ผมคิดถึงเรื่องความตายบ่อยๆ แต่อาจไม่ใช่ความตายในแบบที่หลายคนคุ้นเคย พิธีกรรม งานสวด งานเผา อะไรทำนองนั้น
ผมมักนึกถึงแนวคิดของการรวมและแตกของอะตอม
ในเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ชื่อ ภพสุดท้าย นักวิทยาศาสตร์ใช้วิทยาการใหม่ดึง ‘จิต’ ของตัวละครเอกไปใส่ในอณูของต้นถั่ว เมื่อถั่วต้นนั้นตาย อณูที่ประกอบเป็นต้นถั่วก็สลายแยก จิตเกาะไปกับอณูนั้นแล้ว ‘เกิดใหม่’ ในรูปใหม่ บางครั้งเป็นสิ่งมีชีวิต บางครั้งเป็นสิ่งไร้ชีวิต กลายเป็นส่วนหนึ่งของกุ้ง ปลา ต้นไม้ บ้าน ฯลฯ รูปแล้วรูปเล่า
จิตนั้นสามารถรับรู้ความรู้สึกของรูปใหม่ เดินทางเปลี่ยนรูปเปลี่ยนภพไปไม่สิ้นสุด จนเวลาของโลกยุติ โลกมนุษย์สิ้นสลายตามธรรมชาติของมัน จิตก็ยังคงเดินทาง เป็นธุลีดาวลอยล่องในดาราจักร เปลี่ยน ‘ภพ’ ไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมันก็กลายเป็นรูปใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาว
เรื่องสั้นเรื่องนี้เขียนมานานแล้ว แต่ความคิดนี้ยังคงฝังหัวอยู่จนปัจจุบัน
ความจริงแนวคิดของเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็มาจากหลักพุทธ ที่มองว่าชีวิตเป็นเพียงการประชุมเข้าด้วยกันของธาตุต่างๆ เมื่อเลิกประชุม ชีวิตก็ยุติรูปนั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน
เข้าใจดังนี้ก็จะไม่ฟูมฟายเมื่อเห็นความตาย
คนโบราณก็เข้าใจเรื่องอะตอมเหมือนกัน ในอีกมุมหนึ่ง
…………..
ในทางพุทธมีการบำเพ็ญกรรมฐานอย่างหนึ่งเรียกว่า อสุภกรรมฐาน
อสุภแปลว่าซากศพ กรรมฐานหมายถึงอุบายทางใจ
อสุภกรรมฐาน แปลว่า กรรมฐานที่ยึดเอาซากศพเป็นอารมณ์ เพื่อให้เห็นความเที่ยงของสังขาร
หลายคนได้ยินเรื่องนี้แล้วไม่อยากฟัง เพราะชวนแหวะ แต่ลองเปลี่ยนคำว่า ‘ซากศพ’ เป็น ‘กลุ่มอะตอม’ อาจทำให้รู้สึกขยะแขยงหรือน่ากลัวลดลง
คำว่าซากศพมีนัยของความสิ้นสุดเปลือกนอก เข้าสู่สภาวะเดิม เมื่อเข้าใจการเกาะเกี่ยวชั่วคราวเป็นกายหยาบของมนุษย์ ก็ทำให้เราลดความยึดมั่นถือมั่นลง
ทั้งอสุภกรรมฐานและการรวม-แยกของอะตอมก็็มีหลักการเหมือนกันคือ ชีวิตเป็นการรวมกันและแยกกันของธาตุ เป็นวัฏจักร ทุกครั้งที่รวมกัน จะอยู่ในรูปใหม่
ในมุมมองนี้ ธรรมชาติจึงไม่มีการเกิดหรือการตาย มีแต่การเปลี่ยนรูป
มองในมุมนี้ ก็ไม่มีอะไรต้องยินดีเมื่อมีการเกิดหรือเสียใจเมื่อมีการตาย
มันทำให้เราเข้าใจความตายใหม่
เราไม่เคยตาย เราแค่เปลี่ยนรูป
การมองแบบนี้ทำให้จิตนิ่งขึ้นดีเหมือนกัน
…………..
คำถามเกี่ยวกับความตายคำถามหนึ่งคือ คนเราตายแล้วไปไหน
ขึ้นกับว่าถามในมุมของจิตหรือกาย
ในมุมของจิตยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พอตอบได้ ส่วนในมุมของกายนั้น อาจตอบได้
ลองนึกภาพดู วันหนึ่งเมื่อคุณเสียชีวิต คุณถูกเผาเป็นเถ้า ญาติแบ่งคุณออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งโปรยใต้ต้นไม่ใหญ่หลังบ้าน อีกส่วนหนึ่งโปรยกลางทะเล
เมื่อโปรยใต้ต้นไม้ ส่วนหนึ่งกลายเป็นต้นไม้ ถูกดูดซึมกลายเป็นส่วนหนึ่งของผลไม้ เมื่อใครกินเข้าไป อณูบางส่วนของคุณก็เป็นส่วนหนึ่งของคนนั้น ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด
เถ้าส่วนที่โปรยลงทะเล ส่วนหนึ่งลมพัดแรงกระจาย มันขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ส่วนหนึ่งเป็นอาหารปลา ปลาตัวนั้นกลายเป็นอาหารของคน กลายเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของคนกิน
จะเห็นว่าหากเราติดตามเส้นทางของเถ้าอณูของคุณหลังจากคุณตาย จะพบว่ามันกระจายออกไปในเส้นทางจำนวนนับไม่ถ้วน แต่ละเส้นทางมีเป็นโลกใหม่หรือชาติใหม่หรือชีวิตใหม่
และสภาพเดิมของร่างกายจริงๆ ก็คืออะตอม
อะตอมก็เหมือนนักแสดง มันหมุนเวียนเปลี่ยนเวที รับบทเป็นตัวละครต่างๆ ไปเรื่อยๆ
แต่หลักของการมองลึกในระดับอะตอมและสืบทอดต่อไปไม่สิ้นสุด
นี่ก็คือ ‘อสุภกรรมฐาน’ ของผม
ผมมักจินตนาการว่าเมื่อผมสิ้นลม ร่างกายจะค่อยๆ เสื่อมสลาย ไม่ว่าจะฝังหรือเผา ร่างกายจะแตกสลายเป็นชิ้นส่วนที่เล็ก(เกือบ)ที่สุดคืออะตอม
ผ่านไประยะเวลาหนึ่ง อะตอมเหล่านี้จะกระจายไปทั่วโลก แล้วประกอบขึ้นเป็นร่างใหม่ อะตอมที่เคยประกอบเป็นฝ่าตีนของผมอาจประกอบเป็นส่วนหนึ่งของต้นหมามุ่ยที่ไหนสักแห่ง อะตอมกระดูกอาจประกอบเป็นส่วนหนึ่งของกระดูกปลาในแม่น้ำ ฯลฯ
เมื่อผ่านกาลเวลาที่ยาวนานพอ อะตอมที่เคยเป็นผมก็จะกระจัดกระจายไปทั่วโลก ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไร้ชีวิต อาจรวมกับอะตอมที่เคยเป็นคนอื่นๆ อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่คนในอีกห้าสิบปีกิน หรืออาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายใครคนหนึ่งในอีกห้าร้อยปีข้างหน้า
วันดีคืนดีบางอะตอมของผมกับบางอะตอมของคุณอาจพบกัน อะตอมของผมอาจทักทายอะตอมของคุณว่า “สวัสดีจ้ะ จำฉันได้มั้ยจ๊ะ” บางทีเราอาจได้รวมตัวกันเป็นรูปใหม่
เมื่อโลกของเราดับอีกหลายพันล้านปีข้างหน้า แตกเป็นผุยผง อะตอมที่เป็นร่างกายผมในวันนี้และเคยผ่าน ‘ภพชาติ’ ต่างๆ ก็จะกระจายไปทั่วดาราจักร
และวันหนึ่งก็อาจประกอบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตต่างดาว หรือโลกใหม่
รูปอาจเปลี่ยน แต่อะตอมดั้งเดิมยังคงอยู่
การรู้เรื่องฟิสิกส์แห่งจักรวาลวิทยาอาจจะเกี่ยวกับเรื่องปรัชญาทางอ้อม
…………..
ปรัชญาตะวันออกพูดเรื่องความว่าง มักมีความหมายทางจิต หมายถึงการปล่อยวางจากสิ่งยึดติดทั้งมวล หรือมายา เป็นความว่างเชิงนามธรรม แต่ในทางฟิสิกส์ เราพบว่าสรรพสิ่งประกอบด้วยความว่างอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ
ร่างกายเราประกอบด้วยความว่างเปล่าเป็นหลัก
อย่างไร?
ก็กลับมาที่โครงสร้างของอะตอม
แม้จะมีขนาดเล็กมากๆ แต่อะตอมแต่ละตัวยังประกอบด้วยอนุภาคย่อยเช่นโปรตอน นิวตรอน อิเลกตรอน แต่ละธาตุมีจำนวนโปรตอนและอิเลกตรอนต่างกันออกไป โปรตอนกับนิวตรอนอยู่ใน ‘ไข่แดง’ ที่เรียกว่านิวเคลียส วางอยู่ตรงศูนย์กลางของอะตอม
สมมุติว่าคุณไปสนามกีฬาศุภชลาศัย พบเหรียญสลึงหล่นอยู่กลางสนาม หากสนามกีฬาคือขนาดของอะตอม เหรียญสลึงก็คือขนาดของนิวเคลียส ส่วนขนาดของอิเลกตรอนก็เท่ากับมดตัวหนึ่งที่กำลังเดินรอบนอกของสนามกีฬา
นี่บอกว่า พื้นที่ 99 เปอร์เซ็นต์ของอะตอมคือที่ว่าง
ดังนั้นถ้าบอกว่าโครงสร้างร่างกายคนเราก็คือความว่างเปล่า ก็ไม่ผิดนัก!
อะตอมถือกำเนิดมาอย่างไร จะมีจุดสิ้นสุดหรือไม่? เรายังไม่รู้ แต่ดูจากโครงสร้างอันแทบว่างเปล่าของอะตอมแล้ว ก็ทำให้คิดว่าที่แท้จริงเราทั้งหลายก็คือความ(เกือบ)ว่างเปล่า
เป็นความว่างที่ประกอบขึ้นเป็นความมีความเป็น เราก็คือความไม่มีในรูปของความมี
…………..
วินทร์ เลียววาริณ
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
ตุลาคม 2561
KM เดิม : อสุภกรรมฐาน แปลว่า กรรมฐานที่ยึดเอาซากศพเป็นอารมณ์ เพื่อให้เห็นความเที่ยงของสังขาร
แก้เป็น : ........เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร
น่าจะพิมพ์ตกคำว่า "ไม่"นะครับ
23 พ.ย. 2561 เวลา 08.59 น.
ฐ.ร้าน๙๙สังฆภัณฑ์ 🙏”กรรมฐาน” และ”กัมมัฏฐาน”แตกต่างกันอย่างไรคะท่าน🙏ถ้ามันคืออันเดียวกันคำเขียนใดถูกต้องคะ ขออภัยค่ะอันนี้อยากทราบจริงๆค่ะ🙏
20 พ.ย. 2561 เวลา 12.16 น.
ARTITAYA จำเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้คะ ที่จิตดับและเกิดใหม่เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด
18 ต.ค. 2561 เวลา 16.00 น.
แม่เซริว มังกรฟ้า เป็นครั้งแรกที่เข้ามาอ่านของนักเขียนผู้นี้ค่ะ ถือว่าเขียนได้เข้าใจง่ายขึ้นค่ะ ดิฉันเป็นอีกคน(ขันธ์๕)ที่ศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า มีความเชื่อส่วนตัวว่า ทุกสิ่งคือการรวมตัวกันของธาตุ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มี เพราะอะไรก็ตามที่มีการเกิดขึ้นคือการรวมตัวกัน และในที่สุดก็แตกสลายไป(ตามกฏพระไตรลักษณ์) ในโลกนี้จึงมีแต่ของยืมธรรมชาติมาใช้แล้วก็ต้องคืนไป ดวงจิตก็เกิดใหม่อีกครั้งเป็นไปตามกรรมที่กระทำไว้ เวียนว่ายในสังสารวัฏ จนกว่าจะพ้นทุกข์คือพระนิพพาน
18 ต.ค. 2561 เวลา 03.52 น.
ชอบผลงานของคุณวินทร์ มากเลยค่ะ ดีใจที่มีผลงานให้อ่านแบบง่ายๆ ทางมือถือ ขแบคุณมากค่ะ ที่มีผลงานดีๆ อย่างนี้ออกมาเรื่อยๆ ถือว่าได้เตือนสติได้ด้วย
16 ต.ค. 2561 เวลา 13.18 น.
ดูทั้งหมด