การเมือง

โฆษกกลาโหม แจง GT200 ต้องแกะพิสูจน์ รักษาผลประโยชน์ชาติ

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 04 มิ.ย. 2565 เวลา 12.50 น. • เผยแพร่ 04 มิ.ย. 2565 เวลา 12.50 น.
พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม

โฆษกกลาโหม ชี้แจงเหตุต้องแกะพิสูจน์ GT200 เป็นคำแนะนำจากอัยการสูงสุด ชี้รักษาผลประโยชน์ประเทศชาติ

วันที่ 4 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหม ที่ใช้งบ 7.5 ล้านบาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ล่าสุด พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ได้ทราบเรื่องจากกองทัพบก ที่ตั้งงบประมาณไว้ เนื่องจากเป็นไปตามคดีอาญา ที่กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขายกับพวกรวม 5 คน ต่อศาลฐานร่วมโกง และศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินชี้มูลมาแล้วว่า จำเลยมีความผิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

แต่ขณะเดียวกันคดีในทางปกครอง กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย โดยศาลปกครองกลางได้สั่งให้ต้องชำระหนี้กับกองทัพบก เป็นเงินกว่า 683,000,000 บาท แต่เมื่อต่อมา ทางบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า การตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง เป็นสาระสำคัญของคดี จึงมีความจำเป็นให้กองทัพบกตรวจสอบทุกเครื่องว่าใช้งานได้หรือไม่

ทั้งนี้ ให้ตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบ ทั้งการวัดวัตถุไฟฟ้าสถิต การแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง การวิเคราะห์ผลรวมถึงการผ่าพิสูจน์ตัวเครื่อง กองทัพบกจึงได้ดำเนินการจ้างไปที่ สวทช. ตามที่เสนอราคามาโดยในปี 2564 ใช้งบประมาณประมาณ 3.2 ล้านบาท และในปี 2565 อีก 4.37 ล้านบาท ก็ได้ทยอยตรวจสอบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พล.อ.คงชีพ กล่าวอีกว่า ทั้งหมดดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้ ไม่ให้เสียหายในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายการเมือง มองว่าไม่จำเป็นต้องตรวจสอบเพราะไม่มีประโยชน์ พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า เรื่องนี้หากเราจะต้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นเช่นนี้ เราก็ต้องดำเนินการ เพราะสาระสำคัญของคดี คือต้องตรวจเครื่องว่าไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ดังนั้นการที่เราจะได้เงินค่าเสียหาย เราจึงต้องทำตามขั้นตอน ตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

ดูข่าวต้นฉบับ