สำเริงคดี
ทรงวาด
จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี
จบไปแล้วสำหรับงานละครประณีตเนียน น่าชมอีกเรื่องของช่องไทยพีบีเอส (3) หลังออกอากาศมาตั้งกะวันแรกของปีนี้ มีชาติชาย เกษนัส วางโครงเรื่องและกำกับฯ ตัวละครหลักมีทั้งฝ่ายพม่าและไทย อาทิ นีน ตเว ยู ออง (ซินซิน-พระสนมมาลา) และเดาง์ (สะสะ) กับจิรายุ ตันตระกูล (ปกรณ์-บากอง) และนัฎรุจี วิศวนาถ (นุชนาฎ-ปิ่น)
ถ้าด้นเดาคำนึงคำนวณการใช้เวลาและแรงงาน (ทั้งกาย-ใจ) ในการทำละครนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนตอนจบและกองงานสลายตัว เชื่อว่าเวลาและแรงงานที่ใช้ในการค้นคว้าหาข้อมูลคงไม่น้อยกว่าครึ่งค่อนของปริมาณโมงยามในการทำงานทั้งหมดทั้งมวล
ดังปรากฏในสารคดีนำเรื่อง 2 ตอนคือ ‘โยเดียที่คิด (ไม่) ถึง’ และ ‘สายน้ำแห่งความรัก… จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี’ ที่ใครยังไม่ดูถือว่าไม่คุ้ม
เรื่องราวของเจ้าพระยาสู่อิรวดีที่ใช้ ‘เสน่หา’ มาเป็นเพลงธีม เริ่มที่นุชนาฎ (นัฎรุจี) สาวไทยคนหนึ่งไปสมัครเป็นผู้ช่วยเชฟที่โรงแรมใหญ่ ซึ่งเปิดสอนการทำอาหารด้วยในย่างกุ้ง ที่นั่นมีปกรณ์ (จิรายุ) หนุ่มไทยเป็นหัวหน้าเชฟและผู้สอนมาดโหดเพื่อกดดันให้ลูกทีมทำงานด้วยศักยภาพสูงสุดเสมอ
สองหนุ่มสาวไทยค่อยๆ ผูกพันกันลึกซึ้งขึ้นหลังร่วมทริปท่องเที่ยวและลุยหาสูตรอาหารถึงบ้านเกิดของ อู เทว ฉ่วย (โกวิท วัฒนกุล) เศรษฐีใหม่ชาวพม่าที่มาเทกโอเวอร์โรงแรมและคุกคามจะปิดโรงเรียนสอนทำอาหารเพราะครัวโรงแรมทำอาหารบ้านๆ ของพม่าอย่างโมฮิงก่าไม่ถูกใจเขาสักที ไม่ว่าจะใช้วัตถุดิบเลอเลิศและปรนปรุงให้อร่อยล้ำเพียงใด
ที่โรงแรมนี้เช่นกัน นุชนาฎยังมีเพื่อนสนิทเป็นผู้ร่วมงานชาวพม่าชื่อ ซินซิน (นีน ตเว ยู ออง) ซึ่งพาเธอไปหาซื้อหนังสือเก่าจนได้บทละครเรื่องอิเหนาฉบับภาษาพม่าพร้อมรูปแสดงท่ารำ
ทว่า หลังจากนุชนาฎลองร่ายรำตามนั้น เธอก็หมดสติไปและตื่นขึ้นในร่างของนางปิ่น สาวโยเดีย ที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าหลังเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 โดยเป็นข้ารับใช้ในราชสำนักพลัดถิ่นของเจ้าฟ้ากุณฑล (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) และเจ้าฟ้ามงกุฎ (ดวงใจ หิรัญศรี)
จากนั้นเรื่องราวของละครก็เล่าร้อยด้วยการตัดสลับ เหตุการณ์ 2 ยุคสมัย ในดินแดน 2 แม่น้ำใหญ่ไทยกับพม่า
ที่เมืองไทย ปกรณ์พานุชนาฎ กลับมารักษาโรคเนื้องอกในสมองที่ทำให้เธอหมดสติไปคราวละ 2-3 วัน เธอเล่าว่าในห้วงเวลานั้น เธอได้ย้อนยุคสู่สมัยถูกกวาดต้อนไปพม่า ปกรณ์และหมอเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งแต่ก็ให้เธอเข้ารับการรักษาทั้งทางจิตเวชและศัลยกรรมประสาทวิทยา
ส่วนที่พม่า นางปิ่นแท้งลูก (ซึ่งต่อมาจึงรู้ว่าเป็นลูกที่เกิดกับบากอง หนุ่มโยเดียซึ่งไปเป็นทหารในกองทัพพม่า) แต่ได้สะสะหรือหม่องสะ นายโรงละครหลวงพาไปรักษาพยาบาลจนหาย หม่องสะเคยเห็นหน่วยก้านการร่ายรำของนางปิ่น จึงชวนนางไปเล่นละคร ที่เขาเขียนบทจากเรื่องอิเหนาของสองเจ้าฟ้าหญิงไทย
ไฮไลต์ของละครที่ออกอากาศไปในเดือนมกราคมนั้น อยู่ที่ซีเควนซ์การแสดงละครรำแบบพม่าเรื่องอิเหนา ตอนเสี่ยงเทียนที่ทั้งวะวับหวามและรุกเร้า
ผู้เขียนซึ่งคอยมีอคติว่ารำพม่านั้นบิดเอี้ยวจนเกินองค์ยังหลุดจากอคติดังกล่าว เมื่อได้ดูการแสดงน่าประทับใจที่คงมีการปรับประยุกต์โดยทีมออกแบบนาฏศิลป์ของกองละครแล้ว
ในเรื่อง เจ้าฟ้ากุณฑลซึ่งไม่ทรงโปรดนักที่คณะละครหลวงของพม่าจะนำเรื่องอิเหนาของท่านไปเล่น ยังทรงยอมรับหลังจากทอดพระเนตรการแสดงครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ในฐานะคนดู การดับไฟแบ๊กกราวด์มืดหมด คงเหลือแสงที่โฟกัสเฉพาะตัวอิเหนา (สะสะ) และบุษบา (นางปิ่น) ยังไม่ชัดใจว่า ผู้กำกับฯ จะสื่อ ‘สาร’ ใดแน่
ระหว่างการบ่งชี้ว่า ผู้ชมหน้าพระที่นั่งพระเจ้าปดุงในเรื่องต่าง ‘อิน’ ไปกับเลิฟซีนนั้น หรือจะให้ผู้ชมทางบ้าน ‘ฟิน’ กับฉากโรแมนซ์ดังกล่าว
การเล่าเรื่องด้วยภาพโดยรวมสะสวย มีเพียงข้อสังเกตเล็กๆ เกี่ยวกับการควบคุมแสงและตัดต่อระหว่าง SHOT ที่นุชนาฎเดินนำปกรณ์ออกจากลานวัด ซึ่งเป็นแสง DAY LIGHT สว่างจ้า ทว่า SHOT ต่อมาเป็นหน้าเวทีการแสดงที่เป็นแสงกลางคืนโดยฉับพลัน
ก่อให้เกิด JUMP CUT ด้านแสง กระตุกกุกกักความรู้สึกของผู้ชม
การแสดงของตัวละครล้วนมีฝีมือ ยิ่งรู้จากสารคดีนำว่ากองถ่ายต้องเว้นวรรคพักช่วงโควิดไประยะหนึ่ง ทว่า ความต่อเนื่องทั้งการแสดงและเรื่องราวก็แทบจะไม่มีปัญหา ตัวละครหลักทั้ง 4 เล่นได้เนี้ยบเนียน นักแสดงสนับสนุนมากฝีมืออย่างโกวิทนั้น สำแดงดีทั้งในบท อู ทเว ฉ่วย และพระเจ้าปดุง
ไม่ต้องพูดถึงเพ็ญพักตร์ในบทถือตัว เข้มงวด ในบทเจ้าฟ้ากุณฑล ซึ่งแตกต่างอย่างนวลๆ กับดวงใจในบทเจ้าฟ้ามงกุฎ ผู้เปิดกว้าง ยอมรับสิ่งใหม่ได้
ถ้าไทยพีบีเอส ทำละครประณีตอย่างจากเจ้าพระยาฯ หรือปลายจวักออกมาได้สม่ำเสมอ ทีวีซีรีส์ไทยก็จะโกอินเตอร์ฯ ไปไกลได้ไม่แพ้ซีรีส์ดังๆ จาก NHK ของญี่ปุ่นเลย