ทั่วไป

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์หอ เททองหล่อพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์

กรุงเทพธุรกิจ
อัพเดต 17 พ.ค. 2565 เวลา 13.03 น. • เผยแพร่ 17 พ.ค. 2565 เวลา 12.59 น.

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ เสด็จไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์หอพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ และเททองหล่อพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ อาคารศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันนี้ (17 พ.ค.65) เวลา 15.19 น. ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เสด็จพระดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปทรงวางศิลาฤกษ์หอพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ และทรงเททองหล่อพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ณ มณฑลพิธี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ โดยมีคณะผู้บริหาร และบุคลากรราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เฝ้ารับเสด็จฯ

โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าเฝ้าถวายสูจิบัตรและกราบทูลถวายรายงานการดำเนินโครงการจัดสร้างหอพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ และพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ซึ่งทรงมีพระดำริโปรดให้จัดสร้างเป็นแห่งที่สองเพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง

ทั้งนี้ เมื่อปีพุทธศักราช 2559 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ เป็นพระพุทธรูปประจำโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อครั้งทรงเจริญพระชนมายุ 89 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา โดยประดิษฐาน ณ ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นแห่งแรก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ออกแบบตามพระวินิจฉัย โดยศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2549 สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม)

พุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบประยุกต์ร่วมสมัย ปางนาคปรกบนพระหัตถ์มีหม้อยา ในคติมหายานเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าแห่งการรักษาโรค เพื่อให้สัตว์โลกมิต้องมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ปลดเปลื้องความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทั้งโรคทางกาย ทางใจ และทางกรรม

ส่วนของหอพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ออกแบบโดยอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติประจำพุทธศักราช 2546 สาขาสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) เป็นอาคารทรงยอดที่ได้แรงบันดาลใจจากยอดจุลมงกุฎตามลักษณะที่ปรากฏในพระนามาภิไธย

พื้นที่ใต้ฝ้าเพดานตอนบนเป็นทรงโดม ตกแต่งด้วยจิตรกรรมสื่อสัญลักษณ์จักรวาลมณฑล และพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา ในลักษณะคติแบบนิกายมหายาน บริเวณฐานเสามีการแกะสลักหินเป็นรูปไก่ฟ้า

สื่อถึงปีนักษัตรแห่งพระประสูติกาล ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยหอพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ สะท้อนความหมายสำคัญและแสดงออกซึ่งศิลปสถาปัตยกรรมไทยอย่างสมสมัย

การนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์หอพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นศิลาฤกษ์

จากนั้น เสด็จไปทรงเททองหล่อพระพุทธสิรินาคเภษัชยคุรุจุฬาภรณ์ โดยจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นสถานที่ไว้เคารพสักการะบูชาของประชาชนผู้มาเข้ารับบริการ เป็นขวัญกำลังใจให้ปราศจากโรคภัยทั้งปวง

สำหรับ ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดตั้งขึ้นจากพระปณิธานอันแน่วแน่ใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่จะทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามพระราชปณิธาน

ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดสร้างอาคารส่วนต่อขยายบริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และพระราชทานนามศูนย์การแพทย์แห่งใหม่นี้ว่า “ภัทรมหาราชานุสรณ์”

อันมีความหมายว่า ที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสืบสานแนวพระราชดำริในการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย

โครงการศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จัดตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 เป็นสถาบันการแพทย์ตติยภูมิขนาดใหญ่ 400 เตียง มุ่งบูรณาการศูนย์การรักษาเฉพาะทาง อาทิ

ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษา ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ ศูนย์ส่องกล้อง ฯลฯ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยวิทยาการแพทย์ขั้นสูงอย่างครบวงจร

ตลอดจนการบริการทางการแพทย์ครบครันทั้งด้านอายุรกรรมเฉพาะทาง ศัลยกรรม สูติ-นรีเวชกรรม และกุมารเวชกรรม เพื่อเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพได้ครอบคลุมทุกโรคด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ภายในพื้นที่โครงการยังประกอบด้วย วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมทั้ง พิพิธภัณฑ์หอจดหมายเหตุ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และอาคารหอพัก ในการเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนที่จะสร้างบัณฑิตทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ

พร้อมบริการสังคมด้วยความรู้ความชำนาญ และเป็นเลิศในวิชาชีพเพื่อทุกชีวิตในสังคม โดยโครงการทั้งหมดมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จและจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม พ.ศ.2565 นี้

ดูข่าวต้นฉบับ