กีฬา

หยาดเหงื่อ รอยน้ำตา ครั้งแรก และการอำลา วินาทีสำคัญของนักกีฬาในโตเกียวโอลิมปิก 2020

becommon.co
อัพเดต 02 ส.ค. 2564 เวลา 22.37 น. • เผยแพร่ 02 ส.ค. 2564 เวลา 12.55 น. • common: Knowledge, Attitude, make it Simple

มหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งอื่นๆ เพราะความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป

ประเทศญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพ รู้สึกวิตกกังวลเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของบรรดานักกีฬา จึงตัดสินใจเลื่อนจัดงานออกไป 1 ปี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แม้นักกีฬาจะมีเวลาฝึกซ้อมมากขึ้น แต่สิ่งต่างๆ ในช่วงเวลานั้นกลับไม่ง่ายและไม่สะดวกสบายอย่างที่คิด บางคนต้องกักตัวอยู่บ้าน เดินทางไปสนามไม่ได้ บางคนต้องแยกซ้อมตามลำพังทั้งๆ ที่ต้องเล่นเป็นทีม บางคนต้องจินตนาการว่ากำลังว่ายน้ำขณะนอนอยู่บนเตียง ทั้งหมดคือความยากครั้งใหม่ที่ไม่มีใครเคยเผชิญสถานการณ์ท้าทายเช่นนี้มาก่อน

แต่ในเมื่อความหวังและความฝันสูงสุดของชีวิตนักกีฬา คือการได้เข้าร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ จึงไม่มีใครถอดใจยอมแพ้ ตรงกันข้าม ต่อให้มีอุปสรรคหรือข้อจำกัด ทุกคนยิ่งพยายามอุทิศตนทั้งแรงกายและแรงใจเพื่อพาตัวเองฝ่าฟันสิ่งต่างๆ จนมายืนอยู่ในสนามกีฬาที่กรุงโตเกียวได้สำเร็จ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โตเกียวโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ จึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสนามแข่งขันให้นักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกที่มีภูมิหลังและผ่านเรื่องราวที่แตกต่างกันมาประลองฝีมือและความแข็งแกร่งของร่างกายเท่านั้น แต่ยังตั้งใจจัดการแข่งขันกีฬาเพื่อหลอมรวมความหลากหลายของทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นให้ทุกๆ คนไม่เพียงแค่นักกีฬา รู้สึกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตามคำขวัญที่ว่า ‘United by Emotion’

ทุกสายตาที่จับจ้องไปยังนักกีฬา จะเห็นทุกท่วงท่าที่คล่องแคล่วของพวกเขาจากการฝึกฝนมาอย่างหนักหน่วง จะสัมผัสได้ถึงทุกความมุ่งมั่นที่ไม่เป็นสองรองใคร และจะเข้าใจว่าบนสนามมีทั้งหยาดเหงื่อและรอยน้ำตา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เพราะสำหรับนักกีฬา นี่คือวินาทีที่ยิ่งใหญ่และมีความหมาย เป็นทั้งครั้งแรก ครั้งสุดท้าย และครั้งสำคัญของใครบางคน ซึ่งพวกเขาจะจดจำไปชั่วชีวิต

หยาง เฉียน (Yang Qian) นักกีฬายิงปืนทีมชาติจีน ทำท่าหัวใจบนโพเดียมรับเหรียญ หลังใช้ความนิ่งคว้าเหรียญทองเหรียญแรกของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 มาได้ และทำลายสถิติโอลิมปิก เพราะทำคะแนนยิงปืนไรเฟิลระยะ 10 เมตรได้สูงสุด

7 วินาทีสุดท้ายก่อนหมดเวลา ‘เทนนิส’ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย พลิกกลับมาเอาชนะ อาเดรียนา เซเรโซ อิเกลเซียส (Adriana Cerezo Iglesias) ทีมกีฬาจากทีมชาติสเปน สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ คว้าเหรียญทองเหรียญแรกให้ประเทศไทยและเป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยคนแรกที่ได้รับเหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิก

โมมิจิ นิชิยะ (Momiji Nishiya) สาวน้อยชาวญี่ปุ่นวัย 13 ปี นักกีฬาสเก็ตบอร์ด ประเภทสตรีท คว้าเหรียญทองโอลิมปิกครั้งแรก สร้างสถิติเป็นนักกีฬาโอลิมปิกเหรียญทองอายุน้อยที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ตำแหน่งเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์คือ มาร์โจรี เกสตริง (Marjorie Gestring) นักกีฬากระโดดน้ำทีมชาติสหรัฐอเมริกา ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอมนี

อากาศที่ร้อนมากเกินไปทำให้ ดานิล เมดเวเดฟ (Daniil Medvedev) นักกีฬาเทนนิสชาวรัสเซีย หน้ามืดและเป็นลมจนต้องพักการแข่งขัน หนึ่งในผู้ตัดสินเดิมเข้ามาดูอาการแล้วถามว่าแข่งต่อไหวไหม เขาตอบกลับขณะนอนอยู่บนพื่นสนามว่า “แข่งก็ได้ แต่ถ้าผมตายไปใครจะรับผิดชอบ”

น้ำตาแห่งความดีใจอย่างถึงที่สุดของฮิดิลิน ดิอาซ (Hidilyn Diaz) นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติฟิลิปปินส์ รุ่น 55 กิโลกรัม เพราะเธอสร้างประวัติศาสตร์โดยคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกให้ประเทศได้สำเร็จ นับตั้งแต่ฟิลิปปินส์เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1924 หรือเป็นเวลา 97 ปีมาแล้ว

ทีมนักกีฬาหญิงจากสหรัฐอเมริกา กอดคอดีใจยกใหญ่ ฉลองให้กับชัยชนะที่ร่วมแรงร่วมใจกันจนคว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล 3×3 มาได้ เพราะเป็นกีฬาประเภทใหม่ที่เพิ่งได้รับการบรรจุในโตเกียวโอลิมปิก 2020 เป็นครั้งแรก

ทำเต็มที่แล้ว ‘หญิง’ สุธาสินี เสวตรบุตร นักกีฬาปิงปองทีมชาติไทยสร้างผลงานดีที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิก ผ่านเข้ารอบ 16 คนสุดท้าย ก่อนพ่ายให้กับนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่น

จับจ้องลูกปิงปองไม่ให้คลาดสายตาเหมือนเหยี่ยวมองเหยื่อ โฉมหน้า คะสุมิ อิชิกะวะ (Kasumi Ishikawa) นักกีฬาปิงปองทีมชาติญี่ปุ่น ผู้เอาชนะ ‘หญิง’ สุธาสินี เสวตรบุตร ไปได้

โคะเฮ อุชิมุระ (Kohei Uchimura) นักกีฬายิมนาสติกทีมชาติญี่ปุ่น กำลังยันตัวเพื่อยืนขึ้นหลังพลาดท่าพลัดตกจากบาร์ระหว่างปล่อยมือเหวี่ยงตัวหมุนกลางอากาศ ทำให้ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย เขาเคยคว้าเหรียญทองมาแล้ว 2 สมัยที่ลอนดอนและรีโอเดจาเนโร จึงเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ที่ยากจะยอมรับ เพราะนี่คือการแข่งขันโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเขา

คิม จองฮวาน (Kim Junghwan) นักกีฬาฟันดาบทีมชาติเกาหลีใต้ นอนชูกำปั้นประกาศชัยหลังเอาชนะคู่ต่อสู้อย่าง คามิล อิบราจิมอฟ (Kamil Ibragimov) นักกีฬาฟันดาบชาวรัสเซีย คว้าเหรียญทองแดงประเภทดาบซาเบอร์ไปครอง

หมดแรง! หลังจากทั้งสองฝ่ายพาดฟันหวดลูกขนไก่อย่างสุดพลัง ท้ายที่สุดแล้ว ไต้ จื่อ อิง (Tai Tzu-Ying) นักกีฬาแบดมินตันทีมชาติจีนไทเป มือวางอันดับหนึ่งของโลก เอาชนะ ‘เมย์’ รัชนก อินทนนท์ นักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทยไปได้ในเกมสุดท้าย

วิ่งระยะทาง 10,000 เมตร หรือ 10 กิโลเมตร เป็นการแข่งขันที่ขับเคี่ยว โหด และอันตรายมาก เพราะนักกีฬาต้องเตรียมพร้อมร่างกายมาเป็นอย่างดีเพื่อวิ่งให้ครบระยะทางภายใน 30 นาที แม้ระหว่างแข่งขันจะมีนักกีฬาขอถอนตัวไป 2 คน แต่เซเลมอน บาเรก้า (Selemon Barega) นักวิ่งลมกรดทีมชาติเอธิโอเปีย ไม่หวั่นเกรง เขาวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกทำเวลาไป 27:43:22 นาที หรือความเร็วเฉลี่ย 2 นาทีต่อกิโลเมตร

หลังชกได้ไปแค่ยกเดียว และเวลาชกยกที่สองกำลังจะหมดลงไม่กี่วินาทีข้างหน้า แต่ผู้ตัดสินกลับสั่งยุติการชก แล้วปรับให้ มูรัด อาลีเยฟ (Mourad Aliev) นักมวยทีมชาติฝรั่งเศสเป็นฝ่ายแพ้ เพราะกรรมการเห็นว่าอาลีเยฟจงใจใช้หัวโขกคู่แข่งจนเลือดตกยางออก ทำให้เขาไม่พอใจอย่างมาก ตะโกนบนเวทีว่า “คนดูรู้ว่าผมเป็นผู้ชนะ” แล้วไล่ทุบกล้องถ่ายทอดสด แม้ทุกคนทยอยเดินออกจากสนามแข่งขัน แต่เขายังคงนั่งอยู่ข้างเวทีนานเกือบครั้งชั้วโมง เพื่อประท้วงคำตัดสิน

หวัง ฉีหลิน (Wang Chi-Lin) คุกเขาลงด้วยความหายเหนื่อย ส่วน ลี ยัง (Lee Yang) นอนราบไปกับสนามด้วยความดีใจ สองนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไต้หวันสร้างประวัติศาสตร์โดยคว้าเหรียญทองจากประเภทกีฬาแบดมินตันได้เป็นครั้งแรก หลังเอาชนะทีมชาติจีนได้สำเร็จ

ฝันร้ายที่นักกีฬาว่ายน้ำทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น คือ แว่นหลุดระหว่างแข่งขัน เพราะน้ำจะทะลักเข้าตาจนมองเห็นเส้นทางข้างหน้าไม่ชัดกลายเป็นอุปสรรคที่อาจทำให้แพ้ได้ แต่แล้วฝันร้ายนี้ก็เกิดขึ้นจริงกับ ลิเดีย จาโคบี (Lydia Jacoby) นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติสหรัฐอเมริกา ในการแข่งขันว่ายน้ำผลัด 4×100 ทำให้ทีมชวดเหรียญทองไปอย่างน่าเสียดาย

แม้จะตกรอบ แต่ ออกซานา ชูโซวิตินา (Oksana Chusovitina) นักกีฬายิมนาสติกทีมชาติอุซเบกิสถานวัย 46 ปี ได้ทำหน้าที่นักกีฬาอย่างสมบูรณ์แบบ เธอเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกรวม 8 ครั้งและเป็นนักกีฬายิมนาสติกที่มีอายุมากที่สุด เมื่อเธอก้าวลงจากสนาม นักกีฬาและผู้ชมต่างลุกขึ้นยืนปรบมือเป็นเกียรติให้เธออำลาวงการ สิ่งเดียวที่เธอทิ้งไว้ คือ สถิติที่ยากจะมีใครมาทำลาย

 

อ้างอิง

  • The Tokyo Organising Committee of the Olympic and Paralympic Games. ‘United by Emotion’ The Tokyo 2020 Games Motto. https://bit.ly/3l923CY
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • nant 458
    แต่เหนือสิ่งอื่นใด ในความเป็นกีฬา และสร้างความเจ็บปวดรวดร้าวให้กับความทุ่มเทที่ต้องกลายเป็นความสูญเปล่า ไม่เว้นแม้แต่กีฬาที่ดูเผินๆก็รู้ว่าใครชนะ นั่นคือการมีกรรมการกีฬาที่ เลือกโกงมากกว่าการตัดสินอย่างยุติธรรม
    02 ส.ค. 2564 เวลา 16.13 น.
  • PJ
    ปิงปอง​ภาพผิด
    02 ส.ค. 2564 เวลา 17.32 น.
ดูทั้งหมด