบเวลาของสัญญาหลัก

นายภคพงศ์ กล่าวถึงรายละเอียดการลงทุนต่อว่า โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ส่วนต่อขยาย) มีเส้นทางจากสถานีศรีรัชเข้าไปยังเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ส่วนต่อขยาย) มีเส้นทางจากสถานีรัชดาไปเชื่อมกับโครงการรถไฟฟสายสีเขียวบริเวณใกล้สี่แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 7 พันล้านบาท

กลุ่ม BSR ต้องรับภาระการลงทุนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าก่อสร้างหรือค่าเวนคืน ซึ่งเป็นไปตามหลักการของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง  และเมื่อหมดสัญญาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือนแล้ว กลุ่ม BSR ก็ต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดกลับมาให้ รฟม.

เน้นเจรจาผลตอบแทนให้รัฐ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการมาตรา 43ฯ และคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. มีความเห็นร่วมกันว่า รฟม. ควรรับข้อเสนอและเจรจาการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองส่วนต่อขยายกับกลุ่ม BSR

โดยบอร์ด รฟม. ได้เห็นชอบแนวทางการเจรจากับ BSR จำนวน 1 แนวทาง แต่คณะกรรมการมาตรา 43  ขอให้ รฟม. พิจารณาแนวทางในการเจรจาเพิ่มอีก 1 แนวทาง เป็น 2 แนวทาง เพื่อให้การเจรจามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนประเด็นสำคัญในการเจรจาครั้งนี้คือ ผลตอบแทนที่ BSR จะให้กับภาครัฐ

“ที่ปรึกษาของ รฟม. มีการคำนวณดูว่า ถ้าในกรณีที่มีสถานีเพิ่มขึ้น จะมีผู้โดยสาร ผลตอบแทนการทางเงิน (FIRR) ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) รายได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน อย่างไร และรายได้ส่วนนั้นควรแบ่งให้ รฟม. มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ต้องรอดูผลการเจรจา” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าการเจรจาระหว่าง รฟม. และกลุ่ม BSR จะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2562 จากนั้นจะต้องเสนอผลการเจรจาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ ครม. เห็นชอบ ใช้เวลาอย่างเร็วประมาณ 3 เดือน จึงคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างส่วนต่อขยายได้ประมาณปลายปีนี้

 

ดูข่าวต้นฉบับ